"สหรัฐอเมริกา" ตลาดยักษ์ใหญ่ที่สำคัญของโลก และตลาดส่งออกเบอร์หนึ่งของไทย ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า 10เดือนแรกของปีนี้ ตลาดสหรัฐฯขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 มีมูลค่า 45,625 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสินค้าที่ขยายตัวสำคัญ คือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร ผลิตยาง ฯลฯ แสดงให้เห็นว่า ตลาดสหรัฐฯยังเป็นโอกาสของไทยในการขยายสินค้าเข้าไป
แม้ว่าจะต้องลุ้นว่า นโยบายของ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่จะกีดกันทางการค้าประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯอย่างไร ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ดุลการค้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าว
ล่าสุด นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะผู้บริหาร เดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและสินค้าของไทยและประกาศว่าไทยพร้อมเป็นมิตรกับทุกประเทศและทำการค้าอย่างเป็นมิตร
"ฮิสแปนิก"ตลาดทางเลือก โอกาสทองข้าวไทย
นายนิวัฒน์ หาญสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(ทูตพาณิชย์) นครลอสแอลเจลิส กล่าวกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ว่า ไทยสามารถเป็นแหล่งผลิตทางเลือกสินค้าเพื่อทดแทนจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯให้ความสำคัญ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ยา/สินค้าเวชภัณฑ์/อุปกรณ์ทางการแพทย์
โดยไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าที่เชื่อมอยู่กับการลงทุนของธุรกิจไทยในสหรัฐฯ เช่น พลาสติก เคมีภัณฑ์ บริการด้านซอฟแวร์และเทคโนโลยีฯ อาหารและเครื่องดื่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น
นายนิวัฒน์ หาญสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(ทูตพาณิชย์) นครลอสแอลเจลิส
สินค้าอาหารเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าข้าวที่นำเข้ามาขายตัวเกือบ 5% ส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์อินเดียแบนการส่งออกข้าว และผู้บริโภคหันมากินข้าวมากขึ้น คาดว่าปีนี้น่าจะมีการนำเข้าข้าวมูลค่าไม่ต่ำกว่า 125 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 10%
ข้าวไทยตอนนี้กินบุญเก่าอยู่ เพราะรุ่นพ่อแม่ยังคงนิยมกินข้าวไทย แต่หากหมดรุ่นนี้ไปข้าวไทยอาจจะถูกแชร์ตลาดไปดังนั้นเราต้องมองหาตลาดอื่นทดแทน ที่มองไว้คือตลาด ฮิสแปนิกในสหรัฐฯ ที่เป็นกลุ่มใหญ่มากและบริโภคข้าว
ขณะที่นโยบายของ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ทรัมป์จะเก็บภาษีนำเข้าเพราะไทยได้ดุลการค้ามาโดยตลอด อย่างน้อย10-20% ส่วนจะเป็นสินค้าประเภทใดนั้น ยังไม่ชัดเจนเนื่องจากทรัมป์ประกาศแบบกว้างๆ
โอกาสทองของไทย คือ หากจีนโดนภาษี 60% แน่นอนว่าผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าจากไทย ที่เห็นชัด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น อะไหล่รถยนต์ ยางรถยนต์ เพราะถึงโดนภาษีแต่ก็ยังน้อยกว่าจีน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากลัว สำหรับสินค้าไทยและผู้ประกอบการไทย คือ จีนต้องหาทางขยายฐานการลงทุน ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายและมีหลายบริษัทที่เข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งสหรัฐฯจับตาดูอยู่ เพราะ จีนจะติดโลโก้ “เมด อิน ไทยแลนด์ ” แล้วส่งออกไปสหรัฐฯ
ดังนั้น หน่วยงานรัฐต้องเข้มงวดควบคุมเรื่องมาตรฐานสินค้าในไทย และเฝ้าระวังติดตามสินค้าจีนที่มาผลิตที่ไทย แยกให้ออกว่าสินค้าชนิดใดผลิตจากบริษัทจีนสินค้าใดผลิตโดยคนไทย
ปลัดพาณิชย์เป็นห่วงเรื่องนี้มาก เพราะถ้าจีนโลโก้ผลิตที่ไทย แต่คุณภาพไม่ได้ หากสหรัฐฯ ตรวจสอบเจอไทยเองจะเสียชื่อและอาจจะโดนกักสินค้า เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก
บิ๊กอสังหาฯ แนะปรับตัว-พัฒนาสินค้าตอบโจทย์
นายสิทธิ ชัยสุโรจน์ ประธานบริษัท Land and houses ในตลาดสหรัฐฯ กล่าวว่า บริษัทเข้ามาลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ลอสแอลเจลิสหลายสิบปี ในส่วนใหญ่อยู่ทำเล West Coast ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ออริกอน และมีโครงการจะขยายการลงทุนไปยังวอชิงตัน ซึ่งกำลังซื้อในแต่ละทำเลแตกต่างๆกัน บางทำเลกำลังซื้อลดลง โดยพัฒนาเป็นอพาร์เม้นท์จับกลุ่มพนักงานไอที และโรงแรม
นโยบายของ ทรัมป์ ทุกคนต้องปรับตัวไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการไทยหรือนักลงทุน เพราะทรัมป์มีนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน
สำหรับนักลงทุนที่นำเข้าสินค้าไทย แน่นอนว่าจะโดนภาษี ประมาณ 10-20% แต่ถือว่ายังน้อยกว่าจีนจะโดนภาษี 60% อย่างไรก็ตามนโยบายดังกล่าวยังไม่แน่นอนจนว่าทรัมป์จะเข้ามาทำงานและประกาศนโยบายแบบทางการ
ทุกคนต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ผู้ประกอบการต้องศึกษากฎระเบียบของประเทศทีจะเข้าไปลงทุน การพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดเป็นเรื่องสำคัญ
นายสิทธิ แนะนำผู้ประกอบการที่ต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ว่า ภาครัฐต้องสนับสนุนผู้ประกอบการไทย การมีคอนเน็คชั่น พาร์ทเนอร์ลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหากรัฐบาลมาช่วยได้ตรงนี้จะทำให้นักลงทุนไทยเติบโตได้ในสหรัฐฯและตลาดอื่นๆ
สำหรับธุรกิจดาวรุ่งในตลาดสหรัฐฯยังคงมองว่า อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ร้านอาหาร ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคที่สหรัฐฯ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับสตาร์อัพ กลุ่มไอที เทคโนโลยีซึ่งถือว่าเติบโตอย่างมากในสหรัฐฯก็น่าจะเป็นโอกาสให้ธุรกิจไทยและผู้ประกอบการไทย
เข้ม "สินค้าจีน" สวมสิทธิไทยส่งออกสหรัฐฯ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการหารือกับทูตพาณิชย์ในภูมิภาคอเมริกาและลาตินอเมริกา เชื่อว่า สินค้าไทยจะได้ประโยชน์จากการที่ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง โดยอัครทูตและทีมพาณิชย์เป็นส่วนหนึ่งของทีมไทยแลนด์และเป็นทัพหน้าของประเทศในการแสวงหาโอกาสดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ไทย
และเน้นขยายตลาดสินค้าไทยในต่างแดนได้ให้นโยบายให้มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว ทูตพาณิชย์ทุกคนสามารถใช้งานรัฐมนตรีพาณิชย์มาช่วยขยายตลาดการค้าการลงทุนในประเทศต่างๆได้
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ตอนนี้ข้าวไทยขายดีมาก ราคาพุ่งขึ้นไปถึง 1,000 กว่าเหรียญสหรัฐฯ/ตัน ราคาในประเทศก็ดี รู้สึกดีใจแทนชาวนา นอกจากนี้ไทยจะส่งสินค้าไทยที่เป็น Next Level ให้มีการเพิ่มมูลค่า พัฒนาตัวเองทำสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าไฮเทคมากขึ้น
นายพิชัยกล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ทำงานล่วงหน้าคิดล่วงหน้า เพื่อหาโอกาสให้กับประเทศ ที่จะเป็นฐานการผลิตให้กับอเมริกาส่งสินค้ากลับไปที่อเมริกาและประเทศอื่นๆ และไทยโชคดีไม่ต้องเลือกข้าง ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย รัสเซีย ตะวันออกกลาง ต่างรักประเทศไทย การค้าการลงทุนทุกฝ่ายอยากได้ประโยชน์ จึงต้องจัดสรรประโยชน์ให้ลงตัว
และที่สำคัญในโลกการค้าอยู่ที่ความสัมพันธ์ หากมีความสัมพันธ์ที่ดีการเจรจาต่างๆก็จะง่ายขึ้น มั่นใจว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
ไทยจะเป็นผู้ผลิตให้กับอเมริกา หากจีนโดนกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้เจอปัญหาเรื่องการให้สินค้าจีนมาสวมสิทธิ์ ยืนยันว่าไทยไม่อนุญาต โดยไทยจะผลิตในไทยเพื่อส่งออก ทางจีนอาจมาร่วมมีเทคโนโลยีร่วมลงทุนร่วมทำได้ แต่ไม่ใช่มาสวมสิทธิ์
ทรัมป์ 2.0 นโยบายเกษตร-อาหารโลก ป่วน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สนค. ศึกษาและติดตามนโยบายของ ทรัมป์ ซึ่งมีกำหนดสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. 2568 ทำให้เกิดความกังวลอย่างมากต่อมาตรการทางการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการค้าโลกและไทย เพราะรัฐบาลทรัมป์ยังยึดแนวนโยบายหลัก “Make America Great Again” ที่ให้ความสำคัญและถือผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นที่ตั้ง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
สนค. ศึกษารายงาน Trump 2.0: Impacts on Global Food and Agriculture ของ Rabobank สถาบันการเงินของเนเธอร์แลนด์ที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร ระบุว่า การดำรงตำแหน่งรอบที่ 2 ของทรัมป์ จะสร้างความซับซ้อนให้กับการค้าสินค้าเกษตรและอาหารในระดับโลก และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการค้า (Trade Relationships) การเปลี่ยนแปลงอุปสงค์ของการส่งออก (Export Demand) ต้นทุนของธุรกิจและผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น
สงครามการค้า Trump 2.0 ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยว ข้องกับภาคเกษตรของทรัมป์ แต่ไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก มีจีนและสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 และ 2 ต้องติดตามสถานการณ์การค้า นโยบายที่สำคัญ รวมทั้งแนวโน้มการใช้มาตรการและการตอบโต้ของทั้งสหรัฐฯ จีน และประเทศต่าง ๆ ในอนาคตอย่างใกล้ชิด เพื่อแสวงหาโอกาสและเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อไป
ผอ.สนค.กล่าวอีกว่า การกลับมาของทรัมป์เป็นการส่งสัญญาณว่า ผู้บริโภคและบริษัทผลิตอาหารในสหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเงินเฟ้อจะเป็นแรงกดดันให้ผู้บริโภคพิจารณาถึงคุณค่าของสินค้ามากขึ้น มุ่งเน้นที่ความสะดวกสบาย เลือกบริโภคสินค้าที่เป็นแบรนด์ร้านค้าปลีก (Private Label) สินค้าหรูหราในราคาไม่แพง (Affordable Luxuries) และออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นครั้งคราว
สำหรับความต้องการบริการด้านอาหาร (Food Service) คาดว่าจะฟื้นตัวช่วงกลางปี 2568 เนื่องจากสถานะการเงินผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคสหรัฐฯ จะยังคงเลือกซื้อสินค้าโดยเน้นที่คุณค่าของสินค้าต่อไป
บริษัทผลิตอาหารในสหรัฐฯ ที่พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ จะมีต้นทุนสูงขึ้น อาจมีกำไรลดลง บริษัทอาจลดการนำเข้า เน้นใช้วัตถุดิบจากในสหรัฐฯโดยเฉพาะบริษัทเล็กอาจปิดกิจการหรือควบรวมกิจการกับบริษัทขนาดใหญ่
สถานการณ์ดังกล่าวจะผลักดันให้บริษัทแสวงหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ เช่น ปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ ลงทุนด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมและความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในอุตสาหกรรม เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
“การที่รัฐบาลทรัมป์จะเก็บภาษีกับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศในอัตรา 10-20% และสินค้าจากจีนที่สูงถึง 60% อาจส่งผลให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบออกมาตรการตอบโต้ โดยสินค้าประมงและแปรรูปของสหรัฐฯ มักเป็นเป้าหมายหลักในการเก็บภาษีตอบโต้ ซึ่งเมื่อรวมกับการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จะส่งผลเชิงลบต่อการส่งออกสินค้าประมงและประมงแปรรูปของสหรัฐฯ”
คงต้องติดตามต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้วการส่งออกไทยปี 2567 จะไปหยุดที่ตัวเลขขยายตัว 4% ตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้หรือไม่? ต้องไม่ลืมว่า ส่งออกไทยยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้ง ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐในอนาคต ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ รวมทั้งผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย ซึ่งปัจจัยลบดังกล่าวล้วนแต่เป็นปัจจัยฉุดให้ส่งออกไทยไปไม่ถึงฝั่งฝันได้
อ่านข่าว:
หอฯอันดามัน ห่วง “น้ำท่วมใต้” อาหารขาดแคลน -พื้นที่เกษตรจม
คลี่ยุทธศาสตร์การค้า โชว์พาว “สุนันทา กังวาลกุลกิจ” อธิบดีป้ายแดง