ข่าวปลุกม็อบลงถนน กลับมาเป็นเรื่องให้ถกเถียงกันอีกครั้ง หลังจากสื่อรุ่นใหญ่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำสำคัญของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่เคยโดงดังในอดีต และทำให้รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ไปต่อ เมื่อการรัฐประหารเกิดขึ้นในปี 2549
นายสนธิ โพสต์วิดีโอ ‘3 เงื่อนไขของสนธิ ความจริงมีหนึ่งเดียวครั้งที่ 3 ผ่านช่องยูทูป เมื่อปลายเดือนก.ย.2567 ประกาศภารกิจต้นปีหน้า (ปี 68) 3 เรื่อง รวมทั้งเตรียมลงถนนครั้งสุดท้ายขับไล่รัฐบาล หากทำอะไรไม่เข้าที่หรือผิดจริยธรรม
และเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นในเวทีความจริงมีเพียง 1 เดียวเพื่อชาติครั้งที่ 4 ที่ หอประชุม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อไม่กี่วันก่อน โดยหยิบยกเรื่องสำคัญ 3-4 เรื่องที่เป็นความล้มเหลวของรัฐบาล ทั้งเอ็มโอยู 44 เรื่องที่ดินเขากระโดง รวมทั้งเรื่องคดีตากใบ นายสนธิได้โยนหินถามทางเอฟซีและคนไทยทั่วไปในทีว่าจะเอาอย่างไร จะร่วมชุมนุมกับเดือนละครั้งหรือไม่
แม้จะถูกวิพากษ์และด้อยค่า จากแกนนำในรัฐบาลหลายคนว่า กระแสปลุกม็อบของนายสนธิจะจุดไม่ติด แต่ในทางกลับกัน ได้เห็นความกังวลของฝ่ายรัฐบาลได้เช่นกัน ไม่ว่าข้ออ้างเรื่องไม่มีประเด็นหรือเงื่อนไขพอที่เรียกชุมนุมผู้คน อ้างบทเรียนรัฐประหารฉุดรั้งประเทศของนายชูศักดิ์ ศิรินิล มือกฎหมายของรัฐบาล หรือใช้สิทธิ์ได้ แต่อย่าให้ผิดกฎหมาย ของนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ดูแลความมั่นคง
นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ อดีตแกนนำมวลชนเสื้อแดง ที่พยายามพูดย้ำเรื่องกระแสชาตินิยม แต่ไม่วายแจกแจงประเด็นเอ็มโอยู 44 ที่คนไทยส่วนหนึ่งยังค้างคาใจ และอาจเป็นประเด็นที่อาจใช้เป็นแรงจูงใจจัดชุมนุมว่า รัฐบาลจะทำอย่างโปร่งใส โดยเอาทรัพยากรปิโตรเลียมกว่า 10 ล้านล้านบาท มาใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ
ก่อนหน้านี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังเคยร้องขอต่อนักร้องเรียนทั้งหลาย ให้รัฐบาลได้ทำงานก่อน ลูกยังเล็ก ย่อมสะท้อนให้เห็นความวิตกกังวลอยู่ในทีเช่นกัน
ขนาด พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ (ศรภ.) ยังเตือนว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุป เพราะม็อบจะจุดติดหรือไม่ติด อยู่ที่พฤติการณ์ของรัฐบาล ไม่ต่างจากนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำมวลชนเสื้อแดง ในฐานะแกนนำกลุ่มหลอมรวมประชาชน
อย่างไรก็ตาม กูรูทางการเมืองและนักวิชาการที่คว่ำหวอดหลายคน อาทิ รศ.ยุทธพร อิสรชัย รศ.ธนพร ศรียากูล และอีกหลายคน เชื่อว่าม็อบจะจุดไม่ติดเหมือนยุคสมัย กปปส. เพราะสถานการณ์ บริบท และปัจจัยเอื้อไม่เหมือนกัน
แต่มีนักวิชาการบางคนที่อาจมีมองแตกต่างออกไป เช่น รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ เห็นว่า มีปัจจัยเอื้อสำหรับการชุมนุม ตั้งแต่มีผู้นำการชุมนุมอย่างนายสนธิ
ซึ่งเป็นรู้จักดีในฐานะแกนนำผู้ชุมนุม มีคนเชื่อมั่นในตัวไม่น้อย และจะยังจะได้พันธมิตรจากกลุ่มหลอมรวมประชาชนของนายจตุพร และน่าจะรวมถึงสันติอโศก ซึ่งจะทำให้มีกำลังพลและเสบียงในการชุมนุมยืดเยื้อได้ในระดับหนึ่ง
แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลงานหรือการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเรื่องเอ็มโอยู 44 และที่ดินเขากระโดง ซึ่งกรณีหลังอาจจะได้มวลชนจากพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ อย่างกลุ่มรถไฟ
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าแรงจูงใจเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น หรือใช้อำนาจโดยมิชอบ สำหรับรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ยังไม้เด่นชัดเท่ากับเมื่อครั้งการชุมนุมกรณีรัฐบาลนายทักษิณ
ขณะที่ ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นว่า นอกจากเรื่องเอ็มโอยู 44 และที่ดินเขากระโดงแล้ว เรื่องที่อาจจุดกระแสความไม่พอใจของมวลชนได้ คือเรื่องการกลับประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ หากกลับมาแล้วไม่ได้รับโทษทัณฑ์ หรือมองว่าได้รับสิทธิพิเศษเหมือนกรณีนายทักษิณ
แต่กระนั้น หากจะหวังกำลังหนุนจากพรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคประชาชน คงต้องผิดหวังแน่ ๆ เพราะแกนนำอย่าง นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ โฆษกพรรค ประกาศชัดเจนแล้วว่า พรรคประชาชนจะไม่ลงถนนร่วมชุมนุม แต่จะยึดแนวทางต่อสู้ผ่านกลไกสภาฯ จึงจะส่งผลโดยตรงต่อพลังของกลุ่มผู้ชุมนุม อีกทั้งม็อบคนรุ่นใหม่ ที่เคยชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรทางความคิด และวิธีการกับพรรคประชาชน ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล
เหนืออื่นใด ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการจัดชุมนุม คือกลุ่มทุนที่ต้องมีเป็นหลักยืนพื้น เพราะการชุมนุมต้องมีค่าใช้จ่ายสาระพัด ไม่อาจอาศัยเพียงเงินลงขันบริจาคในหมู่ผู้ชุมนุมกันเองได้ ขณะที่กลุ่มทุนมือเติบ ตอนนี้ก็ประกาศสนับสนุนและเลือกอยู่ข้างฝ่ายรัฐบาลแล้ว ยิ่งอาจทำให้ความหวังปลุกม็อบลงถนน อาจต้องร้องเพลงรอต่อไปพลางก่อน
ยกเว้นดังที่หลายคนเห็นตรงกัน คือจุดยืนในเรื่องสำคัญๆ ของรัฐบาล หากเลินเล่อ ด้อยค่า หรือคิดว่าทำอะไรได้ตามอำเภอใจ อะไรๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น รวมทั้งม็อบลงถนน
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : รวมเบอร์โทรฉุกเฉิน-ช่องทางช่วยน้ำท่วมใต้ 2567 "ยะลา - ปัตตานี - นราธิวาส - สงขลา"
3 จังหวัดภาคใต้น้ำท่วมหนัก ประกาศภัยพิบัติแล้ว - ปัตตานีตาย 2