กระแสเรียกร้องให้ผู้นำเกาหลีใต้ลาออกจากตำแหน่งดังมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังนายยุน ซอก ยอล ประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนที่ผ่านมา ขณะที่ตอนนี้ พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติถอดถอนผู้นำต่อรัฐสภาอย่างเป็นทางการแล้ว
- "ยุน ซอก-ยอล" จากอัยการสูงสุด สู่กฎอัยการศึก
- ไทม์ไลน์ผู้นำเกาหลีใต้ประกาศ "กฎอัยการศึก" ก่อนสภาโหวตคว่ำ
หนึ่งเดือนหลังจาก "ยุน ซอก ยอล" อดีตอัยการสูงสุดคนดัง ที่ทำคดีปราบปรามการทุจริตของรัฐบาล "พัค กึน ฮเย" ชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ค.ปี 2022 และได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้อย่างเต็มตัว ในตอนนั้นคะแนนนิยมของยุนพุ่งสูงสุดแตะ 53% แต่มรสุมทางการเมืองกำลังทำให้เขาอาจจะกลายเป็นผู้นำคนล่าสุดของประเทศ ที่ต้องก้าวลงจากตำแหน่งจากกระบวนการถอดถอนในรัฐสภา
นายยุน ซอก ยอล ประธานาธิบดี เกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนที่ผ่านมา (3 ธ.ค.67)
สมาชิกสมาพันธ์สหภาพการค้าเกาหลี ซึ่งเป็นกลุ่มสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ออกมารวมตัวประท้วงในกรุงโซล เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำเกาหลีใต้ลาออก แม้ว่าจะยกเลิกกฎอัยการศึกเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังบังคับใช้ก็ตาม นอกจากนี้ทางกลุ่มยังประกาศนัดหยุดงานประท้วงต่อเนื่องไปจนกว่ายุนจะยอมลงจากตำแหน่งอีกด้วย
ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากแนวร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรคการเมือง ซึ่งนำโดย Democratic Party หรือ DP ของอี แจ-มยอง เปิดเผยว่า ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติถอดถอนยุน ซอก ยอล แล้ว เนื่องจากละเมิดรัฐธรรมนูญ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การทำรัฐประหารตัวเอง ดังนั้น การถอดถอนประธานาธิบดีจึงเป็นสิ่งที่สภาต้องดำเนินการ
สภาโหวตยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก
มองในมุมหนึ่ง ตลอดระยะเวลามากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ผลงานการบริหารประเทศของยุนแทบไม่เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน นั่นจึงทำให้คะแนนนิยมของเขาค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จนถึงขีดต่ำสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เหลือเพียง 17% ในขณะที่คะแนนความไม่พอใจในผลงานของเขาพุ่งสูงทะลุ 70% ติดต่อกันหลายสัปดาห์
นอกจากเหตุผลเรื่องอื้อฉาวของสุภาพสตรีหมายเลข 1 แล้ว อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้การผ่านกฎหมายต่าง ๆ ไม่ราบรื่นและถูกเตะตัดขาหลายครั้ง เป็นเพราะฝ่ายค้านครองเสียงส่วนใหญ่ในสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือน เม.ย.ซึ่งถูกมองว่า เป็นเสมือนการลงประชามติของประชาชน ว่า ยุนสอบผ่านในการทำงานหรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่า พรรครัฐบาล People Power Party หรือ PPP พ่ายแพ้ไปแบบหมดรูป
ประชาชนชุมนุมประท้วง การประกาศกฎอัยการศึก
นักวิเคราะห์ที่เก็บข้อมูลสถิติการใช้อำนาจของยุนในการ veto กฎหมายที่ผ่านสภานับตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อเดือน พ.ค.ปี 2022 พบว่า เขาเป็นผู้นำที่ใช้อำนาจนี้มากที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ ขณะที่อัยการ คนในรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐฝั่งที่ยุนแต่งตั้ง ถูกสภาเดินเรื่องถอดถอนไม่ต่ำกว่า 22 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้ 10 ครั้ง เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 5 เดือนที่ผ่านมา
ตามรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีต้องเริ่มจากการยื่นญัตติให้สภาพิจารณา ซึ่งต้องใช้เสียงสนับสนุน 2 ใน 3 เพื่อผ่านมติดังกล่าว และจะทำให้ประธานาธิบดีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่นายกรัฐมนตรีจะก้าวเข้ามารักษาการแทน
ก่อนที่มติดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จและลงมติภายใน 6 เดือน ว่า จะรับมติถอดถอนดังกล่าวหรือไม่ โดยต้องใช้เสียงจากผู้พิพากษา 6 คน จากทั้งหมด 9 คน เพื่อเห็นชอบ ซึ่งจะส่งผลให้ประธานาธิบดีต้องออกจากตำแหน่ง เพื่อนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน
ประชาชนชุมนุมเรียกร้องให้นายยุน ซอก ยอล ลาออกจากตำแหน่ง
ขณะนี้ ญัตติถอดถอนยุนเข้าสู่สภาไปแล้ว และคาดว่า สส.จะลงมติได้เร็วที่สุดในวันศุกร์นี้ (6 ธ.ค.67) ล่าสุด ฝ่ายค้านรวมเสียงในสภาได้แล้ว 192 เสียง จากเสียงที่ต้องการอย่างน้อย 201 เสียง ดังนั้นยังขาดอีก 9 เสียง ซึ่งต้องได้มาจากฝั่งของพรรครัฐบาล โดยก่อนหน้านี้ สส.จากพรรค PPP หลายคนก็ออกมาแสดงท่าทีไม่พอใจต่อการตัดสินใจใช้กฎอัยการศึกของยุน ดังนั้น ฝ่ายค้านอาจได้เสียงสนับสนุนจากสส.แปรพักตร์กลุ่มนี้ แต่ยุนไม่ใช่ผู้นำคนแรกที่โดนยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง
ประชาชนชุมนุมเรียกร้องให้นายยุน ซอก ยอล ลาออกจากตำแหน่ง
จุดที่น่าสนใจ คือ พัค กึน ฮเย บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดี "พัค จอง-ฮี" ที่ถูกลอบสังหาร เมื่อปี 1979 จนนำไปสู่การประกาศใช้กฎอัยการศึกในขณะนั้น เธอเป็นคนที่ทำให้ยุนกลายเป็นคนดังและเป็นผู้นำที่ได้รับเลือกตั้งผ่านระบอบประชาธิปไตยคนแรกที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง เมื่อปี 2016 จากข้อหาทุจริตและใช้อำนาจในทางมิชอบ
กรณีของ "พัค กึนฮเย" หลังจากถูกถอดออกจากตำแหน่งแล้ว ก็โดนดำเนินคดีทางกฎหมายและถูกจำคุกเกือบ 5 ปี ก่อนที่ได้รับการปล่อยตัวและอภัยโทษเมื่อปี 2021
ส่วน "ยุน ซอก ยอล" สส.ฝ่ายค้าน ระบุว่า จะถูกยื่นฟ้องในข้อหากบฎด้วย ซึ่งการก้าวพลาดทางการเมืองเพียงครั้งเดียว ก็ปิดฉากชีวิตทางการเมืองของยุน ซอก ยอล ไปเลย
อ่านข่าว : จับตาสถานการณ์ หลังผู้นำเกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึก
กฎอัยการศึกจุดชนวนวิจารณ์ กระทบงานบันเทิงเกาหลีใต้
"กฎอัยการศึก" ยุน ซอก-ยอล ทางออก VS ฆ่าตัวตายทางการเมือง