แม้จะมีการตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2570 ไทยต้องการจะไต่ระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) จาก 35 คะแนน เพื่อเขยิบตัวเลขไปอยู่ที่ 49 คะแนน แต่ดูเหมือนยังไกลจากความหวังพอสมควร หากสถานการณ์ในประเทศยังไม่เอื้ออำนวย
ในปี 2566 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติประกาศผลดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)ประเทศไทย ได้ 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 108 ของโลก จาก 180 ประเทศทั่วโลก ประเทศที่ได้คะแนนสูงที่สุด คือ 90 คะแนน เป็นอันดับ 1 ของโลก คือ ประเทศเดนมาร์ก, อันดับ 2 ฟินแลนด์ได้ 87 คะแนน อันดับ 3 นิวซีแลนด์ ได้ 85 คะแนน
ขณะที่ไทย ได้ 35 คะแนนอยู่ในอันดับที่ 108 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และสิงคโปร์ได้คะแนนสูงสุด 83 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก
ส่วนสหพันธรัฐมาเลเซีย ได้ 50 คะแนน และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้ 41 คะแนน ในภาพรวมคะแนนของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีคะแนนลดลง ซึ่งมีจำนวน 63 ประเทศ ขณะที่ประเทศที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นมี 55 ประเทศ และมีประเทศที่คะแนนเท่าเดิม 62 ประเทศ สะท้อนว่า การประเมิน CPI ของไทยในสายตานานาชาติ ในปี 2566 ลดลงจากปี 2565
และหากนำหลักนิติธรรมมาจับ 1 คะแนนในปี 2566 ไทยได้ 0.49 % ปี 2567 ได้คะแนน 0.50 % ขยับเพิ่มขึ้นเพียง 0.01 % ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ
พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวตอนหนึ่งในงานสัปดาห์ต่อต้านทุจริตและส่งเสริมจริยธรรม ประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วันนี้ (4 ธ.ค. 2567) ว่า ไทยให้ความสำคัญต่อการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยมีระบุเป็นวาระสำคัญไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 หรือ รัฐธรรมนูญปราบโกง เด็กที่เกิดใหม่จะต้องมีหน้าที่ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ ส่วนภาครัฐ คือ รัฐสภา ศาล รัฐบาล องค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องส่งเสริมและสนับสนุน ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐและภาคเอกชน
แม้จะมีกฎหมาย แต่การคอร์รัปชันก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ ทั้งในไทยและคนทั้งโลกด้วย การเมืองที่ปราศจากความรุนแรง โดยรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงระบุไว้ว่า ต้องมีการเมืองที่ปราศจากความรุนแรง ไม่ใช้กฎหมายอยู่เหนือความเป็นธรรม โดยการบัญญัติกฎหมายจะต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม การบัญญัติกฎหมายจะไปละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่ได้
"อยากให้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เช่นกัน โดยไทยตั้งเป้าว่า ในปี 2570 จะมีการยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) ให้อยู่ใน 20 อันดับแรกของโลก ซึ่งคงต้องพยายามไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวให้ได้" รมว.ยุติธรรม กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ต่อภัสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้าน คอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค กล่าวในช่วงหนึ่งของการเสวนา "ถอดรหัสความสำเร็จต่อต้านคอร์รัปชัน ของสิงคโปร์และเกาหลีใต้สู่การปฎิบัติของไทย" ว่า หลายประเทศมีกฎหมายป้องกันทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งประเทศไทยต้องระวัง เนื่องจากเคยเกิดคดีสินบนข้ามชาติ "โรลส์-รอยซ์" ของการบินไทย ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศของสหรัฐฯ (FCPA) ห้ามไม่ให้ทำ
แม้ในทางปฏิบัติจะยังไม่ถูกใช้ แต่ในอนาคตหากมีคดีลักษณะนี้เกิดขึ้น สหรัฐฯ เกาเหลีและสิงคโปร์อาจปฏิเสธการซื้อสินค้า อาจทำให้บริษัทเอกชนหรือบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศในประเทศไทย เนื่องจากกลัวถูกปรับ
ส่วนที่เกาหลีใต้ การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐผ่านระบบออนไลน์ ได้ง่าย ถือเป็นความสำเร็จในการต่อต้านการคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง คดีทุจริตคอร์รัปชัน การเปิดเผยข้อมูลจะทำให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วม กล้าและพร้อมที่จะออกมาเปิดเผย ต่อต้านสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ต่างจากปัญหาที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้เมื่อคืนนี้ เมื่อ "ยุน ซอก-ยอล" ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ออกมาประกาศกฎอัยการศึก ต่อมาอีก 3 ชั่วโมงต้องยอมถอยหลังมีประชาชนออกมาชุมนุมกดดัน
"เกาหลีใต้กิโยตินกฎหมายสำเร็จ เพราะส่วนหนึ่งผู้มีอำนาจในรัฐบาลให้ความสำคัญ โดยประธานาธิบดี นั่งเป็นประธานเอง มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงและถาวร ตัดสินใจเด็ดขาด ไม่กลับไปกลับมา จนไม่ได้เดินต่อ ที่สำคัญ มีตัวแทนจากหลากหลายศาสตร์ วิชาชีพในคณะทำงาน ไม่ใช่มีแค่กฎหมาย ส่วนไทย แม้จะมีกฎหมายต่อต้านการทุจริตจำนวนมากก็จริง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นมากกว่า" ผศ.ดร.ต่อภัสร์ กล่าว
ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) อธิบายว่า ปัจจุบันเกาหลีและสิงคโปร์ มีปัญหาคอร์รัปชันน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับไทย เพราะสิงคโปร์เคารพในหลักนิติธรรม มีการเปิดเผยข้อมูลของรัฐต่อสาธารณะ มีการจำกัดอำนาจรัฐและบทลงโทษทางกฎหมายที่เข้มข้น ไม่มีการใช้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซงอำนาจเศรษฐกิจ จำกัดจำนวนโครงการสำคัญ ๆ
ส่วนเกาหลีใต้พบว่า การเติบโตของกลุ่มชั้นกลาง นายทุน ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ มีส่วนสำคัญในการผลักดันระบบแชโบล (เจ้าของกลุ่มบริษัทรายใหญ่ ผู้เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจเกาหลีใต้) ทำให้ภาคธุรกิจ สามารถเข้าไปกำกับดูแลนโยบายภาครัฐ ถือเป็นการเติบโตของคนรุ่นใหม่ของชนชั้นกลาง
"เกาหลีใต้ออก พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า มีผลต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ที่จะเข้ามาครอบงำกิจการในประเทศ และยังช่วยป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอีกทางหนึ่ง"
ขณะที่เจ้าหน้าที่ของไทย มีอภิสิทธิ์ในการใช้อำนาจมากเกินไป มีการคอร์รัปชันจากกระบวนการนิติบัญญัติ ในรูปแบบต่าง ๆ โกงในขั้นตอนทุจริตงบประมาณ และมีหลายหน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้อง และโกงแม้กระทั่งงบวิจัย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่ามีการของบไปใช้ในการทำวิจัยถึง 20,000 หมื่นล้านบาท โดยมีขบวนการคอร์รัปชันตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง โดยเฉือนงบกลางไป 2,000 ล้านบาท แบ่งให้กับสถาบันราชภัฎและสถาบันราชมงคล รวม 4 สถาบัน
"ถามว่าจะทำอย่างไรเมื่อพบว่า กระบวนการนิติบัญญัติ ออกกฎหมายเอื้อประ โยชน์ให้นายทุนพรรคการเมือง" ดร.นิมิตร ตั้งคำถามทิ้งท้าย
อ่านข่าว:
"กฎอัยการศึก" ยุน ซอก-ยอล ทางออก VS ฆ่าตัวตายทางการเมือง
กฎอัยการศึกจุดชนวนวิจารณ์ กระทบงานบันเทิงเกาหลีใต้