ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เช็กผลงาน 90 วัน "รัฐบาลแพทองธาร" ทำอะไรแล้วบ้าง

การเมือง
11 ธ.ค. 67
20:04
1,196
Logo Thai PBS
เช็กผลงาน 90 วัน "รัฐบาลแพทองธาร" ทำอะไรแล้วบ้าง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทำให้คนไทย มีกิน มีใช้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี เพื่อนำพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทย และประเทศไทย เพื่อสร้างความหวังและอนาคตที่ดีกว่าให้ประเทศไทย จากวันนี้ไปถึงอนาคต

มอสโตหลักนโยบายเด่นของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ในการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา นับจากวันที่ก้าวมาคุมบังเหียนรับไม่ต่อจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย

อ่านข่าว รอฟัง "แพทองธาร" แถลงผลงาน 90 วันประกาศนโยบายปี'68

90 วันสำหรับคนที่เข้างานใหม่ ช่วงนี้อาจถือเป็นช่วงการทดลองงานว่าจะผ่านโปรหรือไม่ผ่าน แต่สำหรับรัฐบาลแพทองธาร เลือกที่จะแถลงผลงานชิ้นโบว์แดง พร้อมกับประกาศของขวัญปีใหม่ 2568

ตามโปรแกรมภายใต้คอนเซ็ป "2568 โอกาสไทย ทำได้จริง" ในวันพรุ่งนี้ ( 12 ธ.ค.) จะมีคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการจากกระทรวงต่างๆ  ผู้ว่าราชการจังหวัด ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร.และผู้เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนราว 500 คนที่จะเข้าร่วมงานที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT โดยจะมีการถ่ายทอดสดที่ช่อง NBT2HD และเฟซบุ๊กไลฟ์ : Live NBT2HD

นโยบายเรือธง "แจกเงินหมื่น" ฝ่าฝันไม่ถึงครึ่ง

ไทยพีบีเอสออนไลน์ เช็กลิสต์ผลงานช่วงทดลองงานของรัฐบาลแพทองธาร พบผลงานโดดเด่นโดนใจประชาชน ที่โพลหลายสำนักโหวตให้เป็นผลงานที่ติดอันอันดับแรก คงหนีไม่พ้นนโยบายเรือธง "แจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท" ที่เคยหาเสียงไว้

แม้จะต้องปรับจากตัวเลข 55 ล้านคนที่อาจมีโอกาสได้รับสิทธิแจกเงินหมื่นแต่ติดล็อก ด้วยเรื่องของเงินที่จะนำมาใช้ทำให้ตัวเลขการแจกเงินต้องปรับเปลี่ยนจากดิจิทัล มาเป็นการจ่ายเงินสดผ่านธนาคาร 10,000 บาท

เฟสแรกประชาชนผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการได้เงิน 10,000 บาท จ่ายเงินสำเร็จ 14,407,375รวมเม็ดเงิน 144,073.57 ล้านบาท 

ส่วนเฟสที่ 2 ที่เริ่มแย้มกลุ่มเป้าหมายออกมาคือกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีประมาณ 3-4 ล้านคน วงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยผู้ที่ได้รับเงินจะได้รับก่อนวันตรุษจีนปี 2568 หรือวันที่ 29 ม.ค.2568 ส่วนคนที่เหลือจะดูความพร้อมของระบบ คาดว่าจะได้ช่วงประมาณปีหน้าเดือน เม.ย.-มิ.ย.2568

อ่านข่าว เคาะแจกเงิน 10,000 เฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รับก่อนตรุษจีน 2568 

คลอดกม.สมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับ 22 ม.ค.68

มีผลใช้บังคับ 22 ม.ค.68 สำหรับ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567 หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม

สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้บุคคล 2 คนไม่ว่าจะเพศใดสามารถทำการหมั้นและสมรสได้ จากกม.สมรสปัจจุบันที่การหมั้น ใช้คำว่า “ฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง” แก้ไขเป็น “ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น” หรือ “เพศ” ที่ใช้คำว่า “ชาย-หญิง” แก้ไขเป็น “บุคคลทั้ง 2 ฝ่าย”

และสถานะหลังจดทะเบียนสมรส จาก “สามีภริยา/คู่สมรส” แก้เป็น “คู่สมรส/คู่สมรส” รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่น ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่สถานะทางครอบครัว เท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

สำหรับ กม.นี้ จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะรายละเอียดกฎหมายที่ผูกพัน ทั้งอาญา และแพ่ง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงสิทธิต่าง ๆ ทั้งสิทธิการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิรับบุตรบุญธรรม สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย  

แจกเงินชาวนา 1,000 บาท-พักหนี้เกษตรกร

เรียกว่าเป็นนโยบายที่เข้าถึงกลุ่มเกษตรกร ภายใต้โครงการสนับสนุนบริหารจัดการและเพิ่มคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวการผลิตปีการผลิต 2567 / 2568 เพื่อลดต้นทุนการผลิตการเกษตรให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นหรือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท 

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเริ่มจ่ายเงินให้กับชาวนา 4.3 ล้านคน วงเงินกว่า 35,000 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลา 5 วัน เริ่มโอนเงินเป็นรอบๆ ดังนี้ วันแรก 16 ธ.ค. ภาคเหนือ วันที่ 17 ธ.ค.ภาคกลางและภาคตะวันออกวันที่ 18 ธ.ค.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน วันที่ 19 ธ.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง วันที่ 20 ธ.ค.เกษตรกรภาคตะวันตกและภาคใต้

นอกจากนี้ ยังอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ในระยะ 2-3 ฟื้นฟูและการพัฒนาศักยภาพฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ในระยะที่ 2 จะเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.2567-30 ก.ย.2568 ส่วนระยะ 3 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2568 -30 ก.ย.2569

ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-รถไฟฟ้า 20 บาท

ปัญหาค่าครองชีพเป็นหนึ่งในสิ่งที่ชาวบ้านอยากเห็นมากที่สุด น่าจะเป็นเรื่องของการลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถไฟฟ้า โดยอนุมัติงบกลาง วงเงิน 1,790 ล้านบาท ให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นค่าใช้จ่าย ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 4 เดือน (พฤษภาคม - สิงหาคม 2567) จำนวน 19.05 สตางค์ต่อหน่วย

นอกจากนี้กระทรวงพลังงาน ลดค่าไฟฟ้างวดม.ค.-เม.ย.2568 จากค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค.2567) ซึ่งอยู่ที่ 4.18 บาทหน่วย ลงอีก 3 สตางค์ต่อหน่วย หรือค่าไฟฟ้าจะลดลงเหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย โดยจะมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค-เม.ย.2568 ทั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ

ส่วนค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2567. ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม ต่ออายุมาตรการอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย คือ โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ส่วนสายอื่นๆ รอใช้ตั๋วร่วม 

กระตุ้นท่องเที่ยวฟรีวีซา-แอ่วเหนือ 400 บาท

Amazing Thailand Grand Tourism Year 2025” ตั้งเป้าปี 68 รายได้การท่องเที่ยวโต 7.5% และตั้งเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 3.4 ล้านล้านบาท พร้อมคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 40 ล้านคน และเกิดการเดินทางภายในประเทศมากกว่า 205 ล้านครั้งทั่วประเทศไทย 

นอกจากนี้ยังการให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา สามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน เพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจและการทำงานระยะสั้น จำนวน 93 ประเทศ 

เพิ่มเงินดือนข้าราชการ 

เพิ่มเงินเดือนพนักงานราชการ ให้สอดคล้องกับนโยบายการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ แรกบรรจุ 18,000 บาท โดย ครม.เห็นชอบการปรับอัตราค่าตอบแทนแรกบรรจุ และการปรับค่าตอบแทนแทนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของพนักงานราชการ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 รวมทั้งการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของพนักงานราชการด้วย

อ่านข่าว เปิดอัตราเงินเดือนข้าราชการใหม่ ปี 2567 หลัง ครม.เคาะปรับขึ้น 10%

ตรึงแวตภาษี 7% อีก 1 ปี-บัตรประชาชนรักษาทุกที่ 

นอกจากนี้ยังห็นชอบการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีแวต) ให้จัดเก็บในอัตรา 7% ต่อไปอีก 1 ปี และยังอนุมติงบกลาง ให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5,924 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” ประจำปีงบประมาณ 2567 

แห้วขึ้นค่าแรง 400 บาท-กก.ไตรภาคี

แม้จะเป็นนโยบายเรอธงตั้งแต่การหาเสียง แต่ผ่านมาจนเกือบสิ้นปี ขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ก็ยังติดหล่มทั้งเสียงจากภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และบอร์ดคณะกรรมการค่าจ้างที่เกิดปัญหาทางเทคนิค

อ่านข่าว ปรับค่าแรง 400 บาท กกร.ชี้ 90% ไม่เห็นด้วยขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ

ล่าสุดวันนี้ น.ส.แพทองธาร ระบุว่า ได้รับทราบการรายงานเบื้องต้นจากนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน โดยจะต้องรอการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างที่นัดประชุมในวันที่ 12 ธ.ค.นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง