เตรียมความพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 ที่จะต้องยื่นในช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2568 และยื่นภาษีทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร ถึงต้นเดือนเมษายน
- กองทุน SSF และ RMF ต่างกันอย่างไร เช็กเงื่อนไข ลดหย่อนภาษี
- ยื่นภาษี 2567 ให้คุ้ม! วิธีใช้ "ค่าลดหย่อน" ให้เต็มสิทธิ์
ใครบ้างต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ?
1.บุคคลธรรมดา
- บุคคลทุกคนเมื่อมีเงินได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด มีหน้าที่ยื่นแบบและเสียภาษีเงินได้ทุกคน
- ผู้มีเงินได้เป็นผู้เยาว์ ผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ มีเงินได้ ให้เป็นหน้าที่ของผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ เป็นตัวแทนในการยื่นแบบเกี่ยวกับเงินได้ที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว
2.ผู้ถึงแก่ความตาย ในปีที่ถึงแก่ความตาย ผู้มีเงินได้ที่ถึงแก่ความตาย ยังคงมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ โดยให้ผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกยื่นแบบแทนผู้ถึงแก่ความตาย
ส่วนปีต่อไป หากมีเงินได้จากกองทรัพย์สินของผู้ตายที่ยังไม่ได้แบ่งให้ทายาท ต้องเสียภาษีในนามของกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง โดยให้ผู้จัดการมรดก ทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดก แล้วแต่กรณีเป็นผู้ยื่นแบบแทน
3.กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ทรัพย์สินในกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งก่อให้เกิดเงินได้ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในปีถัดจากปีภาษีที่ผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตายในนามกองมรดกของผู้ตาย โดยให้ผู้จัดการมรดก หรือทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณี มีหน้าที่ยื่นแบบเสียภาษี
อ่านข่าว : เช็กเงื่อนไข Easy E-Receipt 2.0 ชอปสินค้าอะไรลดหย่อนภาษี 2568
4.ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หากห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล มีเงินได้ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 60,000 บาท ให้ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการ ยื่นแบบและชำระภาษีเกี่ยวกับเงินได้ที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วในชื่อของห้างหุ้นส่วนนั้น
5.คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หากคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล มีเงินได้ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 60,000 บาท ให้ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการ ยื่นแบบและชำระภาษีเกี่ยวกับเงินได้ที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วในชื่อของคณะบุคคลนั้น
6.วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล
ที่มิใช่นิติบุคคล มีเงินได้ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 60,000 บาท ต้องยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นั้นพร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.94
ผู้มีเงินได้ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร และ เมื่อใด ?
- ภ.ง.ด. 90 มีเงินได้พึงประเมินทุกประเภท กำหนดเวลายื่น มกราคม - มีนาคม ของปีภาษีถัดไป
- ภ.ง.ด. 91 ใช้ยื่นกรณี มีเฉพาะเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 ม.40(1) ประเภทเดียว กำหนดเวลายื่น มกราคม - มีนาคม ของปีภาษีถัดไป
- ภ.ง.ด. 93 ใช้ยื่นกรณี มีเงินได้ขอชำระภาษีล่วงหน้า กำหนดเวลายื่น ก่อนถึงกำหนดเวลาการยื่นแบบตามปกติ
- ภ.ง.ด. 94 ใช้ยื่นกรณี ยื่นครึ่งปีสำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินเฉพาะประเภทที่ 5,6,7 และ 8 กำหนดเวลายื่น กรกฎาคม - กันยายน ของปีภาษีนั้น
- ภ.ง.ด. 95 ใช้ยื่นกรณี คนต่างด้าวผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานจากสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค กำหนดเวลายื่น มกราคม - มีนาคม ของปีภาษีถัดไป
การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามี 2 ระยะ คือ
1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี เป็นการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้เฉพาะเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5,6,7 หรือ 8 ที่ได้รับตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. ไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นรวมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยยื่นภายในเดือน ก.ย.ของปีภาษีนั้น และภาษีที่เสียนี้นำไปเป็นเครดิตหักออกจากภาษีสิ้นปีได้
2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี เป็นการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้พึงประเมินที่ได้รับแล้ว ในระหว่างปีภาษี โดยยื่นภายในเดือน มี.ค. ของปีถัดไป
เตรียมตัวยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90/91 ภาษี 2567
การยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90, ภ.ง.ด.91 ผ่านอินเทอร์เน็ต ขั้นตอนการยื่นแบบฯ
- เข้า website ของกรมสรรพากรที่ www.rd.go.th
- เลือกรายการ e-FILING
- เข้าใช้บริการครั้งแรก ให้เลือกรายการสมัครใช้บริการ
- หลังจากนั้น เข้าระบบตามขั้นตอน ดังนี้
- เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน (Password)
- เลือกเมนู "ยื่นแบบ"
- เลือกแบบภาษีที่ต้องการยื่นภาษี
- บันทึกข้อมูลแบบ หรือ อัปโหลดไฟล์ข้อมูลแบบ
- ยืนยันการยื่นแบบ
- แสดงผลการยื่นแบบ หมายเหตุ : ระบบจะส่งผลการยื่นแบบไปที่อีเมลที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้
- ชำระภาษี (กรณีมีภาษีที่ต้องชำระ)
- ป้อนรายการข้อมูล ได้แก่ รายการเงินได้ ค่าลดหย่อน เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ฯลฯ แล้ว คลิก "ตกลง" เพื่อยืนยันการยื่นแบบฯ
- เมื่อได้ตรวจสอบรายการข้อมูลที่บันทึกและสั่งให้ระบบ "คำนวณภาษีแล้ว"
- กรณีไม่มีภาษีต้องชำระ
- โปรแกรมจะแจ้งผลการรับแบบและหมายเลขอ้างอิง เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นแบบฯ
- กรมสรรพากรจะส่งใบเสร็จรับเงินทันที
- กรณีมีภาษีต้องชำระ
- หากเลือกวิธีชำระภาษีผ่าน e-payment ระบุธนาคารที่ท่านใช้บริการอยู่ และดำเนินการตามขั้นตอนของ ธนาคารนั้น
- หากเลือกวิธีชำระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการชำระภาษีจะถูกส่งจากกรมสรรพากรไปยังธนาคารโดยตรง เมื่อผู้เสียภาษียืนยันการทำรายการของระบบชำระเงินของธนาคารแล้ว ธนาคารจะแจ้งผลการทำรายการ เช่น ผลการโอนเงิน การยกเลิกการทำรายการ เป็นต้น ส่งให้กรมสรรพากรแบบทันทีทันใด (Real Time)
- หากเลือกวิธีชำระภาษี ณ เคาน์เตอร์ ไปรษณีย์อัตโนมัติ (Pay at Post) ระบบจะแจ้งรายการข้อมูลเช่นเดียวกับ (2) เพื่อใช้เป็นข้อมูลนำไปชำระภาษี ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่ง (ยกเว้น ปณ.โสกเชือก จ. ร้อยเอ็ด และ ปณ.ชุมแสงสงคราม จ.พิษณุโลก
- กรณีไม่มีภาษีต้องชำระ
เงินเดือนเท่าไหร่ถึงเสียภาษี ?
เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำ (ต่อปี) ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 เป็นต้นไป
- ยื่นภาษีด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากร แบบกระดาษ ยื่นได้จนถึงวันที่ 31 มี.ค.2568
- ยื่นภาษีเงินได้ ผ่านเว็บไซต์ www.rd.go.th แบบออนไลน์ ยื่นได้จนถึงวันที่ 8 เม.ย.2568
สำหรับคนโสด
- มีเงินได้เงินเดือนประเภทเดียว เกิน 120,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91)
- มีเงินได้ประเภทอื่นนอกจากเงินเดือน เกิน 60,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90)
สำหรับผู้ที่มีคู่สมรส
- มีเงินได้เงินเดือนประเภทเดียว ไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกัน เกิน 220,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91)
- มีเงินได้ประเภทอื่นนอกจากเงินเดือน ไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกัน เกิน 120,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90)
สำหรับกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง มีเงินได้เกิน 60,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90)
สำหรับคณะบุคคล/ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มิใช่นิติบุคคล/วิสาหกิจชุมชน มีเงินได้เกิน 60,000 บาท (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90)
อัตราภาษีแบบขั้นบันได
รายได้สุทธิ (หลังหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อน) จะถูกคำนวณภาษีตามอัตรานี้
- 0 บาท – 150,000 บาท : ยกเว้นภาษี
- 150,001 บาท – 300,000 บาท : ร้อยละ 5
- 300,001 บาท – 500,000 บาท : ร้อยละ 10
- 500,001 บาท – 750,000 บาท : ร้อยละ 15
- 750,001 บาท – 1,000,000 บาท : ร้อยละ 20
- 1,000,001 บาท – 2,000,000 บาท : ร้อยละ 25
- 2,000,001 บาท – 5,000,000 บาท : ร้อยละ 30
- เกิน 5,000,000 บาท : ร้อยละ 35
ชำระภาษีไม่ทันเวลา ต้องทำอย่างไร ?
"เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม" ถือเป็นบทลงโทษเกี่ยวกับภาษีอากรอย่างหนึ่ง และอาจมีโทษทางอาญาด้วย แล้วแต่ความผิดว่าเป็นเรื่องร้ายแรงขั้นไหน โดยหากบุคคลใดยื่นแบบฯ ภายในกำหนดแต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน ล่าช้า ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการยื่นแบบฯ จะต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามกฎหมายกำหนด และหากฝ่าฝืนไม่ยอมชำระ ก็ต้องรับโทษทางอาญาด้วย ซึ่งมีบทลงโทษ ดังนี้
- กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
- กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
- กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
- กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
- กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
บุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ แต่ยื่นไม่ทันเวลาที่กำหนด จะต้องไปยื่นด้วยตนเองอีกครั้งที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา โดยจะต้องเตรียมเอกสารประกอบไปด้วย ดังนี้
- แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ
- เอกสารยืนยันสิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบ ล.ย. 03)
นอกจาก เตรียมเอกสารเพื่อยื่นภาษีแล้ว ต้องเตรียมเงินเพื่อชำระเงินภาษี และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามกฎหมายสรรพากร ดังนี้
1.ยื่นเกินกำหนดเสียค่าปรับ 2,000 บาท กรมสรรพากร ระบุว่าเตือนเรื่องค่าปรับกรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เมื่อเกินกำหนดเวลาต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้
2.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 /91 ผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ หากมิได้ชำระเงินภาษีภายในวันที่ 31 มี.ค.ของทุกปี ถือว่ามิได้ยื่นแบบ ท่านต้องไปยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
3.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เกินกำหนดเวลา
- กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
- กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระค่าปรับเพียงอย่างเดียว
4.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ
- กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
- กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ
5.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ขอผ่อนชำระเงินภาษี หากมิได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนดเวลา จะหมดสิทธิ์การผ่อนชำระและต้องชำระภาษีอากรที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ
อ่านข่าวอื่น :
เช็กเงื่อนไขขั้นตอนลงทะเบียน "คุณสู้ เราช่วย"
ตร.พบบัญชีม้าหลอกเอาเงิน "ชาล็อต" ร่วมแก๊งคอลเซนเตอร์