วันนี้ (9 ธ.ค.2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ 12 จังหวัดเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ผ่านระบบ Video Conference โดยแจ้งว่าได้ปรับหลักเกณฑ์การอนุมัติเงินฉุกเฉินระดับจังหวัดจาก 20 ล้านบาท เป็น 70 ล้านบาท และก่อนหน้านี้ ครม. ได้อนุมัติงบประมาณ 5,000 ล้านบาทในการช่วยเหลือ รายละ 9,000 บาทไปแล้ว
โดยจ่ายเยียวยาเบื้องต้นแล้วกว่า 2,700 ล้านบาท พร้อมขอบคุณจังหวัดที่สามารถทยอยมอบให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ไม่เหมือนในอดีตที่ต้องรอนานหลายเดือนกว่าจะได้รับ
สถานการณ์น้ำ่วมภาคใต้เมื่อเดือนช่วงต้นเดือนธ.ค.
นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับให้ ศปช.ส่วนหน้าให้เตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเนื่องจากสัปดาห์นี้ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธ.ค.นี้ ศปช.ได้แจ้งเตือนแล้วว่าจะมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมได้ ขอให้ส่วนหน้าเตรียมพร้อมรับมือให้ทันสถานการณ์ตลอด 24 ชม.
คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 12-16 ธ.ค.นี้ จะเกิดฝนตกต่อเนื่องในปริมาณที่หนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ขอย้ำเรื่องการแจ้งเตือนภัยให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง และเตรียมตัวอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย ส่วนเรื่องการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขอให้เร่งสำรวจความเสียหายภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย
ยืนยันรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้กำชับทุกภาคส่วนให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน รวมถึงมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ได้ใช้แนวทางการช่วยเหลือเหตุการณ์ในภาคเหนือ ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
นายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ เตรียมรับมือฝนตกหนักระลอกใหม่ 12-16 ธ.ค.นี้
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า ในฐานะผู้อำนวยการ ศปช.สั่งการให้ทุกส่วนราชการบูรณาการ การเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนี้
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และศูนย์พักพิงชั่วคราว
ขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน และกระทรวงกลาโหม เตรียมสนับสนุนกำลังพลและอุปกรณ์ในพื้นที่ให้พร้อม หากมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุให้กระทรวงกลาโหมเข้าพื้นที่ทันทีเพื่อเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว
นอกจากนี้ขอให้กรมทรัพยากรธรณีเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม ส่วนกระ ทรวงคมนาคม เร่งสำรวจตรวจสอบเส้นทางถนนในพื้นที่เสี่ยงหรือเส้นทางที่เคยเกิดน้ำท่วมและเตรียมการใช้เส้นทางเลี่ยง เพื่อให้การสัญจรสามารถเชื่อมต่อกันได้ พร้อมตรวจสอบป้องกันเส้นทางรถไฟที่อาจได้รับผลกระทบจากดินโคลนถล่มหรือน้ำท่วม และด้านสาธารณสุข ขอให้เฝ้าระวังสถานที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมและเตรียมป้องกันโรงพยาบาลหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วย