วันนี้ (30 พ.ย.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ปัตตานี แม้ขณะนี้น้ำท่วมจะยังไม่หลากเข้าท่วมพื้นที่ด้านในของโรงพยาบาลปัตตานี เพราะมีการก่อสร้างแบบยกสูง แต่บริเวณด้านหน้าของโรงพยาบาลมีน้ำท่วมเต็มพื้นที่ ส่งผลให้การเดินทางมาที่โรงพยาบาลปัตตานีเป็นไปอย่างยากลำบาก ผู้ป่วยทั่วไปบางคนต้องอาศัยรถของเจ้าหน้าที่ที่ยกสูงมาโรงพยาบาล แต่บางคนที่ออกมาจากบ้านไม่ได้ก็ต้องอาศัยยาสามัญประจำบ้านไปพลางก่อน

แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดสำหรับการดูแลโรงพยาบาลนั้น นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีปัญหาเรื่องไฟและน้ำ ซึ่งในส่วนของไฟฟ้าได้ประสานการไฟฟ้าให้เตรียมเครื่องปั่นไฟ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำรอบบริเวณโรงพยาบาล
ขณะที่น้ำประปาทราบว่าเหลือพอใช้ได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหยุดส่งน้ำหลังเครื่องยนต์ในการผลิตน้ำประปาถูกน้ำท่วมเสียหาย จึงต้องสำรองน้ำอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ป่วย โดยได้ระดมรถบรรทุกน้ำความจุคันละ 12,000 ลิตร จำนวน 4 คัน มาเตรียมการไว้ ซึ่งแต่ละวันโรงพยาบาลจำเป็นต้องใช้น้ำประมาณ 500 คิว
หากเปรียบเทียบรถ 500 คิวก็ประมาณ 12,000 ลิตร เราจึงเก็บน้ำเหล่านี้ไว้สำรอง หากน้ำของโรงพยาบาลหมด ก็จะดึงน้ำเหล่านี้ไปใช้ในโรงพยาบาลแทน

นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
ส่วนเขตเศรษฐกิจสำคัญอย่าง ถนนมะกรูด อ.เมืองปัตตานี ที่มีร้านค้าและสถานที่ราชการหลายแห่งยังถูกน้ำท่วม ซึ่งระดับน้ำสูงเกือบ 1เมตร ชาวบ้านบอกว่าแม้จะเตรียมตัวขนข้าวของหลังทราบว่า จ.ยะลา น้ำท่วมหนักและน้ำจะไหลมาสมทบที่ จ.ปัตตานี แต่ปริมาณน้ำสูงเกิดคาดการณ์ จึงทำให้สินค้าได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ส่วนพื้นที่รอบนอกเมืองปัตตานีอย่าง ต.บ่อทอง อ.หนองจิก บ้านหลายหลังระดับน้ำเกือบถึงหลังคา บางหลังชาวบ้านต้องอาศัยชั้น 2 ของบ้าน ส่วนบ้านที่อยู่บนที่สูงหรือบ้านริมถนนกลายเป็นจุดรวมตัวของญาติและผู้ประสบภัย แต่ด้วยสมาชิกที่อยู่ร่วมกันนับสิบคนทำให้อาหารและน้ำดื่มเริ่มขาดแคลน โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็ก ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ
ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่า เตรียมการเบื้องต้นด้วยการขนข้าวของเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ออกจากบ้านไปไว้บนที่สูง ตามเต็นท์พักชั่วคราวที่หน่วยงานต่างๆ นำมาตั้งไว้รองรับบนถนนสาย 42 หรือเส้นทางไป จ.ยะลา สายเก่า แต่ปริมาณน้ำมากทำให้ระดับน้ำขึ้นสูงถึงถนนและเต๊นท์ชั่วคราว
อ่านข่าว
นาทีชีวิต! ย้ายหญิงใกล้คลอด-ผู้ป่วยวิกฤตย้ายหนีน้ำท่วม
บริจาคด่วน อาหาร-นม-แพมเพิสเด็ก-ผู้ใหญ่ ส่งช่วยน้ำท่วมภาคใต้
น้ำท่วม 5 จังหวัดภาคใต้เสียชีวิตแล้ว 4 คน - กระทบ รพ. 7 แห่ง