หนึ่ง นายประยุทธ์เป็นนักการเมืองระดับเก๋าเกม เป็น สส.8 สมัย โดยเฉพาะ สส.มหาสารคาม เคยเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง เป็นคนที่มีความรู้เรื่องกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญอย่างมาก
สอง เป็นนักการเมืองสไตล์หัวหมู่ทะลวงฟัน แม้ลีลาการพูดหรืออภิปรายจะไม่ดุดันร้อนแรง ออกจะเนิบนาบด้วยซ้ำ แต่เป็นประเภทเดินหน้าแล้วต้องเดินจนสุด เห็นได้ชัดเจน เมื่อครั้งเป็นรองประธานกรรมาธิการ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โควตาพรรคเพื่อไทย สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นคนเสนอแก้ไขให้มีการนิรโทษกรรมทุกฝ่าย ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและสั่งการ กระทั่งถูกเรียกว่า นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย หรือ นิรโทษกรรมเหมาเข่ง
กระทั่งกรรมาธิการเสียงข้างมาก แก้ไขจากร่างเดิมของ นายวรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ขณะนั้น จากเดิมมีจุดประสงค์หลักต้องการนิรโทษกรรมผู้ต้องขังจากคดีเผาศาลากลางจังหวัด จากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ขยายผลถึงให้มีนิรโทษกรรมครอบคลุมหลายฝ่าย
รวมถึงผู้เกี่ยวข้องและสั่งการ ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร ด้วย โดยไม่ฟังเสียงฝ่ายคัดค้านไม่เห็นด้วย นำไปสู่เหตุการณ์ประชุมสภาฯ แบบข้ามคืน เกิดกรณี “ลักหลับ” ช่วงเช้ารอยต่อระหว่าง 31 ต.ค.กับ 1 พ.ย.2556 และเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเวลาต่อมา
สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ของพรรคเพื่อไทย ที่กลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงนี้ คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ที่ส่งผลถึงเรื่องอำนาจของรัฐบาลพลเรือน ที่จะมีเหนือทหารและกองทัพ ไม่ว่าจะการยึดอำนาจจากสภากลาโหม ซึ่งปกติมีรัฐมนตรีกลาโหมเป็นประธาน เปลี่ยนเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
การแต่งตั้งนายพล ระดับสำคัญๆ เช่น ผบ.เหล่าทัพ ต้องให้ที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบ ด้วยเหตุผลเพื่อเปิดโอกาสให้นายทหารที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่ใช่เส้นสายพวกพ้องของผู้นำทหารปัจจุบัน
ที่สำคัญ ห้ามทหารหรือกองทัพทำปฏิวัติรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาล ตามมาตรา 35 ที่กำหนดเป็นกฎเหล็ก หากฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษ และยังให้อำนาจนายกฯ สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยอ้างเพื่อให้การสอบสวนข้อเท็จจริงปราศจากแรงกดดัน
เท่ากับรัฐบาลพลเรือน ยึดอำนาจจากกองทัพและทหารไว้เบ็ดเสร็จ เป็นการเอาคืนของพรรคเพื่อไทย หลังจากเคยถูกรัฐประหารมาแล้ว 2 ครั้ง ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ และรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์
ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตามมา ด้านหนึ่งคือการต่อต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย รวมทั้งกลุ่มขั้วอำนาจเก่า ที่เห็นว่า เป็นการรัฐประหารยึดอำนาจจากกองทัพ และทหารถูกกดทับอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของรัฐบาลพลเรือน เป็นการแทรกแซงกิจการภายใน และการบริหารจัดการในกองทัพ คล้ายกับกรณี ผบ.ตร.ที่นายกฯ มีอำนาจเด็ดขาดสามารถเคาะได้ว่า ใครจะเป็น ผบ.คนต่อไป อันจะเกิดการวิ่งเต้น เข้าหาฝ่ายการเมืองของบรรดานายทหาร ในช่วงฤดูกาลแต่งตั้งโยกย้าย
จึงไม่แปลกที่จะมีปฏิกิริยาต่อต้าน ประเดิมจากประธาน กมธ.ทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา ที่โต้กลับว่า แนวทางดังกล่าวอยู่บนความคิดเพื่อป้องกันการทำรัฐประหาร แต่ลืมไปว่า การทำรัฐประหารหลายครั้ง เกิดจากการบริหารงานของรัฐบาลล้มเหลว เกิดเหตุการณ์ไม่สงบ ทั้งยืนยันขวาง ครม.ทำโผทหาร
ที่น่าสังเกต คือการเสนอร่างกฎหมายของพรรคเพื่อไทย มีเสียงขานรับจากพรรคประชาชาชน ซึ่งชูธงเรื่องการปฏิรูปกองทัพ มาตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล โดยการออกโรงวิพากษ์ของ นายพริษฐ์ วัชสินธุ์ โฆษกพรรคประชาชน ที่เห็นด้วยกับการเสนอร่าง
แต่ตั้งข้อสงสัยว่า เนื้อหาในร่างคล้ายคลึงกับร่างของพรรคประชาชน ที่เสนอตั้งแต่เป็นพรรคก้าวไกล แต่ถูกรัฐบาลดึงเรื่องไว้ และค้างอยู่ในระเบียบวาระตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ร่างของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ มีข้อแตกต่างกันในเรื่องบทบาทของสภากลาโหม เพราะในร่างของพรรคเพื่อไทย เปลี่ยนแปลงแค่จำนวน และเปลี่ยนประธานสภากลาโหม เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในร่างของพรรคก้าวไกล ให้มีการแก้ไขบทบาทและอำนาจของสภากลาโหม รวมอยู่ด้วย
อีกด้านหนึ่ง ก็ถูกวิพากษ์ว่า เป็นการชิงไหวพริบและคูเหลี่ยมสู้กับพรรคคู่แข่งสำคัญ อย่างพรรคประชาชนอย่างชัดเจน เพราะทราบดีว่า คนรุ่นใหม่ รวมทั้งกลุ่มคนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในกองทัพ
ตั้งแต่ลดขนาด ลดงบประมาณ ลดจำนวนนายพล รวมถึงเรื่องยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และความโปร่งใสเรื่องการใช้งบประมาณในกองทัพ ซึ่งคนเหล่านี้ เดิมทีเป็นเอฟซีพรรคประชาชน ต่อเนื่องจากพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลอยู่ก่อนแล้ว
จึงเป็นการเปิดแนวรบสำหรับแย่งชิงฐานมวลชนกลุ่มนี้โดยตรง ไม่ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ แต่ได้ชื่อว่ามีแนวนโยบายเรื่องนี้ ไม่น้อยไปกว่าพรรคประชาชน แม้จะทราบดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า เรื่องเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยาก แม้จะมั่นใจเสียงในสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังมีด่านวุฒิสภา ยืนขวางอยู่เบื้องหน้า
เพราะเรื่องแบบนี้ อาจจะคิดได้ แต่ถึงทำจริง ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่คิด
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : "อนุทิน" ยังไม่คุยอดีต 3 สส.พรรคภูมิใจไทยปล่อยตัวคดีเสียบบัตร