ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ซ้ำเติมคนรายได้น้อย! ปชช. จี้คลังทบทวนแนวคิดปรับโครงสร้างภาษี

เศรษฐกิจ
6 ธ.ค. 67
07:42
2,066
Logo Thai PBS
ซ้ำเติมคนรายได้น้อย! ปชช. จี้คลังทบทวนแนวคิดปรับโครงสร้างภาษี
นักเศรษฐศาสตร์ห่วงแนวคิดการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม อาจซ้ำเติมค่าครองชีพ ราคาบ้าน รถยนต์ กระทบผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง หลังกระทรวงการคลัง เดินหน้าแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2567 ปัญหาข้อจำกัดทางการคลัง และการขาดดุลทางการคลังต่อเนื่อง ทำให้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ยอมรับว่ากำลังศึกษาแนวทางปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ทั้งภาษีนิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เป็นไปตามทิศทางประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งล้วนทยอยปรับขึ้นภาษีแล้ว

พนักงานบริษัทเอกชนบางส่วน บอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และยกเลิกรายการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะอาจกระทบสภาพความเป็นอยู่ จึงขอให้รัฐบาล พยายามปรับปรุงประสิทธิภาพ ในการใช้จ่ายงบประมาณ หรือ ทบทวนนโยบายที่ไม่จำเป็น

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บ.ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า โครงสร้างภาษีไทย มีความซับซ้อน ส่งผลให้การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และลดภาษีนิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ จะปรับตัวสูงขึ้น กระทบค่าครองชีพ ธุรกิจค้าปลีก ตลอดจน สินค้าคงทน อย่าง "บ้าน - รถยนต์" ซึ่งอาจเป็นการซ้ำเติมผู้มีรายได้น้อย และรายได้ปานกลาง

ส่วนการปรับลดภาษีนิติบุคคล ที่รัฐบาล มีเจตนาใช้เป็นเครื่องมือดึงดูดการลงทุนต่างชาติ ก็อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร หลังปัญหาสงครามการค้า และการตั้งกำแพงภาษีมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ไม่นับรวมปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่มีธุรกิจในระบบ และนอกระบบภาษี ส่งผลให้ผลที่คาดว่าจะเป็นบวกกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก อาจไม่เป็นไปอย่างที่คาด

สำหรับแนวคิด ในการปฏิรูปโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ อาจใช้สูตร "15-15-15" หรือ ปรับลดภาษีนิติบุคคลจากเดิมสูงสุด ร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 15 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเดิมสูงสุด ร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 15 พร้อมกับยกเลิกระบบประเมินการเสียภาษีแบบขั้นบันได

รวมทั้ง ทบทวนรายการลดหย่อนภาษี ขณะเดียวกัน อาจตัดสินใจปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หลังต่ออายุมาตรการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม จากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 7 มานานกว่า 25 ปี โดยกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างภาษีทั้งหมดนี้ เป็นการดำเนินการในกรอบระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า

อ่านข่าว : "พิชัย" แจงขึ้น Vat 15% แค่แนวคิดมองทั่วโลกทำกันขอดูข้อดีข้อเสีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง