วันนี้ (3 ธ.ค.2567) ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดีอี เตรียมเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อเพิ่มบทลงโทษและความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันและปราบปรามอาชญกรรมออนไลน์ให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น
สาระสำคัญของการแก้ไข ร่างพ.ร.ก.จากฉบับเดิม เพิ่มบทลงโทษกรณีการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล จากโทษจำคุก 1 ปี เป็น 5 ปี
รวมถึงการเพิ่มความรับผิดชอบของสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ หากละเลย ไม่ดูแลระบบ ปล่อยให้มีการหลอกลวง เกิดเป็นผลกระทบสร้างความเสียหายต่อผู้ใช้บริการ พร้อมทั้งการติดต่มเร่งรัดคืนเงินให้ผู้เสียหาย จากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง
ขณะนี้ร่าง พ.ร.ก.ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่นี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากผ่านการตรวจร่างแล้ว นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี (ดีอี) จะเร่งเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
Google Play สกัดแอปปลอม 41,000 ครั้ง
ส่วนนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดีอี กล่าวว่า จากการจัดทำทำฟีเจอร์ Google Play Protect ซึ่งเป็นการสกัดช่องทางการก่อเหตุของมิจฉาชีพ ที่ต้องการจะเพื่อหวังดูดเงิน หรือข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน Google ในประเทศไทย
จากสถิติพบว่าตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ฟีเจอร์ Google Play Protect ได้ช่วยสกัดกั้นความพยายามของมิจฉาชีพ ในการติดตั้งแอปพลิเคชันที่มีความเสี่ยงไปแล้วกว่า 4.8 ล้านครั้ง บนอุปกรณ์ Android กว่า 1 ล้านเครื่อง บล็อกแอปพลิเคชันกว่า 41,000 รายการ จากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต เช่น เว็บเบราว์เซอร์ แอปรับส่งข้อความ หรือโปรแกรมจัดการไฟล์ ซึ่งรวมไปถึงแอปพลิเคชันปลอม ที่มีการแอบอ้างเป็นแอปรับส่งข้อความ แอปเกม และแอปอีคอมเมิร์ซที่ได้รับความนิยม