เป็นเรื่องแปลกอย่างมาก ที่ประธานาธิบดี "ยุน ซอก-ยอล" แห่งเกาหลีใต้ประกาศ "กฎอัยการศึก (Martial Law)" ด้วยเหตุผลที่ว่า "เพื่อการป้องกันภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือและผู้ต่อต้านรัฐบาล" กระนั้น กฎอัยการศึกนี้อยู่ได้เพียงไม่ถึง 3 ชั่วโมง ภายหลังจากมีการประชุมสมัชชาแห่งชาติ (รัฐสภา) เร่งด่วนจำนวน 190 เสียงยับยั้ง และมีการประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจแม้ยามดึกก็ตาม
มีการคาดการณ์จากสื่อต่าง ๆ ว่า คือ "ฆ่าตัวตายทางการเมือง" ของอดีตอัยการสูงสุดของประเทศ และถือเป็นการไม่เห็นหัวประชาชน กินรวบอำนาจเข้าสู่ผู้นำให้ฝ่ายบริหารสามารถดำเนินการผ่านคำสั่งประธานาธิบดี (Executive Order) แบบเบ็ดเสร็จ ทั้งที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า ภัยคุกคามทั้งสองอย่างที่กล่าวอ้าง เป็นจริงหรือไม่ และหากยุนได้รับการชี้มูลความผิดเข้าสู่ "การขับออกจากตำแหน่ง" หรือ "Impeacement" จะถือเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ในรอบกว่า 13 ปี ต่อจาก "พัค กึน-ฮเย" อดีตประธานาธิบดีจากพรรคเดียวกันทันที
อ่านข่าว : ไทม์ไลน์ผู้นำเกาหลีใต้ประกาศ "กฎอัยการศึก" ก่อนสภาโหวตคว่ำ
แน่นอน การกระทำที่ไม่สมเหตุสมผล นำผลร้ายมาสู่ตัวของยุนเองหรือไม่ และถือเป็นเรื่องแปลกมาก ซึ่งคนปกติไม่ทำกัน นักวิชาการด้านเกาหลีศึกษาตั้งวงถกแรงจูงใจและเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจของอดีตอัยการสูงสุดผู้นี้
"ขาดกึ๋นการเมือง-เป็ดง่อย" ชนวนก่อการ
ThaiPBS Online สัมภาษณ์ ศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ และกรรมการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.นิธิ เนื่องจำนงค์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, และ ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร อานันทศิริเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korean Association of Thai Studies : KATS) ถึงประเด็นดังกล่าว
โดย ศ.ดร.นภดล ให้ทัศนะว่า จริง ๆ เรื่องเพิ่งจะเกิดขึ้น เราไม่ทราบข้อมูลเชิงลึกถึงแรงจูงใจหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ต้องรอให้เวลาผ่านไปก่อน จะมีข้อเท็จจริงเปิดเผยออกมาเอง แต่จากการคาดการณ์ด้าน "บริบทและสภาพแวดล้อมทางการเมือง" ของยุน ซอก-ยอล ซึ่งเป็นลักษณะ "เชิงโครงสร้าง" ว่าเป็นเพราะเหตุใดเขาจึงเลือกตัดสินใจอย่าง "ไม่สมเหตุสมผล" และมีข้อสันนิษฐานที่พอจะเป็นไปได้ คือ ยุน "ขาดกึ๋นทางการเมือง" ล้วน ๆ
ไม่ใช่ว่า"ยุน"ไม่รู้กฎหมาย แต่เขาเป็นข้าราชการ เป็นอัยการมาทั้งชีวิต เวลาทำอะไรก็จะทำตามกรอบตามระเบียบ คิดอะไรเองไม่ค่อยได้ ถือว่าเป็นมือใหม่ทางการเมืองมาก ต่างจากประธานาธิบดีคนก่อน ๆ ที่มีประสบการณ์อย่างโชกโชน
หากไม่นับประธานาธิบดีที่มาจากทหาร หลังจากรัฐธรรมนูญ ปี 1987 ทุกคนล้วนผ่านงานการเมืองมาก่อนขึ้นเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็น โน แท-อู ที่เป็นมือขวาของ ชอน ทู-ฮวัน (ประธานาธิบดีทหาร) , คิม ยอง-ซัม และ คิม แท-จุง ที่เป็นแอคติวิสต์และ ส.ส., โน มู-ฮยอน ก็เคยเป็น ส.ส. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาสมุทรและการประมง, อี มยอง-บัก แม้จะเป็นนักบริหารธุรกิจ แต่ก็เคยเป็นนายกเทศมนตรีกรุงโซลมาก่อน, พัค กึน-ฮเย ไม่ต้องกล่าวถึง เพราะช่วยงานพ่อ (ประธานาธิบดี พัค ชอง-ฮี) มานาน หรือจนถึง มุน แจ-อิน ที่เป็นนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและเคยเป็นทีมที่ปรึกษาของ โน มู-ฮยอน มาก่อน
ยุน ไม่ใช่แบบนั้น แม้จะทำงานอัยการตงฉิน ถูกใจและเป็นที่รักยิ่งของประชาชน จน "People Power Party" ดึงตัวมาเป็นแคนดิเดต และขึ้นสู่อำนาจได้ แต่งานการเมืองต่างจากงานราชการ ไม่มีสูตรสำเร็จในการบริหาร ต้องใช้ "กึ๋น" อย่างสูง ลูกล่อลูกชน การประนีประนอม หรือการโน้มน้าวเรียกคะแนนเสียงต้องมี เมื่อรัฐบาลของเขาเกิดปัญหา สั่งการอะไรไม่ค่อยจะได้ ด้วยประสบการณ์ที่น้อยนิด แต่กลับได้รับพันธกิจที่ใหญ่เกินตัว เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ยุนทำอะไรแบบสิ้นคิดนี้ได้
ตอนประกาศกฎอัยการศึก ไม่มีใครรู้กับยุน เขาคุยแค่กับรมว. กลาโหม และก่อการเลย ส.ส. พรรคเดียวกันไม่รู้เรื่อง ขนาดสหรัฐอเมริกายังไม่รู้เรื่องเลยครับ ทราบพร้อม ๆ กับพวกเรา
ตามหลักการของการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จด้วยกฎอัยการศึกแล้ว หากหัวเรือประกาศต้องมี "ผู้รับลูก" เช่น บรรดาทหาร คณะรัฐมนตรี พรรครัฐบาล หรือมวลชน ต้องออกมาแสดงจุดยืนเคียงข้างว่าการกระทำนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ชอบธรรม และสมควร แต่ครั้งนี้ของยุน ไม่มีใครรับลูกเลย แม้แต่ ส.ส. พรรคเดียวกันยังแหกขี้ตาตื่นมาตอนตี 1 เพื่อลงมติยับยั้งเสียด้วยซ้ำ
ศ.ดร.นภดล กล่าวอีกว่า ยุนอาจจะรับแรงกดดันมาก ๆ ไม่ค่อยได้ เพราะขณะนี้มีปัญหาถาโถมการบริหารประเทศของเขานานับประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจาก "ภรรยา" ที่เกี่ยวข้องกับคดีปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือการครอบครองสินค้าราคาแพงที่ "ติดแกลม" เกินกว่ากฎหมายเกาหลีใต้กำหนด ปัญหาคอร์รัปชัน รวมไปถึงการเป็นปฏิปักษ์กับความหลากหลายทางเพศ ที่หมายจะยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยเผชิญยามเป็นข้าแผ่นดินทั้งสิ้น
การเป็นผู้นำประเทศ หากคะแนนนิยมต่ำกว่าร้อยละ 30 ถือว่าไม่ได้การ ต้องทำอะไรสักอย่างให้ความนิยมนั้นกลับมา สำหรับยุน ส่วนใหญ่อยู่ในหลักร้อยละ 20 ต้น ๆ เกือบตลอดสมัย แบบนี้ถือว่าอันตรายมาก เรียกได้ว่าเขาดำรงตำแหน่งบนความอื้อฉาวเลยทีเดียว
ด้าน ผศ.ดร.นิธิ ชี้ว่า อีกหนึ่งเงื่อนไขเชิงโครงสร้างสำคัญที่เป็นผลให้ยุนตัดสินใจก่อการอันเป็นความเสื่อมแก่ตนเอง คือ การเกิด "สภาวะเป็ดง่อย (Lame Duck) " ของฝ่ายบริหาร เนื่องจากการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (เลือกตั้ง ส.ส.) ในช่วงกลางปี 2024 พรรคประชาธิปัตย์ (Democratic Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาก ส่งผลให้การบริหารแผ่นดินของยุนทำได้ลำบากเพิ่มมากขึ้น
สิ่งที่ยากสุดของการได้เสียงข้างน้อยในสมัชชาแห่งชาติ คือ ยุนจะไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณในสมัยที่เหลืออยู่ของเขาได้ง่าย ๆ ซึ่งตรงนี้เหมือนตัดแขนตัดขาเขาในการบริหารบ้านเมืองไปโดยปริยาย นั่นอาจเป็นเหตุผลให้เขาเลือกที่จะใช้กฎอัยการศึก ซึ่งเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง
ผศ.ดร.นิธิ กล่าวต่อว่า การที่ยุนเลือกใช้ข้ออ้างว่าปกป้องประเทศจากภัยคุกคามทางฝั่งเหนือหรือผู้บ่อนทำลายประเทศ เป็นวิธีคิดแบบ "สงครามเย็น" ไม่แตกต่างจากรัฐบาลอำนาจนิยมทหารสมัยปี 1970 จริงอยู่ ที่ตอนนี้เกาหลีใต้อยู่ใน "สภาวะสงคราม" ตามหลักการ หรือมีการชุมนุมประท้วงของผู้ไม่พอใจยุน ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งสามารถที่จะประกาศกฎอัยการศึกได้ แต่เกาหลีใต้เดินทางมาไกลเกินกว่าจะกลับไปสู่จุดที่นึกจะประกาศอะไรแบบนี้ตามใจชอบได้มานานแล้ว
ที่มา: วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ตอนนี้ไวยากรณ์ทางการเมือง (Political Grammar) แตกต่างจากสมัยอำนาจนิยมทหารมาก ภาคประชาสังคมถือว่าแข็งแกร่ง ใช่ว่าสั่งการแล้วจะทำตามได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะฝ่ายบริหารก็ดี หรือฝ่ายทหารก็ดี ไม่สามารถควบคุมความไม่พอใจของประชาชนได้
ส่วน ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร ชี้ว่า การประกาศกฎอัยการศึกของยุนนั้นเป็นการ "โยนหินถามทาง" ที่ไม่ได้คาดการณ์ว่า จะมีแรงกระเพื่อมมากมายเพียงนี้ ขนาด ฮัน ทง-ฮุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นรุ่นน้องกันมาตั้งแต่สมัยเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ยังออกมาประนามการกระทำของยุน ทั้งที่โดยปกติแล้ว ฮันจะตามใจรุ่นพี่คนนี้ทุกอย่าง
ในเกาหลีใต้ มวลชนมีความเข้มแข็งมากพอที่จะหนุนเสริมสถาบันทางการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมือง สิ่งนี้ไม่ได้เป็นการชี้นำ แต่เป็นการที่พลังของประชาชนเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการทำงานของพรรคการเมือง เพื่อให้ข้อเรียกร้องของพวกเขาเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาเอง มากกว่าจะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร ยังชี้ให้เห็นว่า บรรดาฐานเสียงของยุนที่เป็น "ชายแท้" หรือกลุ่มที่ค่อนข้างเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ และมีความนิยมในระบอบทหาร ซึ่งเป็นคะแนนเสียงส่งให้เขาเป็นประธานาธิบดี ต่างก็ตีตนออกห่าง เหลือไว้แต่เพียงชายแท้ "แก่ ๆ" ที่มีฐานเสียงไม่มากนัก
ยุนเป็นผลผลิตของชายแท้แก่ ๆ เหล่านี้ วิธีคิดแบบยุค 1960-1970 ซึ่งถือว่าตามไม่ทันโลก โลกเขาไปถึงไหนต่อไหนแล้ว ดังนั้น ต่อให้ชายแท้จะเห็นควรกับยุนขนาดไหน ก็ไม่เพียงพอที่จะเห็นด้วยในเรื่องอื่น ๆ เช่น ระบอบการปกครอง เสรีนิยมประชาธิปไตย หรือกระทั่งความเป็นสมัยใหม่ของประเทศ
"ขาดฐานเสียงในพรรค-กองทัพไม่ข้องเกี่ยว"
ข้างต้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับยุนโดยตรง แต่เรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุดของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คือ "Kingmaker" หรือ "ผู้ให้การสนับสนุนภายในพรรค"ก็เป็นผลต่อการตัดสินใจของเขาไม่ต่างกัน เพราะสิ่งนี้กระทบถึง "ความแข็งแกร่ง" ในบัลลังก์ของเขาด้วย
ศ.ดร.นภดล เสนอว่า ยุนเป็นประธานาธิบดีจากการที่ "People Power Party" ส่งเทียบเชิญให้มาเป็นแคนดิเดต และการที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน จึงทำให้ไม่มี "ฐานเสียง" ภายในพรรคการเมือง หรืออาจจะเรียกว่า กลุ่มมุ้ง ภายในพรรคที่เป็นเสาเข็มค้ำยันอำนาจยามที่เพลี่ยงพล้ำหรือไร้แรงสนับสนุนจากมวลชน
เมื่อยุนไม่มีใครคอยหนุนหลัง เท่ากับ หัวเดียวกระเทียมลีบ หมากบนกระดานมีน้อย จึงทำอะไรมากไม่ได้ นอกจากต้องยอมถอย มติยับยั้งกฎอัยการศึกจากสมัชชาแห่งชาติจึงเห็นผล ปกติหากรุกเต็มกำลังแล้ว ไม่มีใครเขายอมกัน
ศ.ดร.นภดล แสดงความเห็นใจต่อยุนว่า การเปลี่ยนวิธีคิดจากราชการมาเป็นนักการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย และการไม่มีโอกาสสั่งสมบารมีภายในพรรคการเมืองก็เป็นเรื่องที่วกกลับมาทำอันตรายในภายหลัง พวกเดียวกันพากันถอยห่างหมด ตอนนี้ยุนเองก็หลังชนฝามาก ๆ
ส่วนผศ.ดร.นิธิ ชี้ว่า ควรให้ความสำคัญกับเงื่อนไข "การควบคุมโดยประชาชน (Civilian Control) " เป็นหลัก สังเกตได้จาก การที่กองทัพเกาหลีใต้ "ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว" ใด ๆ กับการที่มี ส.ส. แหกรั้วเข้าไปลงมติยับยั้งกฎอัยการศึก ทั้งที่จริง ด้วยการที่เป็นหน่วยงานผูกขาดความรุนแรงและอาวุธ สามารถกระทำการปราบปรามหรือยุติการกระทำได้ง่าย ๆ
ตั้งสมมุติฐานว่า กองทัพมีบทเรียนเมื่อครั้งปราบปรามผู้ชุมนุมที่ควังจู (Gwangju Massacre) ปี 1980 ทำให้เป็นที่รังเกียจของประชาชน ทำให้กองทัพเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างถาวร กองทัพปล่อยให้พลเรือนอยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากเปลืองตัว หลับตาข้างหนึ่งได้ก็ยินดีกระทำ
สอดคล้องกับ ศ.ดร.นภดล ระบุว่า กลยุทธ์ของการประกาศกฎอัยการศึก คือ ต้องให้ทหารหรือกองกำลังของตนเองวางกำลังคุมสถานที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาแห่งชาติ ธนาคารแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล หรือกระทั่งแลนด์มาร์กทางเศรษฐกิจ แต่การก่อการของยุนนั้น ทหารคุมเพียงสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งเห็น ๆ กันอยู่ว่าทำอะไรไม่ได้ มิหนำซ้ำ ทหารยังปล่อยให้ ส.ส. และมวลชนประท้วงอย่างเสรี ถือว่า "ไม่เป็นงาน" ใด ๆ ทั้งสิ้น
เห็นจากทหารไม่ออกมารับลูก ยุนไม่มีทางอยู่ได้แน่นอน และไม่อาจจะหาทางรอดได้แบบเนียน ๆ ด้วย เพราะตอนนี้สมัยทางการเมืองของเขาไม่มีแนวร่วมอีกต่อไป
ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร ยังชี้ว่า ให้กลับไปฟังแถลงการณ์ยุติกฎอัยการศึกของยุนให้ดี ๆ จะพบว่า ยุนออกแนวตัดพ้อชีวิตการทำงานของตน ว่าไม่มีใครเข้าข้าง ฝ่ายค้านก็คอยแต่จะขัดแข้งขัดขา งบประมาณนำมาผ่านร่างในสภาก็ยากเย็น
มีอยู่ 3 ข้อเรียกร้องที่ยุนฝากไว้ก่อนจะยอมถอย คือ ขอให้สมัชชาแห่งชาติไม่ขัดขวางการทำงานของฝ่ายบริหาร ขอให้สมัชชาแห่งชาติไม่ครอบงำประชาชน และขอให้ผ่านร่างงบประมาณในสมัยที่เหลืออยู่ สะท้อนความน้อยเนื้อต่ำใจได้เป็นอย่างดี เพราะหากยุนมีแผนการหรือแนวทางตอบโต้จริง ๆ จะไม่ทำแบบนี้
รธน.เกาหลี "มาตรา 77" ทางรอดที่เหลือ
แม้จะเข้าใจได้ว่า เงื่อนไขต่าง ๆ ไม่เอื้ออำนวยในยุนกระทำการได้ดั่งใจ และคาดการณ์ว่าประธานาธิบดีผู้นี้ไม่น่าจะ "รอดคุก"ได้อย่างแน่นอน แต่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ของเกาหลีใต้ ระบุว่า "ประธานาธิบดีสามารถจะประกาศกฎอัยการศึกได้ หากประเทศอยู่ในสภาวะฉุกเฉินจากภัยคุกคาม"
และเมื่อกฎอัยการศึกไม่เคยประกาศใช้ในเกาหลีใต้เลยมามากกว่า 40 ปี (ครั้งล่าสุดคือปี 1980) เป็นไปได้หรือไม่ว่า "การตีความ" ภัยคุกคามของยุน ว่ามาจากเกาหลีเหนือและกลุ่มต่อต้านในประเทศ จะถือได้ว่าสอดรับกับความสมเหตุสมผลในกฎอัยการศึกนี้
ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร ชี้แจงว่า เหตุผลเช่นนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะทั้งสองนั้นเป็นภัยคุกคามที่มีอยู่ตลอด ไม่ได้แปลกอะไร ในส่วนของเกาหลีเหนือ แม้จะมีการจับมือกับ วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย แต่การทดสอบยิงขีปนาวุธ แทบจะน้อยที่สุดในรอบ 20 ปี แถมยังไม่ได้มีความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย ส่วนภัยคุกคามภายใน การชุมนุมประท้วงหรือการปล่อยข่าวเท็จของฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองก็มีมาตลอด แต่ประธานาธิบดีคนอื่น ๆ เลือกใช้ "กระบวนการยุติธรรม" มากกว่าที่จะมาประกาศกฎอัยการศึกให้เป็นเรื่องใหญ่โตแบบนี้
แม้จะอ้างได้ว่า เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่การกระทำของยุนก็ออกจะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปมาก ไม่จำเป็นต้องทำเลย เป็นผลเสียมหาศาลที่จะทำให้เขาอยู่ไม่ได้เสียมากกว่า แม้แต่อดีตประธานาธิบดีจากพรรคเดียวกับเขา เช่น อี มยอง-บัก มีการโจมตีจากฝ่ายเกาหลีเหนือที่เกาะย็อนพย็อง มีชาวเกาหลีใต้เสียชีวิต ก็ใช้กระบวนการปกติ ไม่ต้องมาเล่นใหญ่อะไรเลย
แต่สิ่งที่ควรตระหนัก ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร ชี้ว่า ประเด็นการประกาศกฎอัยการศึกภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 1987 ของเกาหลีใต้ไม่เคยมีมาก่อน ไม่มีฎีกาหรือกรณีศึกษาให้เปรียบเทียบ หากจะยื่นถอดถอนหรือเอาผิด ไม่สามารถยกกรณีก่อนหน้า เช่น พัค กึน-ฮเย ที่เดินขบวนขับไล่ได้ เป็นเพียงเรื่องคอร์รัปชั่น ซึ่งโทษเบากว่ามาก
"ไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินแบบใด ยุนจะยื่นหลักฐานหรือชี้แจงได้ว่า ภัยคุกคามที่เขากล่าวอ้างเป็นความจริง ส่งผลกระทบต่อประเทศจริง ไม่มีใครทราบตื้นลึกหนาบาง แต่ยืนยันว่า ภูมิทัศน์ทางการเมืองของเกาหลีก็จะเหมือนเดิม อำนาจของประธานาธิบดีไม่มีทางสั่นคลอน เพราะชาวเกาหลีใต้มีระบบคานอำนาจของประธานาธิบดีผ่านสมัชชาแห่งชาติ โดยการเลือกตั้งกลางเทอม แต่ปัญหา คือ ประธานาธิบดีในรายบุคคลจะตัดสินใจได้ยากขึ้น" ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร ทิ้งท้าย
บทความโดย: วิศรุต หล่าสกุล
อ่านข่าว
พรรค DP-กลุ่มแรงงานเรียกร้อง "ยุน ซอก-ยอล" ลาออก