ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คลี่ยุทธศาสตร์การค้า โชว์พาว “สุนันทา กังวาลกุลกิจ” อธิบดีป้ายแดง

เศรษฐกิจ
27 พ.ย. 67
13:23
259
Logo Thai PBS
คลี่ยุทธศาสตร์การค้า โชว์พาว “สุนันทา กังวาลกุลกิจ” อธิบดีป้ายแดง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

อุตสาหกรรมส่งออก ถือเป็น “หัวใจ” สำคัญของเศรษฐกิจไทย และยังเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ที่ทำให้ประเทศเดินหน้า แต่หลังจากวิกฤตโควิด 19 ภาคการส่งออกของไทยเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบทิศ ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน กำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศ หลายประเทศหันมาผลิตสินค้าใช้เองลดการนำเข้า ปัญหาโลกร้อน ภูมิรัฐศาสตร์ การขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ

รวมถึงปัจจัยเสี่ยงใหม่หลังจากยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีคนใหม่ที่มีนโยบายแข็งกร้าว อย่าง America First ที่อาจใช้มาตรการกีดดันทางการค้ากับประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ และสงครามการค้าระหว่างจีนที่กลับมาอีกครั้งซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งโลกประเทศไทย แม้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากมีดุลการค้ากับสหรัฐฯในบางอุตสาหกรรม

“ไทยพีบีเอสออนไลน์” สัมภาษณ์พิเศษ น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ “คนใหม่ป้ายแดง” จากการประชุมติดตามสถานการณ์การค้าตลาดสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 -21 พ.ย. 2567 ถึง ทิศทางการทำงานที่ต้องเร่งดำเนินการในปี 2568 และการกำหนดเป้าหมายตลาดส่งออกรายประเทศ

น.ส.สุนันทา เล่าว่า เมื่อครั้งนั่งรองอธิบดีที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ต้องอ่านหนังสือและเอกสารจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเรื่องงานเจรจา แต่พอมานั่งตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศซึ่งเป็นงานที่ต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ต้องศึกษาข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น ถือว่าเป็นงานยากคนละด้านกับงานเจรจาฯ

แม้จะไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องปรับมุมมองเพราะกรมส่งออกฯถือเป็นหน้าด่าน จะส่งเสริมในประเทศอย่างไร ผู้ประกอบการและลูกค้าอย่างไร โดยกรมฯมีสำนักงานพาณิชย์ 58 แห่งทั่วโลก ที่ต้องทำงานเชิงลึก รอบด้านมากขึ้น ต้องติดอาวุธให้กับทูตพาณิชย์

ในส่วนข้าราชการของกรมฯ ก็ต้องมีการพัฒนา ปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ เพื่อการบูรณาการในการทำงานการเพิ่มองค์ความรู้ โดยมีแผนที่จะหารือกับกรมเจรจาฯในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกรมเพื่อให้เกิดการทำงานที่รอบด้านมากขึ้น

“น.ส.สุนันทา กังวานกุลกิจ”  อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

“น.ส.สุนันทา กังวานกุลกิจ” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

“น.ส.สุนันทา กังวานกุลกิจ” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

มั่นใจ“สินค้าไทย” รุ่งในตลาดต่างแดน

น.ส.สุนันทา บอกว่า สำหรับภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเป็นอันดับแรก หลังมารับตำแหน่ง คือ เตรียมความพร้อมให้สินค้าไทยและมองหาโอกาสในตลาดต่าง ๆ รวมถึงติดตามนโยบายการค้าของแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่ประธานาธิบดีคนใหม่ นายโดนัล ทรัมป์ มีนโยบายแบบ America First และคาดว่า จะมีนโยบายกีดกันทางการค้ากับประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯไทยเองเป็นหนึ่งในประเทศที่มีดุลการค้า

โอกาสการค้าไทยสูงมาก หลังจากหารือกับผู้บริหาร Port of Long Beach ท่าเรือยักษ์ใหญ่ในแอลเอ ที่นำเข้าสินค้าไทยอันดับหนึ่ง เขาคาดหวังว่าจะได้ทำการค้ากับไทยมากขึ้นและมีสินค้าส่งมาที่ท่าเรือเพิ่มขึ้นด้วยถือว่าเป็นโอกาสของไทยเป็นอย่างมาก

สำหรับ Port of Long Beach เป็นท่าเรือที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนมีตู้สินค้าผ่านเข้าออกมากที่สุดของสหรัฐฯ และมากเป็นอันดับ 9 ของโลก มีท่าเทียบเรือ สำหรับขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 6 ท่า ท่าสำหรับขนถ่ายน้ำมันดิบ 5 ท่า เครนยกตู้คอนเทนเนอร์ 72 เครน มีสินค้าผ่านเข้าออกคิดเป็นมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ กระทรวงพาณิชย์จึงมองเห็นโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ

โดยปี 2566 มีปริมาณสินค้าเข้าออกรวม 16.6 ล้านตู้ขนาด 20 ฟุต เป็นสินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยประมาณ 360,803 ตู้ สินค้าที่นำเข้าจากไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ยางและผลิตภัณฑ์ 74,762 ตู้ 2.เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หม้อไอน้ำ 68,354 ตู้ 3.เครื่องจักรไฟฟ้า 55,324 ตู้ 4.เฟอร์นิเจอร์ 18,163 ตู้ และ 5.รถยนต์และส่วนประกอบ 14,728 ตู้

ถือเป็นโอกาสที่ดีในการขยายการส่งออก ที่จะเพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าจากไทยมายังสหรัฐฯ ผ่านท่าเรือลองบีชและท่าเรือลอสแอนเจลิสซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญอันดับหนึ่งที่ไทยส่งสินค้ามายังสหรัฐอเมริกา

จีน-สหรัฐฯ สะเทือนโลกการค้า “เทรดวอร์” โอกาสไทย

น.ส.สุนันทา กล่าวอีกว่า ปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ น่าจะกลับมาปะทุอีกครั้ง ดังนั้นไทยต้องมองว่าจะทำอย่างไรในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด และสามารถส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ได้ให้ทูตพาณิชย์ศึกษาว่าจะมีสินค้าไทยรายการใดที่สามารถส่งมาทดแทนได้

สินค้าที่ส่งมายังสหรัฐฯส่วนใหญ่เป็นยางและผลิตภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นโอกาสของไทย

สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศต้องทำงานเชิงรุกใกล้ชิดกับพาณิชย์จังหวัดที่ โดยเฉพาะ SMEs เพื่อสนับสนุนและเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการมากขึ้น ที่จะผลิตสินค้าและทดแทนในสินค้าที่จีนถูกกีดกันทางการค้า

กระทรวงพาณิชย์ ทำงานเชิงรุก คิดล่วงหน้า ไม่ตามหลัง เป็นพาณิชย์เชิงรุกเพื่อหาโอกาสให้กับประเทศ ไทยจะเป็นฐานการผลิตให้กับอเมริกาส่งสินค้ากลับไปที่อเมริกาและประเทศอื่น ๆ

หลังจากการประชุมกับทูตพาณิชย์ 11แห่ง ในทวีปอเมริกา ลาตินเมกา และแคนนาดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบนโยบายให้ทูตพานิชย์ ทำงานเชิงลึกมากขึ้น โดยเฉพาะเชิงรุกที่ต้องทำงานใกลชิดกับทางสำนักงานในประเทศด้วย เพราะถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะใกล้ชิดกับผู้ประกอบการในประเทศ

กรมฯพยายามทำงานให้เป็นทีมพานิชย์ที่แข็งแกร่งในการเชื่อมต่อภูมิภาค เพราะกรมฯมีเครื่องมือที่มีความพร้อมทุกด้าน ทั้งด้านการฝึกอบรม มีสำนักงานในต่างประเทศที่จะเป็นแขนขาในการช่วยผู้ประกอบการไทยบุกตลาดต่างประเทศ ดังนั้นทูตพานิชย์มีหน้าที่ไปสืบหาข้อมูลโอกาสของการค้าไทย สินค้าอะไรมีโอกาส

อธิบดีกรมการค้าฯ อธิบายว่า หลังจากนี้ภารกิจเร่งด่วนต่อไป คือ การหนดเป้าส่งออกปีหน้า ซึ่งได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ 58 แห่งทั่วโลก ประเมินสถานการณ์และหารือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่จะมองเห็นถึงโอกาสและปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ก่อนจะมีการประกาศเป้าอย่างเป็นทางการปลายปีนี้

“กรมฯจะประชุมกับภาคเอกชนเร็วๆนี้ เพราะการทำงานในปัจจุบันจะช้าไม่ได้ และกรมฯทำงานใกล้ชิดกับผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกมาโดยตลอด ดังนั้นต้องทำงานให้เร็วทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งวันที่ 16ธ.ค.นี้จะมีการหารือกับผู้ประกอบการ หลังจากนั้นรัฐมนตรีพาณิชย์จะจะประกาศเป้าส่งออกและจะมีการมอบนโยบายให้กับทูตพานิชย์ทั้ง 58 ประเทศทั่วโลก”

ดัน Rebranding Thai SELECT เทียบชั้นมิชลินสตาร์

สำหรับงานเร่งด่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ การผลักดันนโยบาย Soft Power อาหารไทย ที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ ปีงบประมาณ 2568 กรมฯดำเนินโครงการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศด้วยพลัง สร้างสรรค์ (Soft Power) ร่วมกับการขับเคลื่อนนโยบายด้วยเงินกองทุนส่งเสริมการค้า ระหว่างประเทศ ขับเคลื่อน Soft Power 4 กลุ่มสินค้าและบริการ ได้แก่ อาหาร (Thai SELECT) ,บริการ อาทิ ภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ ซีรีส์วาย WMS หนังสือ เกม มวย ,สินค้าแฟชั่น OTOP ไทย และ การสร้างแบรนด์ประเทศไทย ประชาสัมพันธ์Think Thailand

ล่าสุดเตรียมยกระดับThai SELECT เทียบชั้นมิชลินสตาร์ ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญ เนื่องจากว่าอาหารไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก หากมีการส่งเสริมผ่านตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ผ่านอาหารไทยจะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน มีร้านอาหาร Thai SELECT ในต่างประเทศ 1,664 ร้าน และร้านอาหารไทยทั่วโลก 18,852 ร้าน โดยเป้าหมายในปีต่อไป กรมฯจะปรับร้าน Thai SELECT ให้เข้าใจง่ายคล้ายมิชลินสตาร์ อาจมีการให้ดาวตามคุณภาพร้านอาหาร อาหาร และรสชาติ ซึ่งจะมีคณะกรรมการตัดสิน

นอกจากนี้ วางแผนบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านการออกแบบเชิงรุก ผ่าน กิจกรรม Thailand as Brand ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจสร้างสรรค์ ยุคใหม่สู่สากล ปี 2568 กำหนดเป้าหมายผู้ประกอบการได้ประโยชน์ 5,684 ราย สร้างมูลค่า การค้า 7,016 ล้านบาท (139 กิจกรรม) ทั้งนี้ ปี2569 จะส่งเสริม Soft Power สาขาอื่น ๆ เพิ่ม เช่น ดนตรี ศิลปะ/ศิลปะการแสดง ท่องเที่ยว เฟสติวัล

เจาะ"อินเดีย-ตะวันออกลาง" ส่งออกสินค้าอุปโภค-บริโภค

สำหรับแผนส่งออกในปีหน้า กรมฯมองเห็นโอกาสในตลาดอินเดีย เพราะว่าเป็นตลาดที่มีประชาชนกว่าพันล้านคน และปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่า อินเดียรู้จักไทยมากขึ้น  ดังนั้นสินค้าต่างๆของไทย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคจะเป็นโอกาสของไทย รวมไปถึงตลาดตะวันออกกลางถือว่าเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงและเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อ

นอกจากนี้ยังมีตลาดลาตินอเมริกา ที่ประเทศในแถบอาเซียน ทั้งมาเลเซีย จีน เข้าไปเจาะตลาดนี้แล้ว ดังนั้นไทยจะต้องไม่ตกขบวน กรมฯจะทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย ในอนาคตอาจจะมีการจัดคณะพิเศษไปสำรวจตลาดและมองหาโอกาสให้สินค้าไทย โดยเฉพาะ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เพราะในละตินอเมริกายังมีโอกาสมาก

สำหรับปัจจัยเสี่ยงปีหน้า นอกจากค่าเงินบาทที่ผันผวนแล้ว นโยบายของทรัมป์เป็นปัจจัยที่ทุกประเทศจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าจะมีนโยบายอะไรออกมา ซึ่งทูตพาณิชย์ต้องทำงานมากขึ้นและค่อยมอนิเตอร์นโยบายต่างๆของแต่ละประเทศว่าจะเป็นทิศทางใด

คงต้องรอดูฝีมือ "หัวเรือใหญ่"ที่แม้จะข้ามห้วยมาไม่ไกล จากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งแม้ว่าจะเกี่ยวข้องกับต่างประเทศเหมือนกันแต่รูปแแบบวิธีการในการทำงานอาจจะแตกต่าง แต่เชื่อว่า ชั้นชื่อของอธิบดีป้ายแดง ผู้มีประสบการณ์โชกโชนทั้งงานด้านเจรจา การภายในประเทศ  จะช่วยผลักดันให้ส่งออกไทยไปถึงเป้าหมายได้หรือไม่

 อ่านข่าว:

หอการค้าไทย มอบสมุดปกขาว เสนอรัฐ ปลุกเศรษฐกิจไทย โต 3 %

"เศรษฐกิจไทย 2025" มรสุมรอบใหม่ โจทย์ใหญ่ "สงครามการค้า"

“ไทย” ตั้งรับนโยบายทรัมป์ สนค.ชี้จับตาสินค้าต้นทุนต่ำทะลักไทย

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง