ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตำนานชีวิตคนขายเสียง “โต๊ะ - ติ่ง - เกรียง” ทีมนักพากย์พันธมิตร

ไลฟ์สไตล์
17 ธ.ค. 67
12:13
51
Logo Thai PBS
ตำนานชีวิตคนขายเสียง “โต๊ะ - ติ่ง - เกรียง” ทีมนักพากย์พันธมิตร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“ให้เสียงภาษาไทยโดย พันธมิตร” ประโยคคุ้นหูก่อนที่ภาพพยนต์ต่างประเทศหลาย ๆ เรื่องจะเริ่มฉาย และนำไปสู่เรื่องราวในแต่ละบทบาทของตัวละคร ผ่านการให้เสียงของดรีมทีมนักพากย์พันธมิตร พร้อมมีมุขตลกสอดแทรกอยู่ในเรื่อง เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะต่อผู้ชม นับครั้งไม่ถ้วน ที่ทีมนักพากย์กลุ่มนี้ ได้รับใช้ผู้ชมมาอย่างยาวนานถึง 33 ปี

นับเป็นเรื่องไม่คาดคิดเมื่อ หรือ โต๊ะ ผู้ก่อตั้งทีมพากย์พันธมิตร ประกาศจะยุบทีมพากย์พันธมิตร เพื่อให้เป็นตำนานมีชีวิตที่หลายคนยังจดจำ และเชื่อว่าจะเป็นความทรงจำที่ดีให้กับหลาย ๆ คน โดยช่วงสงกรานต์ปีหน้า หรือปี 2568 ทีมพากย์ดังกล่าวจะประกาศอำลาวงการอย่างเป็นทางการ

รายการ “คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น” นัดคุยกับดรีมทีม 3 นักพากย์หลัก “โต๊ะ” ปริภัณฑ์ วัชรานนท์ , “เกรียง” เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง ,และ“ติ่ง” สุภาพ ไชยวิสุทธิกุล ถึงเส้นทางชีวิตของแต่ละคนกว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นนักพากย์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย

“โต๊ะ”  ปริภัณฑ์  วัชรานนท์

“โต๊ะ” ปริภัณฑ์ วัชรานนท์

“โต๊ะ” ปริภัณฑ์ วัชรานนท์

ประเดิมคนแรก “โต๊ะ” ในวัย 64 ปี ตำนานเสียงพากย์คุ้นหูประจำตัวนักแสดงดัง อย่าง เฉินหลง , โจวชิงฉือ , หลิวเต๋อหัว ย้อนภาพความอยากเป็นนักพากย์ตั้งแต่เริ่มจำความได้ โดยพื้นเพเป็นคน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และชอบดูหนังทุกโรงในหาดใหญ่ รักและประทับใจในเสียงและการพากย์ของ “กรรณิการ์ อมรา” และ “ชัยเจริญ ดวงพัตรา” นักพากย์รุ่นครูที่ถือเป็นแบบฉบับการพากย์ที่ดีที่สุดของเมืองไทย และกลายเป็นต้นแบบของเขา

“วันหนึ่งโอกาสก็มาถึง ตอนช่วงอายุ 17-18 ปี ได้รับมอบหมายให้พากย์หนังกลางแปลงครั้งแรกในชีวิต ที่อ่าวลึก จ.กระบี่ เป็นหนังอินเดียชื่อเรื่อง “สายน้ำวิปโยค” เราไม่เคยฝึกซ้อม มาก่อน จึงทำให้ตื่นเวที บทพากย์จบก่อนหนัง เรียกได้ว่าพากย์ไม่ดี จึงถูกกระป๋องกาแฟขว้างโดนหัว ตอนนั้น ต้องพากย์ไป ร้องไห้ไป กลายเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ฝึกฝนและพัฒนาตัวเองมาเรื่อย ๆ”

ไม่ต่างกันกับ “เกรียง” ในวัย 71 ปี เจ้าของเสียงพากย์ตัวละครชื่อดังที่ได้ยินกันคุ้นหู คือ อู๋ม่งต๊ะ, แซมมวล แอล แจ็คสัน , เฉิน ขุ้ยอัน และ มอร์แกน ฟรีแมน จากความชอบที่อยากจะเป็นนักพากย์ ทำให้ชีวิตวนเวียนอยู่แถวโรงหนังเฉลิมกรุง และมีโอกาสแบบจับพลัดจับผลู เมื่อเจ้าของจอหนังกลางแปลงขาดนักพากย์ ทั้ง ๆ ที่ เป็นหนังฝรั่งเรื่อง “ป้อมปืนนาวาโรน” ซึ่งมีการโปรโมทอย่างยิ่งใหญ่ คนซื้อตั๋วเข้าไปดู 300-400 คน ระหว่างนั่งรถไป จ.นครปฐม ซึ่งเป็นสถานที่ฉายหนัง ก็นั่งท่องบทไปตลอดทาง แต่เมื่อหน้างานจริงกลับเกิดอาการประหม่า พากย์แบบลุ่มๆ ดอน ๆ

 เกรียงศักดิ์  เหรียญทอง

เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง

เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง

“บทจบก่อนหนังใช่ไหม” ( เสียงของ “โต๊ะ” ที่พูดออกมาพร้อมกับเสียงหัวเราะ) ขณะที่ “เกรียง” ตอบทันทีว่า “ใช่” พร้อมกับหัวเราะดัง ๆ ) จนคนดูเริ่มทยอยออกจากโรงหนังไปทีละคนจนเหลือแค่คนเดียว นั้นกลายเป็นประสบการณ์ที่มีค่าทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ

ส่วน “ติ่ง” ในวัย 62 ปี ผู้สามารถพากย์ได้ทั้งบทพระเอก บทขรึม ตัวโกง หรือแม้แต่ตัวตลก เจ้าของเสียง วิน ดีเซล ,หลิว ชิงยฺหวิน, เจมี่ ฟ็อกซ์ และ ชิกวนชุน ย้อนจุดเริ่มต้นที่มีความคล้ายกันกับทั้งสองคน

“ติ่ง”  สุภาพ  ไชยวิสุทธิกุล

“ติ่ง” สุภาพ ไชยวิสุทธิกุล

“ติ่ง” สุภาพ ไชยวิสุทธิกุล

“ครั้งแรกของการพากย์หนัง เป็นหนังจีน พากย์ไปพากย์มาหนังอยู่ม้วน 3 แต่บทหมดแล้ว คนดูก็โห่ เจ้าของโรงหนังเขาก็ทนไม่ไหว ก็เลยมาบอกให้ใส่ม้วนสุดท้ายให้เลย เพราะม้วนสุดท้ายหนังจีนสู้กันจะพูดน้อย ประสบการณ์ครั้งแรกก็ถือว่ารอดตายแบบฉิวเฉียด แต่ได้กลายเป็นคุณค่าที่สร้างประสบการณ์ให้อย่างมาก”

เปิดจุดเริ่มต้น “ทีมพากย์พันธมิตร”

ในฐานะนักพากย์อิสระทุกคนจะมีงานประจำกันอยู่แล้ว ต่อมาวันหนึ่งที่ “โต๊ะ ปริภัณฑ์” รับงานจากบริษัทใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น สหมงคลฟิล์ม โคเรียทาวน์ฟิล์ม จึงต้องตั้งทีมพากย์ขึ้นมา “การจะเอาคนที่เก่ง ๆ มารวมกัน ต้องมีกุศโลบาย เราจะไม่มีศัตรูนะ เราจะเป็นพันธมิตรกับทุกคน หนังเรื่องนี้เหมาะกับคุณนะ คุณมาลงให้เราหน่อย” ส่วนใครจะพากย์เป็นตัวแสดงไหน แรก ๆ “โต๊ะ พันธมิตร” จะเป็นผู้กำหนดตามความเหมาะสม จะมี 3 คนนี้เป็นตัวหลัก ส่วนคนอื่น ๆ ก็จะวน ๆ กันไป เพราะในแต่ละเรื่องต้องมีคนพากย์หลายคน

“ทุกคนจะรู้ว่า เราอยู่ในทีมเดียวกัน ต้องให้เกียรติกัน เมื่อก่อน ถ้าต้องมีแก้บทในระหว่างที่พากย์ ก็ขอโทษ แล้วก็ช่วยกันเสริมเติมกันเข้าไปให้เหมาะสม วันนี้คุณเหนื่อยเพราะหนังชั่วโมงครึ่ง แต่ต้องพากย์กันสามสี่ชั่วโมง แต่พอมันถูกบันทึกลงในฟิล์ม อีก 10 ปี มาดู คุณจะไม่เสียใจ”

 กระจาย “มุกตลก” สร้างพื้นที่จดจำ 

“มุกตลกที่คิดขึ้นเพื่อให้คล้อยตามกับหนัง เกิดจากที่เป็นคนที่ชอบดูหนัง แล้วพวกเราก็ไปจำลีลานักพากย์รุ่นใหญ่ พากย์แล้วคนดูขำ ทำให้เราทราบว่าตรงนี้ คือ มุกตลก มุกที่หามาได้ก็เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นในปัจจุบัน แล้วต้องเป็นมุกที่พูดไปแล้วคนต้องรู้จัก ที่สำคัญต้องเข้ากับบริบทของหนังเรื่องนั้นด้วย”

“โต๊ะ พันธมิตร” บอกว่า ตัวเองจะเขียนไว้หน้าบทเลยว่าจะเล่นกี่มุก เพื่อหาทางยัดใส่ไปให้ได้โดยที่ไม่ดูเป็นการจงใจเกินไป เวลาซ้อมหนังใครมีมุกพูดออกมาเลย และต้องเข้าขากัน เมื่อก่อนมุกที่ใช้พากย์เป็นปีก็ยังมีความตลก แต่ปัจจุบันอายุมุก สั้นลง เพียงข้ามวันก็มีมุกใหม่มา ดังนั้น จึงเลือกไม่ใส่เข้าไปเป็นการพากย์ตามหน้าหนังปกติ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่เราสามารถทำให้ทุกคนรู้จักทีมพากย์พันธมิตร ทั้งที่มีทีมใหญ่อยู่รอบข้าง เพราะเราใช้วิธีแทงมุกที่ทีมใหญ่ไม่กล้าเล่น”

หากเป็นสมัยก่อนการพากย์หนังจะพากย์เป็นชิ้น ชิ้นละ 10 นาที ถ้าคนหนึ่งพากย์ผิดจะต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด ต่างจากการพากย์ยุคปัจจุบัน มีเทคโนโลยีทันสมัยขึ้น สามารถย้อนกลับมาแก้ไขจุดที่ผิดได้ โดยไม่ต้องพากย์ใหม่ และยังมีช่องทางการฉายหนังมากขึ้น ทำให้นักพากย์รุ่นใหม่มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถฝึกฝนตัวเองมากขึ้น ต่างจากสมัยก่อนที่จะมีแค่โรงหนัง กับโทรทัศน์

“แต่” ก็ต้องยอมรับว่า นักพากย์เกิดขึ้นเยอะมาก หลากหลายจนจับต้องไม่ได้ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ดังนั้นการจะสร้างความโดดเด่นขึ้นมา ก็ต้องอาศัยเวลา มีสไตล์เป็นของตัวเองที่น่าจดจำ

โต๊ะ เล่าว่า เมื่อก่อนจุดศูนย์รวมของคนอยู่ที่โรงหนัง แล้วโรงหนังเมื่อ 30 ปีที่แล้ว หนังที่ฉาย 10 เรื่อง พันธมิตรจะได้พากย์ 8 - 9 เรื่อง ทำให้ติดหูคน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเมื่อ 30 ปี ...เราโชคดีช่วงเข้ามา แผ่นซีดี ดีวีดี กำลังเกิดขึ้นเยอะมาก โชคดีมากที่อยู่ในยุคนั้น จนทำให้เป็นที่รู้จักมาถึงปัจจุบัน”

“ต้นปีหน้าจะระดมทีมพากย์พันธมิตรทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อพากย์หนังใหญ่สักหนึ่งเรื่อง ถือเป็นการพากย์เรื่องสุดท้ายก่อนที่ทีมพากย์พันธมิตรจะประกาศปิดตัว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568”

พบกับ: รายการคุยนอกกรอบกับสุทธิชัย หยุ่น ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.

เบื้องหลังมุกตลกของ “ทีมพากย์พันธมิตร”

อ่านข่าว:

เจาะตำนาน "คนขายเสียง" เบื้องหลัง "นักพากย์พันธมิตร"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง