ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ชาวนาไทย" จนซ้ำซาก ทีทีบี เสนอใช้เทคโนโลยีใหม่ เร่งผลผลิต

เศรษฐกิจ
29 พ.ย. 67
17:37
38
Logo Thai PBS
"ชาวนาไทย" จนซ้ำซาก ทีทีบี เสนอใช้เทคโนโลยีใหม่ เร่งผลผลิต
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ชี้ชาวนาไทยมีข้อจำกัด ถือครองที่ดินน้อย-ผลผลิตตกต่ำ ยากยกระดับคุณภาพชีวิต จี้รัฐยกระดับภาคเกษตร-ใช้เทคโนโลยีภาคเกษตรใหม่ เพิ่มผลผลิต

วันนี้ (29 พ.ย.2567) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics วิเคราะห์ สถานการณ์ชาวนาไทยและข้าวไทย ว่า ข้าว เป็นพืชที่มีความสำคัญเป็นแหล่งอาชีพหลักและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรวมถึงเป็นอาหารหลักของคนไทย อีกทั้งยังมีความสำคัญในฐานะพืชเศรษฐกิจที่สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 7 แสนล้านบาท สร้างรายได้กับประเทศจากการส่งออกข้าวกว่า 1.8 แสนล้านบาท หรือ 25% ของมูลค่าสินค้ากสิกรรมส่งออก ซึ่งถือว่ามากที่สุดของไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ข้าวจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจมากและสร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่ชาวนาในฐานะที่เป็นผู้ผลิตกลับมีข้อจำกัดของคุณภาพชีวิต สะท้อนผ่านข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ระบุว่ารายได้ภาคเกษตรของไทยปี 2566 อยู่ที่ 230,000 บาท และเมื่อหักรายจ่ายแล้วจะเหลือรายได้คงเหลือก่อนชำระหนี้อยู่ที่ 82,000 บาท

เมื่อเปรียบเทียบกับหนี้สินของเกษตรกรต่อครัวเรือนอยู่ที่ 243,000 บาท สะท้อนถึงภาระหนี้สินมากกว่ารายได้ที่หาได้ ปัญหาเรื่องหนี้ก็คงจะไม่สามารถบรรเทาเบาบางลง โดยเฉพาะกลุ่มชาวนาที่เป็นเกษตรกรผู้ผลิตข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้กลุ่มชาวนาเป็นกลุ่มที่ยังเผชิญกับปัญหารายได้ไม่ครอบคลุมต่อค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ที่มีอยู่ โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบ เช่น ปุ๋ย สภาพภูมิอากาศ และราคาขาย

ทั้งนี้ ttb analytics ได้ประเมินผลตอบแทนซึ่งหมายถึงรายได้หลังหักต้นทุนจากการปลูกข้าวในปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีผลตอบแทนเพียง 1,400-2,400 บาทต่อไร่ (ขึ้นอยู่กับมีพื้นที่ทำนาในครอบครองหรือไม่) ซึ่งหากมีการถือครองที่ดิน 20 ไร่ในเขตชลประทาน ก็ยังได้รับผลตอบแทนเพียง 96,000 บาทต่อปี

ปี 2568 คาดการณ์ว่า ต้นทุนการผลิตของชาวนา โดยเฉพาะปุ๋ยมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับปริมาณฝนที่จะกลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการเพาะปลูกปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,800-2,800 บาทต่อไร่

ผลตอบแทนดังกล่าวแม้อยู่บนเงื่อนไขที่ดี แต่เมื่อเทียบกับค่าจ้างแรงงานนอกภาคเกษตรยังถือว่าไม่เพียงพอกับรายจ่ายของครัวเรือน

ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ชาวนามีรายได้ 187,000 บาทต่อปี ถ้าชาวนาอยากได้ผลตอบแทนเทียบเท่าจำนวนดังกล่าว ต้องถือครองที่ดินในเขตชลประทานกว่า 52 ไร่ (กรณีมีค่าเช่านา) หรือ 34 ไร่ (กรณีมีที่นาเป็นของตนเอง) โดยค่าเฉลี่ยการถือครองที่ดินของชาวนาพบว่ามีการถือเฉลี่ยราว 10-20 ไร่

ttb analytics ระบุอีกว่า เป็นการสะท้อนถึงภาวะทรัพยากรที่มีอยู่ไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอให้ชีวิตทางการเงินของชาวนาไทยหลุดพ้นจากแรงกดดันได้ ดังนั้นการยกระดับความเป็นอยู่ชาวนาเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้น หากไม่ร่วมมือกันอย่างจริงจังทั้งชาวนาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

โดย ttb analytics มีข้อเสนอแนะไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชาวนา เช่น เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตร เพราะที่ผ่านข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ชี้ว่าผลผลิตข้าวเฉลี่ยของไทยต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ได้แก่ อินเดีย 13% และเมื่อเทียบกับเวียดนาม และจีน

พบไทยมีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่า 48% และ 52% ตามลำดับ ส่งผลให้ไทยมีความจำเป็นที่ภาครัฐควรเร่งนำเทคโนโลยีการเกษตรมาใช้ (Smart Agriculture) ทั้งในส่วนของเทคโนโลยีด้านกระบวนการเพาะปลูก เช่น การปรับพื้นที่ดิน ระบบหยดน้ำ และการใช้โดรน

ซึ่งสามารถช่วยให้ชาวนาประหยัดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงลง 7.3%% ลดปริมาณการใช้น้ำได้ 4% และช่วยเพิ่มผลผลิตขึ้นอีก 4% รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เพื่อปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ข้าวไทยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในการเพาะปลูก

การปลูกพืชทดแทนหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เช่น ข้าวสาลี ที่เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าข้าวเจ้าและข้าวหอมถึง 2-3 เท่า อาจเป็นทางเลือกของชาวนาที่มีนานอกเขตชลประทานควรพิจารณาเพื่อเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้ รวมถึงอาจหันไปจับตลาดเฉพาะกลุ่ม

เช่น การเพาะปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่ตอบโจทย์กระแสคนรักสุขภาพในปัจจุบัน และมีราคาขายข้าวเปลือกสูงกว่าข้าวทั่วไปที่ประมาณ 20-50% อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

รวมถึงการยกระดับชาวนาสู่ผู้ประกอบการ (From Farmers to Entrepreneurs) : ภาครัฐควรเพิ่มการสนับสนุนและให้ความรู้เพื่อยกระดับชาวนาที่มีศักยภาพและความพร้อม เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้มากขึ้นจากการขยับไปสู่สินค้าขั้นสุดท้าย

จากเดิมที่ได้รับกำไรเป็นสัดส่วนจากราคาสินค้าขั้นกลางที่เป็นเพียงวัตถุดิบ รวมถึงให้ความรู้กับเกษตรกรในเรื่องช่องทางจำหน่าย ที่ปัจจุบันการขายสินค้าทางการเกษตรมีความง่ายและสะดวกกว่าในอดีต ผ่านช่องทางออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างไร้พรมแดน และสามารถจัดส่งสินค้าผ่านผู้ให้บริการขนส่ง (Third Party Logistics) ที่มีพื้นที่บริการครอบคลุมทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ที่ดีของชาวนาจะเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้น เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ควรต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เริ่มจากชาวนาต้องยอมปรับเพื่อเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีช่วยมากขึ้น ลดความเป็นอัตตาเรื่องการเพาะปลูกที่ถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่น และเปิดรับหลักการที่เป็นสากล

รวมถึงแนวทางแก้ไขที่กล่าวไว้ข้างต้น และชาวนาเองก็ไม่อาจทำได้หากขาดแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐที่เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้ความรู้ รวมถึงจัดหาเงินทุน ความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับการยกระดับ

ทั้งนี้ เพื่อให้การยกระดับภาคเกษตรไทยให้มีการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า การปฏิวัติเขียวอย่างเป็นรูปธรรม (Green Revolution)ซึ่งมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในระยะยาว

อ่านข่าว:

ไอทีดี ชงรัฐ ขับเคลื่อน 4 อุตฯ รับมือความท้าทายโอกาสในอนาคต

 "คลัง" โอนเงิน 10,000 รอบจ่ายซ้ำครั้งสุดท้าย 19 ธ.ค. เร่งผู้มีสิทธิผูกพร้อมเพย์

"ส้มจุกจะนะ- มะม่วงเบา" GI เมืองสงขลา ส่งออกญี่ปุ่น ขายหน้าสวนโลละ 200 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง