ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เสียงปืนที่ปราจีนฯ สะท้อน “บ้านใหญ่” กับการเมืองของความกลัว

การเมือง
12 ธ.ค. 67
16:41
507
Logo Thai PBS
เสียงปืนที่ปราจีนฯ สะท้อน “บ้านใหญ่” กับการเมืองของความกลัว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เหตุยิง “สจ.โต้ง” เสียชีวิต ปราจีนบุรีสะท้อนเลือกตั้งท้องถิ่น บ้านใหญ่ยังกุมอำนาจ ชี้สนาม อบจ. ทำบ้านใหญ่แตกหลายตระกูล ยิ่งแข่งเดือด หวังสนามระดับชาติ กวาด เก้าอี้ ส.ส - ต่อรองตำแหน่ง รมต.

หลังจากเกิดเหตุยิง นายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หรือ “สจ.โต้ง” เสียชีวิต เมื่อคืนที่ผ่านมา (11 ธ.ค.2567) ภายในบ้านพักของนายสุนทร วิลาวัลย์ และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ ในพื้นที่ อ.เมืองปราจีนบุรี

วันนี้ (12 ธ.ค.2567) รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยบูรพา ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าปมขัดแย้งมาจากอะไร แต่ที่สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้มีผลต่อสนามเลือกตั้ง อบจ.ปราจีนบุรี น่าจับตามากขึ้นอย่างแน่นอน

เหตุยิง “สจ.โต้ง” ที่เกิดขึ้น ขณะที่กำลังมีการเลือกตั้ง อบจ.เกิดขึ้นทั่วประเทศ ในขณะนี้ จะมีผลมากน้อยแค่ไหน

รศ.โอฬาร : สะท้อนให้เห็นว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น ยังตั้งอยู่บนวิถีการเมืองแบบเดิม ก็คือวิถีการเมืองที่ต้องอาศัยบ้านใหญ่ ยังอาศัยเครือข่ายทางการเมือง เพื่อจะควบคุมความได้เปรียบ และระบบบ้านใหญ่ที่เกิดขึ้นกับจริง ๆ แล้วมันก็โทษใครไม่ได้

ระบบกลไกของรัฐราชการ ที่ทำให้เกิดบ้านใหญ่กลายเป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับประชาชน เพราะเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง ใครที่ชนะหรือฝ่ายที่ได้รับความสำคัญ ได้รับการอนุมัติวีซ่าจากบ้านใหญ่ก็จะมีผล

ไม่แปลกในกรณี สจ.โต้ง ถ้าฟังตามข่าวและพูดคุยกับคนในพื้นที่ ก็เห็นว่าเขาไปพูดคุยเจรจาเพื่อที่จะส่งภรรยาลงสมัคร นายก อบจ. และถ้าได้รับสนับสนุน และโอกาสที่จะชนะก็สูง ซึ่งปัญหาของการเมืองท้องถิ่น ที่ยังอยู่ภายใต้ภายใต้ความได้เปรียบของตระกูลบ้านใหญ่จึงมีความสำคัญมาก

ผลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อน ถึงสนามเลือกตั้ง อบจ.ปราจีนบุรี และ ทั่วประเทศอย่างไร

รศ.โอฬาร : จากข้อมูลในพื้นที่ และจากงานวิจัยที่ผ่านมา ยังสะท้อนอย่างชัดเจนว่า สนามการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะสนาม อบจ. เป็นพื้นที่สำคัญสำหรับนักการเมืองและขั้วการเมืองล้วนมีแต่ตระกูลการเมืองในจังหวัด

สนาม อบจ.เป็นองค์กรที่กลุ่มการเมือง ใช้เป็นหลักฐานในการวางเครือข่ายหรือสนับสนุนทรัพยากร เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การตั้งใหญ่ระดับชาติ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2570 จึงทำให้ กลุ่มพลังทางการเมืองต่าง ๆ หมายมั่นปั้นมือ ที่จะเข้าไปชิงอำนาจสนาม อบจ. บวกกับอาการทางการเมืองที่เกิดในหลายๆ จังหวัด ที่เกิดภาพการแตกตัวกันของกลุ่มบรรดาบ้านใหญ่หลายตระกูลแข่งขันกันเอง
อ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการเมืองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยบูรพา

อ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการเมืองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยบูรพา

อ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการเมืองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยบูรพา

จะยิ่งเพิ่มความเข้มข้นเพิ่มความรุนแรงในสนามแข่งเลือกตั้ง ทั้งปราจีนบุรี หรือ จังหวัดต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน

รศ.โอฬาร : มีโอกาสที่การแข่งขันจะรุนแรงขึ้นด้วย จะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดการขับเคี่ยวกันขณะนี้ ในระดับการเมืองท้องถิ่นตอนนี้ ประการที่หนึ่งที่บอกว่า สนาม อบจ.เป็นสนามสำคัญ

เนื่องจากเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด มีงบประมาณมาก และมีอำนาจมาก ที่จะใช้อำนาจนั้น ๆ จึงเกิดการแตกตัวกันของกลุ่มบรรดาบ้านใหญ่กับหลายสกุลแข่งขันกันเอง ยิ่งเพิ่มความเข้มข้น ความรุนแรง มีโอกาสที่จะรุนแรงในการแข่งขัน เพราะเป็นเรื่องการกระจายผลประโยชน์ ให้กับเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

อันนี้มันเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองระดับชาติ มีความขับเคี่ยวกันมากระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ

ทั้งนี้อำนาจเก่าการเมืองระดับชาติ นายทักษิณ และกลุ่มการเมืองใหม่ พรรคประชาชน ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งหลัก

ดังนั้น การเมืองระดับท้องถิ่นจึงต้องพยายามจะหาพื้นที่ทางการเมืองที่เซฟโซน Safe Zone ของเขา นั่นก็คือสนามองค์การบริหารส่วนจังหวัด แล้วหวังในการเมืองระดับชาติ ซึ่งถ้าเขาคลุมพื้นที่เซฟโซนได้ ก็จะได้เก้าอี้ ส.ส.เกิน 4-5 คน มาจัดการผลประโยชน์การเมืองได้

ถ้าได้เก้าอี้สนามท้องถิ่นมาก ก็จะมีผลต่อการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีได้ และถ้าเกิดปัญหาในรัฐบาล เขาก็ยังมีพื้นที่ของเขาคือ สนามองค์การบริหารส่วนจังหวัด

ซึ่งถ้าเราดูตอนนี้ทุกจังหวัดเป็นแบบนี้หมดเลยนะ กลุ่มบ้านใหญ่ก็พยายามจะรักษาฐานพื้นที่ใน อบจ.ในขณะเดียวกันก็พยายามที่จับกลุ่มบรรดา สส. ในกลุ่มให้ได้สัก 4-5 คนเพื่อไปต่อรองในตำแหน่งรัฐมนตรี

เฉพาะสนามเลือกตั้ง อบจ.ปราจีนบุรี จะทำให้คนลงสมัครเกิดความหวาดกลัว หรือ จะเป็นสนามแข่งกันอย่างไรต่อไป

รศ.โอฬาร : สำหรับคนที่จะลงสมัคร เมื่อเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ ความกลัว ซึ่งก็เป็นการเมืองอย่างนึง มันก็เป็นอำนาจอย่างหนึ่งที่ทำให้หลายๆ คน อาจจะตัดสินใจไม่กล้าลงสมัคร เพราะไม่รู้ว่าสุดท้ายปลายทางจะเกิดอะไรเกิดขึ้น

เรื่องนี้ถ้ามองมุมการเมือง การเลือกตั้ง จ.ปราจีนบุรี มันจะมีผลกับใครที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุด และอีกมิติจะเกิดผลเสียผลอย่างไรกับประชาชน

รศ.โอฬาร : คนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด ผมคิดว่าคนที่กล้าตัดสินใจลงหลังจากนี้ แล้วก็ใช้กรณีนี้เป็นประเด็นในการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อขอคะแนนให้เลือกเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง อาจเป็นการทำการเมืองใหม่ คือใช้วิกฤตใช้โอกาส ขยายเป็นกระแสทางการเมือง

แต่ถามว่าคนลงสมัครจะกลัวไหม เขาอาจกลัวแต่คิดว่าเป็นจังหวะโอกาสที่ดีมากกว่า เพื่อที่จะต่อสู้ในสนามการเมือง

ขณะเดียวกัน ถ้าผู้สมัครหวาดกลัวในการแข่งขัน จะทำให้บรรยากาศของสนามปราจีนบุรี นี่ซบเซาไปเลยไหม

รศ.โอฬาร : ใช่ครับ เพราะว่าที่ผ่านมา คนก็ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อบจ.น้อยอยู่แล้ว บรรยากาศแบบนี้สร้างความหดหู่ ประชาชนอาจจะรู้สึกสิ้นหวัง กับระบบการเมืองท้องถิ่น ที่เป็นแบบนี้ ภายใต้ความกลัวที่คนไม่อยากสมัคร ไม่อยากไปเลือกตั้ง ก็อาจจะส่งผลด้วยนะครับ

โทนสนามนี้ จะไปทางดุเดือด หรือซบเซา มากกว่ากัน

รศ.โอฬาร : มันจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ บรรดานักการเมือง ที่ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบบ้านใหญ่ ซึ่งบ้านใหญ่แบบนักเลง นักเลง ในความหมายคือ ใจถึง พึ่งได้นะ นักเลงบ้านใหญ่ คือ ผู้กว้างขวาง

อาการแบบนี้เป็นอาการตามวิถีนักเลง จะต้องระมัดระวังกันมากยิ่งขึ้น เพราะปราจีนบุรีก็มีพลวัตของปัญหาแบบนี้มาอย่างยาวนาน ในการใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา ในขณะที่กลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองใหม่ ๆ อาจจะมองว่า เป็นความท้าทาย เป็นโอกาสในวิกฤตการเมือง จริง ๆ เพราะสนามปราจีนบุรี ถ้ามองในมิติการขยายตัวของเมือง ของผู้คน มันก็มีการขยายตัวของเขตเมือง กิจกรรมและผู้คนร้อยพ่อพันแม่ ไม่ได้ผูกจิตมัดตรึงกับบรรดานักการเมืองในสายสายบ้านใหญ่ทั้งหมด

เหล่านี้ก็อาจจะใช้วิกฤตเป็นโอกาส คือวิกฤตความกลัวเป็นโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่นักการเมืองสายบ้านใหญ่ก็จะมีวิถีอีกแบบ แต่จะทำให้ต่างคนต่างระมัดระวัง แต่แสดงว่า การจัดการปัญหาด้วยวิธีการแบบนี้ ยังเป็นวิธีการหนึ่งที่นักการเมืองเลือกใช้ในภาวะที่เขารู้สึกว่า การใช้วิธีนี้จะสามารถสร้างการเมืองของความกลัวได้

กลุ่มที่ก่อเหตุ และคนที่พัวพันกับตระกูลของผู้ก่อเหตุ ในทางการเมืองมีผลถึงขนาดไหนอย่างไร

รศ.โอฬาร : ระดับท้องถิ่นมันมีความรู้สึกที่เป็นผลผลิตของบ้านใหญ่ มันเป็นผลผลิตภาพจำในทางลบกับกลุ่มตระกูลที่ก่อเหตุ แต่ต้นทุนทางสังคมในอดีตของเขามันก็มีอยู่ ไม่รู้ว่าจะจำกันได้มากน้อยแค่ไหน

เพราะในวิถีการเมืองท้องถิ่น ของตระกูลวิลาวัลย์ ตรง ๆ เขาพูดยืนยันชัดเจนมาตลอดในจุดยืนเขาก็คือ “สุขก็เห็นหน้า ทุกข์ก็เห็นหน้า” คือไม่ว่าสุข ไม่ว่าทุกข์ประชาชนในปราจีนฯ จะเห็น คนตระกูลวิลาวัลย์ อยู่เคียงข้างเขาเสมอ แต่ไม่รู้ว่าสถานตอนนี้ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ถามว่าเวลาพูดถึงบ้านใหญ่ในภาพลักษณ์มันก็ไม่ได้เป็น “ภาพหน้าปก” อยู่แล้ว เพราะสุดท้ายในระดับชาติมันขึ้นอยู่กับว่า คุณสามารถรวบรวม ส.ส.ได้ 5 คน 7 คนหรือเปล่า เขาต้องการแค่นี้

ถ้าคุณสามารถหาได้ 7 คน 10 คน คุณก็ได้ตำแหน่ง ได้โอกาส และได้โอกาสที่จะสร้างภาพจำใหม่ๆ มันก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งกรณีบางจังหวัด เช่น อุทัยธานีอย่างนี้ ภาพจำความรู้สึกของคนก็มันขึ้นแบบนี้

รายงาน : ภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวอาวุโส ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : ปลิดชีพ “สจ.โต้ง” วงจรการเมือง “ในรัก มีชัง” ใต้เงาบ้านใหญ่

การเมืองท้องถิ่นเดือด ปมยิง "สจ.โต้ง" ดับคาบ้าน "สุนทร วิลาวัลย์"

ภรรยา รับศพ "สจ.โต้ง" เผยไม่รู้ปัญหาปมขัดแย้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง