ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ไทย-เกาหลีใต้" สร้างเศรษฐกิจอาเซียน "พลังขับเคลื่อน" สู่เป้าหมาย

ต่างประเทศ
27 พ.ย. 67
15:02
114
Logo Thai PBS
"ไทย-เกาหลีใต้" สร้างเศรษฐกิจอาเซียน "พลังขับเคลื่อน" สู่เป้าหมาย

ปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศเริ่มเปลี่ยนจากการผลิตอุตสาหกรรมหนัก เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะหนัก มาสู่การผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะ ดนตรี เทคโนโลยี รวมทั้ง AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ต่าง ๆ เพราะลงทุนน้อยแต่ผลลัพธ์มหาศาล ทั้งด้านเม็ดเงินและการยอมรับในเวทีโลก โดยสิ่งนี้เรียกว่า "เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)"

เกาหลีใต้ คือ ประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ลำดับต้น ๆ ของโลก จากความนิยม "ความเป็นเกาหลี" ผ่าน ภาพยนตร์ ละคร และเพลง K-pop เช่น Gangnam Style ที่มียอดวิวใน YouTube มากกว่า 5,300 ล้านวิว และซีรีส์ K-drama เช่น Parasite ที่ได้รับรางวัลออสการ์มาแล้ว หรือแม้แต่วัฒนธรรมและอาหาร K-culture เช่น กิมจิ และการใส่ชุดฮันบกเดินที่ตลากทงแดมุน

"ประเทศไทยและอาเซียน" ถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีขีดความสามารถที่ก้าวขึ้นมายืนหนึ่งในเวทีโลกด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การยกระดับความร่วมมือด้านดังกล่าว ในวาระครบรอบ 35 ปี ความสัมพันธ์เกาหลีใต้-อาเซียน จึงมีความสำคัญที่จะทำให้ความฝันของไทยเป็นจริงได้

"เอกชนทำ - รัฐหนุน" สมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ในงานเสวนา "ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือเศรษฐกิจสร้างสรรค์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (Towards Enhanced ASEAN-ROK Partnership in Creative Economy)" ที่จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 35 ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN-ROK Day)  เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการหารือและถอดบทเรียนความสำเร็จของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เกาหลีใต้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไทยและอาเซียน และสอดรับกับความร่วมมือ สถาปนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Stratigic Partnership) ที่มีต่อกันในปี 2024 

ผศ.ดร.อี ซอง มิน อาจารย์ประจําภาควิชา Media Arts & Sciences มหาวิทยาลัย Korea National Open University ชี้ว่า แก่นแกนของการสรรค์สร้างเศรษฐกิจอยู่ที่ การได้รับ "การยอมรับ (Recognition)" ในเวทีโลก ดังนั้น โจทย์จึงไม่ได้อยู่ที่ว่า เราจะขายอะไร แต่อยู่ที่จะทำอย่างไรให้สิ่งที่มีได้รับการยอมรับในเวทีโลก

อาเซียนมีทรัพยากรมหาศาลในการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้เป็นคอนเทนต์สำคัญที่จะใช้เพื่อสร้างการยอมรับจากเวทีโลก และเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างแบบแผนที่อาเซียนต้องกระทำตาม

ผศ.ดร.อี กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการสร้างการยอมรับในเวทีโลก คือ "เรื่องเล่า (Narrative) " ของเราสัมพันธ์กับสากลโลกมากน้อยเพียงไร เกาหลีใต้เล็งเห็นถึงจุดนี้ จึงสร้างเรื่องเล่าของตนเองให้มีความสอดคล้อง เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกันต่อเวทีโลกเสียก่อน จึงค่อยขายของ ไม่อย่างนั้น พวกเขาจะไม่คุ้นชินกับความเป็นเรา

โดยวิธีการสร้างเรื่องผ่านบทเพลง K-pop แม้ไม่ใช้ภาษาเกาหลีร้อง ต่างประเทศก็สามารถเสพได้ ถึงจะไม่เข้าใจภาษาเกาหลี ภาพยนตร์เกาหลีใต้ ต่างชาติก็สามารถเสพได้ เพราะประเด็นที่ใช้เล่าเรื่อง สัมพันธ์กับประเด็นที่สากลโลกรับรู้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผศ.ดร.อี ย้ำว่า บทบาทที่สำคัญที่สุดในการริเริ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต้องให้บทบาท "เอกชนนำ" โดยรัฐบาลทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุน ทั้งในด้านนโยบายการเงินหรือนโยบายการแสวงหาตลาด ไม่ควรให้มาเล่นบทบาทนำ เพราะเอกชนจะเข้าใจดีว่า เราควรขายอะไร เราควรสร้างเรื่องเล่าแบบใด เป็นธรรมชาติของธุรกิจในการแสวงหาผลกำไร รัฐบาลมีหน้าที่ "ช้อน" สิ่งที่มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จเหล่านั้น เพื่อออกเป็นแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์

หัวใจหลักของเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือ Private do, Policy support … สำหรับอาเซียน รัฐบาลต่างให้การส่งเสริมและสนับสนุนเป็นอย่างดี ทีนี้ อยู่ที่ว่าความร่วมมือระหว่าง อาเซียน และ เกาหลีใต้ จะสามารถยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของอาเซียนได้อย่างไร

ผศ.ดร.อี เล็งเห็นว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของอาเซียน จะสามารถยกระดับได้ก็ด้วยการช่วยเหลือจากเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จมาก่อน ทั้งในเรื่องของการให้องค์ความรู้ เงินทุน หรือพื้นที่ในการโชว์ศักยภาพทางทรัพยากรเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตรงนี้ จะช่วยให้ทั้งสองรังสรรค์ "เรื่องเล่ารูปแบบใหม่ (Brand-new Narrative) " สะเทือนเวทีโลกได้อย่างไม่ยากเย็น

สอดคล้องกับ ผศ.ดร.กมล บุษบรรณ์ ผู้อํานวยการหลักสูตรสหสาขาวิชาเกาหลีศึกษา (นานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เสนอว่า มี 4 เงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เกาหลีใต้ยืนเด่นในเวทีโลก คือ ขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสูงของคอนเทนต์ , การพัฒนาแพล็ตฟอร์มและเครือข่ายออนไลน์, บทบาทนำของธุรกิจบันเทิง และสุดท้าย คือ การสนับสนุนผ่านนโยบายของรัฐบาลเกาหลีใต้อย่างเป็นระบบ

ทั้งหมดต้องทำงานสอดประสานกัน เนื่องจาก ทรัพยากรคอนเทนต์ขและการพัฒนาแพล็ตฟอร์มของเกาหลีใต้มีความพร้อม ทั้งจากการพัฒนาเศรษฐกิจ กลุ่มธุรกิจบันเทิง YG JYP หรือ SM เป็นระดับโลกที่เชี่ยวชาญด้านการตลาดและกลยุทธ์การขาย แต่ที่สำคัญ  รัฐบาลต้องออกนโยบายให้สอดรับมากพอที่จะยกระดับทรัพยากรและองคาพยพเหล่านี้

ผศ.ดร.กมล ยกข้อเสนอของ ศ.ดร.อี กึน อาจารย์ประจำ Graduate School of International Studies, Seoul National University ที่เสนอไว้ในงานวิจัย A theory of soft power and Korea's soft power strategy ว่า ความสำเร็จของเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจาก "วีรบุรุษ วีรสตรี หรือผู้มีชื่อเสียง (Heros and Celebrities)" ผู้เป็นตัวแสดงขับเคลื่อนทรัพยากรเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มากกว่าที่จะให้รัฐบาลเป็นหัวเรือทำเอง

หมายความว่า เงื่อนไขด้าน "ปัจเจกบุคคล" สำคัญที่สุด ต้องทำให้แสงสาดส่องมาที่พวกเขาก่อน รัฐบาลจึงจะชี้ได้ว่า ผู้นี้เป็นหนึ่งในองคาพยพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ควรส่งเสริม เช่น ลิซ่า อดีตสมาชิก Blackpink ก็โด่งดังมาก่อน รัฐบาลไทยจึงตามน้ำส่งเสริม

ผศ.ดร.กมล เสริมอีกว่า "อุปสรรคด้านภาษา (Language Barrier)" ต้องขจัดออกไปให้ได้ก่อนที่จะรังสรรค์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ อุปสรรคนี้ ไม่ใช่เพียงภาษา แต่รวมถึงเรื่องเล่า บริบท หรือบรรยากาศ (Vibes) ที่สร้างการรับรู้และยอมรับจากเวทีโลกด้วย ซึ่งเกาหลีใต้เล็งเห็นถึงจุดนี้ จึงกระทำการบางอย่างที่น่าสนใจในการขจัดอุปสรรคดังกล่าว เรียกว่า "Easy to learn"

"หลังการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ปี 1988 รัฐบาลเกาหลีใต้เล็งเห็นว่า การโฆษณาและประชาสัมพันธ์จะเกิดประสิทธิภาพได้ สากลโลกต้องเข้าใจเราก่อน ดังนั้น จึงริเริ่มการลงทุนในการให้ภาษาเกาหลีเข้าถึงได้ง่าย ให้เงินลงทุนแก่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาเพื่อบรรจุภาษาเกาหลีในหลักสูตร แพล็ตฟอร์มต่าง ๆ มีการใส่ Subtitle ภาษาอังกฤษ แต่ยังเป็นพากษ์เกาหลี เพื่อให้คุ้นชินกับภาษาเกาหลี มากกว่าการพากษ์ทับลงไป"

จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของไทยและอาเซียน ว่า กล้าทำอย่างที่เกาหลีใต้ทำหรือไม่ นอกจากนี้ กล้าลงทุนให้มหาวิทยาลัยในโลกตะวันตกบรรจุภาษาไทยเพื่อการศึกษาหรือไม่ ตรงนี้ เป็นความโหดหินที่หากไทยอยากยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้องเผชิญ

"วิธีคิดเกาหลี" ทะเยอทะยาน "สร้างทรัพยากร"

ในการถอดบทเรียนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เกาหลีใต้เพื่อประยุกต์ใช้กับไทยและอาเซียน จะเห็นว่า ความสำคัญอยู่ที่ "ภาคเอกชน" ที่ต้องเล่นบทบาทนำในการสร้างทรัพยากรเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ในเวทีโลกเสียก่อน รัฐบาลจึงค่อยช้อนหน้าแกงสนับสนุนให้เกิดผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง แต่คำถามที่ตามมา คือ "ระดับปัจเจกบุคคล" ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สุดของทรัพยากรเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีวิถีและการปฏิบัติให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร

ดร.ชัชชัย เช หรือ "โค้ชเช" ยอดผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ได้เปิดเผยประสบการณ์ตรงของการสร้างทรัพยากรเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ว่า ชาวไทยมีความแตกต่างจากชาวเกาหลี เพราะนักกีฬาขาดระเบียบวินัยอย่างมาก จึงทำให้ผู้ฝึกสอนต้องหงุดหงิดที่ต้องประสบปัญหาดังกล่าว

ผมมาประเทศไทยปี 2002 เซ็นสัญญา 8 เดือน ตอนแรก นักกีฬาไทยขาดระเบียบวินัยมาก ขนาดมาซ้อมสาย ยังเดินชิลล์ ๆ เรื่อยเปื่อย ทำผมอารมณ์เสีย ไล่ให้กลับไปนอน แถมยังมีฝีมือไม่ถึงในเรื่องเทควันโดอีกด้วย

โค้ชเช บอกว่า หากปัจเจกบุคคลแย่ ทรัพยากรที่ใช้สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็จะแย่ตามไปด้วย จึงปลูกฝังระเบียบวินัยในระดับที่เขาเคยได้รับการปลูกฝังมาจากเกาหลี พร้อมทั้งให้วิธีคิดว่าด้วย "ความทะเยอทะยาน (Ambition)" ว่าหากอยากให้เทควันโดไทยยืนเด่นในเวทีโลก เริ่มต้นง่าย ๆด้วยการทำตนเองให้มีระเบียบวินัยเสียก่อน

ผมไม่เคยติดเทควันโดทีมชาติเกาหลีใต้ ไม่เคยไปโอลิมปิก เอเชียนเกมส์ยังไม่เคยไปเลย เลยบอกน้อง ๆ ว่า ผมอยากชนะเกาหลีใต้

การมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ทำอย่างไรจึงจะไปสู่ฝันอันยิ่งใหญ่นั้นได้ สำคัญกว่ามาก โค้ชเช จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่มีความสามารถทางด้านเทควันโด เรียกได้ว่าเริ่มต้นจากศูนย์ แต่การเริ่มต้นด้วยพื้นฐานที่ถูกต้องเหมาะสม เช่น การสร้างระเบียบวินัย ทำให้สามารถเป็นเข็มทิศส่องทางให้ไปสู่ความสำเร็จได้ง่าย

เห็นได้จากการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก ปี 2020 และ 2024 ของ "เทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ที่เจ้าตัวต้องสละเวลาอันมีค่าตั้งแต่อายุ 13 เพื่อสานฝันของตนเองและโค้ชเชให้สำเร็จ ซึ่งเทนนิสมีระเบียบวินัยสูงมาก ขนาดที่ว่าแทบไม่เคยขอกลับไปบ้านเกิด จ.สุราษฎร์ธานี เลย เว้นแต่โค้ชเชอนุญาต

สอดคล้องกับ ณัฐวุฒิ ศรีหมอก หรือ "กอล์ฟ F.Hero" ศิลปินแร็ปและผู้ก่อตั้งค่ายเพลง High Cloud Entertainmentชี้ให้เห็นความสำคัญของพื้นฐานการสร้างปัจเจกบุคคลเพื่อความสำเร็จในอนาคตของเกาหลีใต้ ว่า นอกจากเรื่องความทะเยอทะยานหรือระเบียบวินัยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้คือ "Dynamic" หรือ "การพุ่งไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง"

เวลาผมดีลงานเพลงกับชาวเกาหลี ในการทำงานเขาจะโหดมาก ด่ายิ่งกว่าบุพการีด่าเรา แต่พอจบงานแล้ว คือ จบ ไม่มีนอก ไม่มีใน แสดงให้เห็นว่า เขามีแต่พุ่งทะยานไปข้างหน้า อยากให้ผลงานออกมาให้ดีที่สุด ไม่สนว่าใครจะคิดอย่างไร ประเทศไทยต้องเรียนรู้จากตรงนี้

การจะทะยานไปข้างหน้าได้ ต้องมีเป้าหมายชัดเจน เกาหลีใต้ต้องการที่จะได้รับการยอมรับในเวทีโลก หรือไม่ก็อยากสถาปนามาตรฐานสากลโลกด้วยตัวของเขาเอง รู้ว่าต้องทำอะไร เพื่ออะไร และจะได้อะไร ผู้ก่อตั้งค่ายเพลง High Cloud Entertainment จึงสรุปสูตรสำเร็จของเกาหลีใต้ได้ว่า "ระเบียบวินัย + การทะยานไปข้างหน้า = ทรัพยากรเศรษฐกิจสร้างสรรค์อันทรงประสิทธิภาพ"

แร็ปเปอร์ชื่อดัง ให้ข้อคิดเห็นว่า เราต้องเป็นให้ได้แบบที่เกาหลีเป็น ต้องปลูกฝังสูตรสำเร็จนี้ให้ได้ ความร่วมมือกันของเกาหลีใต้และอาเซียนถือเป็นสิ่งที่ดีที่จะเกิด "สะพานเชื่อมร้อยกัน" แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อให้อาเซียนสามารถที่จะเจริญรอยตามเกาหลีใต้ให้จงได้

ส่วน ศรุต ทับลอย ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) ชี้ให้เห็นการเลือกใช้เรื่องเล่าเพื่อให้เกิดการยอมรับของโลกที่มีต่อไทยและอาเซียน ว่า เราไม่ควรตามรอยเกาหลีทั้งหมด ควรคิดทรัพยากรที่มีอยู่อันหลากหลายขึ้นมาเอง ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเป็น "Home Sweet Home" เกมแนวสยองขวัญที่ดำเนินเรื่องโดยใช้ "วิญญาณ ความเชื่อ ไสยศาสตร์ และเรื่องสยอง" ของไทย

ผีไทยน่ากลัวที่สุดในโลก จริง ๆ ก็ผีทั้งอาเซียน ระดับสากลรู้พิษสงกันดี เราจึงทำเกม Home Sweet Home ขึ้นมา แม้ชื่อจะไม่เกี่ยวกับเรื่องผี แต่ผมอยากสื่อความหมายว่า บ้านเราดีที่สุด ไม่ต้องไปตามใคร

ซึ่งเป็นเช่นนั้น เพราะ Home Sweet Home ได้รับการตอบรับจากสากลโลกระดับมหาศาล ถึงขนาดได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด กระนั้น ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อิ๊กดราซิล กรุป จํากัด (มหาชน) ยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น เขายังผลักดัน Home Sweet Home ให้เป็นเกมออนไลน์ เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกเข้ามาร่วมวงได้มากขึ้น เป็นการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้ไทยอีกทางหนึ่ง

"ผมไม่อยากให้เราตามหลังฝรั่ง ตามหลังใคร ๆ เรามีเรื่องเล่าของเรา ที่จะยืนเด่นได้ในเวทีโลก จึงต้องมีแสงในตนเอง ไม่อยู่ใต้ร่มเงาของใคร เศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงจะเกิดขึ้นได้" ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อิ๊กดราซิล กรุป จํากัด (มหาชน) ปิดท้าย

อ่านข่าว

"โคริยวิถี" ดันทีมฟุตบอลเกาหลีใต้ "ยืนหนึ่ง" เวทีโลก

"ฝ่ามรสุมภูมิรัฐศาสตร์" ทางรอดไทย "เลิกเร้นกาย" ในเวทีโลก

"คนทรงเจ้า" อีเวนต์บรรเทาทุกข์ “Gen Z” เกาหลีใต้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง