วันนี้ (13 ธ.ค.2567) น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากกระทรวงการคลัง กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" เพื่อแก้หนี้ จำนวน 2.1 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านคน และมียอดหนี้รวมประมาณ 890,000 แสนล้านบาท
โดยเปิดใหลงทะเบียนวันแรกเมื่อ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจากการดำเนินมาตรการดังกล่าว จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ลดลงมากว่า 10%
ขณะนี้มีประชาชนเข้ามาลงทะเบียนโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" จำนวนมาก อาจทำให้การเข้าใช้บริการสายด่วน 1213 ธปท.และระบบลงทะเบียนมีความล่าช้า แต่ประชาชนเข้าลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านข่าว เปิดลงทะเบียนแก้หนี้ 12 ธ.ค. ช่วยลูกหนี้ 1.9 ล้านราย ยอดหนี้ 8.9 แสนล้าน
เช็กขั้นตอนการลงทะเบียน "คุณสู้ เราช่วย"
- ตรวจสอบรายละเอียด: เข้าไปที่เว็บไซต์ www.bot.or.th/khunsoo และตรวจสอบคุณสมบัติ รวมถึงเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ
- สมัครใช้งานด้วยระบบอีเมล หรือ ThaiID โดยสแกน QR บนแอปพลิเคชัน ThaiID เพื่อยืนยันตัวตน
- กรอกข้อมูลการลงทะเบียน: ใส่ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ และอีเมล
- ส่งคำขอแก้หนี้ โดยเลือก ผู้ให้บริการที่ต้องการเข้าร่วม และผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเข้าร่วม หากมีผู้ให้บริการหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเข้าร่วมมากกว่า 1 แห่ง หรือ ประเภท สามารถกดเพิ่มได้
- ยืนยันการลงทะเบียน: เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วน ให้ลูกหนี้เก็บหมายเลขคำร้องไว้ ระบบจะแสดงหมายเลขคำร้องให้เก็บไว้เพื่อติดตามสถานะ
โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถจัดการภาระหนี้ได้อย่างยั่งยืน โดยลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 28 ก.พ.2568
ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนทุกคน ที่ลงทะเบียนในระยะเวลาดังกล่าว และมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขจะได้รับสิทธิ์เท่ากันทุกคน โดยสถาบันการเงินจะเริ่มติดต่อกลับตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2568 และสามารถตรวจสอบสถานะคำร้องผ่าน เว็บไซต์ www.bot.or.th/khunsoo หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสายด่วนธนาคารแห่งประเทศไทยที่เบอร์ 1213 สำหรับเงื่อนไขเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้มีดังนี้
มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์
เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินหนี้ไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและลดภาระดอกเบี้ย โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้น รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ
- ลดค่างวดเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยลูกหนี้ชำระค่างวดขั้นต่ำที่ 50% 70% และ 90% ของค่างวดเดิม ในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ตามลำดับ ซึ่งค่างวดทั้งหมดจะนำไปตัดเงินต้น
- พักดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับยกเว้นทั้งหมด หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขได้ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีที่อยู่ภายใต้มาตรการ
ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถชำระมากกว่าค่างวดขั้นต่ำที่กำหนดไว้ได้ เพื่อตัดเงินต้นเพิ่มและปิดจบหนี้ได้ไวขึ้น โดยคุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ มีวงเงินสินเชื่อรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกินที่กำหนด โดยพิจารณาแยกวงเงินตามประเภทสินเชื่อต่อสถาบันการเงิน ดังนี้
- สินเชื่อบ้าน บ้านแลกเงิน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
- สินเชื่อเช่าซื้อ จำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 800,000 บาท
- สินเชื่อเช่าซื้อ จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท
- สินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
ส่วนกรณีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต หากมีหนี้บ้านหรือรถที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น สามารถพิจารณาเข้ามาตรการรวมหนี้ได้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินรับได้ โดยวงเงินเมื่อรวมแล้วไม่เกินเงื่อนไขที่กำหนด
- เป็นสินเชื่อที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 1 ม.ค.2567
- มีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ต.ค.2567 อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน
- เป็นหนี้ที่ไม่ค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน แต่เคยมีประวัติการค้างชำระเกิน 30 วัน และได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565
มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ”
รูปแบบการช่วยเหลือ ปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรนและชำระหนี้ปิดบัญชีได้เร็วขึ้น หนี้ที่เข้าร่วมได้ : สินเชื่อทุกประเภท (ทั้งมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน)
ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการได้ : ลูกหนี้บุคคลที่มียอดหนี้ (รวมดอกเบี้ย) ไม่เกิน 5,000 บาทต่อบัญชี มีสถานะบัญชี ณ วันที่ 31 ต.ค.67 ค้างชำระเกิน 90 วันโดยคุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการ
- ลูกหนี้บุคคลธรรมดา ที่มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (NPL) ณ วันที่ 31 ต.ค.2567
- มีภาระหนี้ต่อบัญชี ไม่เกิน 5,000 บาท โดยไม่จำกัดประเภทสินเชื่อ (สามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี)
ในระยะต่อไป ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-Bank อื่น ๆ จะมีความช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไป ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการศึกษารายละเอียดของมาตรการ www.bot.or.th ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.2567 ถึงวันที่ 28 ก.พ.2568
อ่านข่าวอื่นๆ
เช็กจุดเสี่ยง-วิธีเอาตัวรอดช้างป่าภูกระดึงตกมัน
"ภรรยา สจ.โต้ง" ยื่นกองปราบขอโอนคดี-คุ้มครองพยาน