วันนี้ (3 ธ.ค.2567) นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย จะเสนอมาตรการเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ วงเงินเบื้องต้นกว่า 5,000 ล้านบาท ให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) พิจารณา และนำให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อวันนี้
โดยงบประมาณดังกล่าวเป็นเงินเยียวยาให้กับทุกจังหวัดที่ประสบภัย เป็นการจ่ายตามหลักเกณฑ์เดียวกับทุกภาคที่ประสบภัยในช่วงที่ผ่านมา สูงสุดครัวเรือนละ 9,000 บาท
การประเมินความเสียหายจะใช้ 2 หลักเกณฑ์ คือ น้ำท่วมฉับพลัน ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย น้ำท่วมขังไม่เกิน 7 วัน และกรณีน้ำท่วมขังเกิน 7 วัน
ความเสียหายจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้
โรงเรียนของหนูเสียหายหนัก
ขณะที่ไทยพีบีเอส เข้าสำรวจความเสียหายของสถาบันศึกษาปอเนาะตะฮ์ฟีซุลกุรอานดารุสลาม อ.ยะหา จ.ยะลา หลังถูกน้ำท่วมจนอาคารเรียนจมเกือบทั้งหมด
โดยเช้านี้เจ้าหน้าที่เข้าทำความสะอาดพื้น ท่ามกลางเด็กๆที่มาช่วยขนย้ายหนังสือเรียนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของโรงเรียนที่เสียหายอย่างหนัก หลังถูกน้ำท่วมเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ระดับน้ำสูงจนเกือบมิดหลังคาอาคารเรียน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง
อาคารเรียนที่เพิ่งก่อสร้างใหม่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด ฝาในห้องเรียนหลุดร่อน อุป กรณ์การเรียน หนังสือใหม่จำนวนมากจมน้ำเสียหาย ส่วนโต๊ะ เก้าอี้ รวมทั้งอุปกรณ์ในโรงครัว เต็มไปด้วยดินโคลนเสียหายทั้งหมด
บาบอของสถาบันศึกษาปอเนาะแห่งนี้ นำภาพขณะเกิดเหตุมาให้ดู พร้อมเล่าว่าระดับน้ำสูงเกือบ 4 เมตร เด็กนักเรียนในโรงเรียนปอเนาะ ต้องอพยพขึ้นไปอยู่ชั้น 2 ของอาคารละหมาด ส่วนโรงเรียนที่อยู่อีกฝั่งเสียหายทั้งหมด จึงยังไม่สามารถกำหนดวันเปิดเรียนได้
อ่านข่าว กรมชลฯ เร่งระบายน้ำภาคใต้ รับฝนตกหนักซ้ำ 3-5 ธ.ค.นี้
สั่งรับมือฝนระลอกสองภาคใต้ 3-5 ธ.ค.
น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้ ระหว่างวันที่ 3-5 ธ.ค.นี้ ตั้งแต่ จ.ชุมพร สงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน
แม้ว่าบางพื้นที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง และประชาชนที่ศูนย์พักพิงบางส่วนเริ่มทยอยกลับบ้านได้แล้ว แต่คาดว่าจะมีฝนตกหนักลงมาอีกในช่วงวันที่ 3-5 ธ.ค.นี้ รวมทั้งเฝ้าระวังพื้นที่อ่อนไหวต่อการเกิดแผ่นดินถล่ม
สำหรับการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ยังประสบอุทกภัย เจ้าหน้าที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ จัดตั้งศูนย์พักพิง จุดอพยพ การจัดตั้งโรงครัวรถประกอบอาหาร สนับสนุนรถผลิตน้ำดื่ม เร่งแจกจ่ายถุงยังชีพและช่วยเหลือขนย้ายผู้ประสบภัย น
อกจากนี้ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบินสำรวจสถานการณ์อุทกภัยเตรียมพร้อมปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ เพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
อ่านข่าวอื่นๆ
ไซโคลนเฟนญาลถล่ม "ศรีลังกา-อินเดีย" เสียชีวิตแล้ว 20 คน