ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กองทุน SSF และ RMF ต่างกันอย่างไร เช็กเงื่อนไข ลดหย่อนภาษี

เศรษฐกิจ
13 ธ.ค. 67
18:50
3,468
Logo Thai PBS
กองทุน SSF และ RMF ต่างกันอย่างไร เช็กเงื่อนไข ลดหย่อนภาษี

เตรียมตัวให้พร้อมยื่นแบบ "ภาษีบุคคลธรรมดา 2567" ในช่วงเดือน มกราคม - มีนาคม 2568 ตามหน้าที่ของคนไทยที่มีรายได้ เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศและสร้างความเท่าเทียมในสังคม 

ในการยื่นภาษีสามารถยื่นได้ด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรใกล้บ้าน ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร และยังสามารถกรอกใบ ภ.ง.ด. ให้หน่วยงานบริษัทที่สังกัดยื่นให้ได้ด้วย

อ่านข่าว : ไขทุกข้อสงสัย! ใคร-เอกสารอะไร ที่ต้องใช้เสีย "ภาษี 2567"

ในปีนี้ หากใครวางแผนอยากลงทุนระยะยาวเพื่ออนาคต หรือมีเงินในยามเกษียณ แต่ก็ต้องการวางแผนประหยัดภาษีในแต่ละปี จึงไม่ควรพลาดมารู้จัก กองทุน RMF การลงทุนเพื่อเกษียณ และการออมระยะยาวกับกองทุน SSF ที่จะมาช่วยในเรื่องการออม และยังได้รับสิทธิประโยชน์ทงภาษีด้วย วันนี้ชวนมาสำรวจเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีของทั้ง 2 กองทุน เหมือนหรือต่างกันตรงไหน แบบไหนตอบโจทย์ของแต่ละคน  

กองทุน SSF กับ RMF เหมือนหรือต่างกัน อย่างไร 

การเลือกระหว่างกองทุน SSF และ RMF เพื่อใช้ลดหย่อนภาษี ซึ่งขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางการเงินและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับแต่ละคน ซึ่งมี "ข้อดี" - "เงื่อนไข" แตกต่างกัน 

กองทุน SSF หรือ Super Savings Fund หรือ "กองทุนรวมเพื่อการออม" เป็นกองทุนที่ออกมาเพื่อส่งเสริมให้มีการออมแบบผูกพันระยะยาว สร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคต

  • เงินลงทุนใน SSF สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท 
  • ไม่ต้องลงทุนทุกปี ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ 
  • ต้องถือจริงไม่น้อยกว่า 10 ปี นับแบบวันชนวัน 
  • ปีที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ใช้สิทธิได้ในปีที่ลงทุน เริ่มปี 2563 -2567

ปี 2567 เป็นปีสุดท้าย ที่สามารถนำเงินที่ซื้อกองทุน SSF มาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ จากที่เริ่มใช้สิทธิได้มาตั้งแต่ปี 2563

อ่านข่าว : โยนหินถามทาง "ปรับ VAT 15%" รีดภาษีประชาชน ทางตันรัฐบาล

กองทุน RMF หรือ Retirement Mutual Fund หรือ "กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ" เป็นกองทุนที่ออกมาเพื่อสนับสนุนการออมเงินไว้สำหรับใช้จ่ายยามเกษียณ   

  • เงินลงทุนใน RMF สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี 
  • ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ แต่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี โดยนับต่อเนื่องเฉพาะปีที่ซื้อเท่านั้น 
  • ถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก และขายได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ 
  • ปีที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ใช้สิทธิตามเกณฑ์ใหม่ได้ในปีที่ลงทุน เริ่มปี 2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ สิทธิการลดหย่อนภาษี SSF และ RMF นั้น เมื่อรวมกับการออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ จะลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท (SSF+RMF+กอช.+PVD/กบข./กองทุนสงเคราะห์ครู+ประกันบำนาญ = ไม่เกิน 500,000 บาท)

ในการลงทุนก็มีข้อควรระวัง นั้นคือ ผู้ลงทุนไม่ควรลงทุนเกินสิทธิของตน เพราะอาจก่อให้เกิดการผิดเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษี 

เมื่อเข้าใจความแตกต่างของกองทุน SSF และ RMF ที่จะใช้ในการลดหย่อนภาษีแล้ว มาดูกันว่า จะเลือกการลงทุนแบบไหนถึง จะตรงกับความต้องการและเป้าหมายลงทุนของแต่ละคน 

อ่านข่าว : ยื่นภาษี 2567 ให้คุ้ม! วิธีใช้ "ค่าลดหย่อน" ให้เต็มสิทธิ์

กองทุน SSF และ RMF เหมาะกับใคร 

กองทุน SSF เหมาะกับใคร

  • ผู้ที่มีเงินได้ และต้องการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี 
  • ผู้ที่ต้องการออมเงินระยะยาว 10 ปีขึ้นไป 
  • ผู้ที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้และต้องการจัดพอร์ตหรือกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท
  • ผู้ที่เข้าใจและยอมรับเงื่อนไขต่าง ๆ ของ SSF

กองทุน RMF เหมาะกับใคร

  • ผู้ที่มีเงินได้ และต้องการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี 
  • ผู้ที่ต้องการออมเงินระยะยาว ไว้ใช้ยามเกษียณ
  • ผู้ที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้และต้องการจัดพอร์ตหรือกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท
  • ผู้ที่เข้าใจและยอมรับเงื่อนไขต่าง ๆ ของ RMF
  • ผู้ที่ไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณมารองรับ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นต้น  

เลือกลงทุนอะไรดี ระหว่าง SSF และ RMF

กองทุน SSF และ RMF แตกต่างกันในเรื่องระยะเวลาถือครอง ซึ่งหากผู้ลงทุนอายุยังไม่มาก กองทุน SSF เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ มากกว่า RMF เพราะระยะเวลาการถือครองสั้นกว่า แถมไม่ติดเงื่อนไขที่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี แต่หากเมื่ออายุมากขึ้น อายุมากกว่า 45 ปี ขึ้นไป อาจต้องพิจารณาการเลือกซื้อกองทุนระหว่าง SSF และ RMF เนื่องจากกองทุน SSF ต้องถือครอง 10 ปี จะทำให้สามารถเริ่มขายคืนได้ตอนอายุมาก เช่น ผู้ที่อายุ 50 ปี หากซื้อกองทุน SSF จะเริ่มขายคืนได้เมื่ออายุ 60 ปี แต่หากซื้อกองทุน RMF จะสามารถขายคืนได้ ตั้งแต่ตอนอายุ 55 ปี

ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป กรมสรรพากรได้กำหนดให้ผู้ลงทุนที่ซื้อ RMF และ SSF ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ต้องแจ้งความประสงค์ ไปยัง บลจ. ที่ซื้อหน่วยลงทุนให้ครบทุกแห่ง ภายในวันทำการสุดท้ายของปี เพื่อให้ บลจ. นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรโดยตรงแทนการที่ผู้ลงทุนยื่นเอกสารเอง โดยผู้ลงทุนแจ้งเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องแจ้งทุกปี หากไม่แจ้งความประสงค์อาจใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่ได้

อ้างอิงข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย - SET

อ่านข่าว : "แอ่วเหนือคนละครึ่ง" ใช้สิทธิ์ทะลุเป้า-หวังเพิ่มมาตรการท่องเที่ยว

ถอดมหากาพย์คดีโกงหุ้น STARK บทเรียน "เขย่า" ตลาดทุนไทย

“ไทย” มิตรแท้ทุกประเทศ “สหรัฐฯ” ขุมทรัพย์ ขยายส่งออกไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง