เกาหลีใต้ หนึ่งใน 4 เสือแห่งเอเชีย ประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 13 ของโลก ถือเป็นต้นแบบของเอเชีย ได้รับการยอมรับทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และกีฬา โดยเฉพาะการทำทีม "ฟุตบอล" ระดับชาติ จากสถิตและผลงานที่ผ่านมา
ทีมชาติเกาหลีใต้เข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกมากที่สุด จำนวน 11 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อปี 1954 และเข้ารอบสุดท้ายติดต่อกันมากที่สุดในเอเชีย จำนวน 10 ครั้งตั้งแต่ปี 1986-2022 แต่ที่โหดและหินที่สุด คือ ผลงานการคว้า "อันดับที่ 4" ในฟุตบอลโลก 2002 แม้ก่อนหน้านี้ จะมีข้อครหาเรื่องผลงาน และการคว้าเหรียญทองแดง ในการแข่งขันฟุตบอลชายโอลิมปิกเมื่อ 2012 ก็ตาม
ผลงานระดับปรมาจารย์ดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ แต่มาจากกระบวนการสร้างสรรค์ "Korean Way" หรือ "วิถีเกาหลี" ที่ติดตัวนักฟุตบอลตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ด้วยระยะเวลายาวนาน ผ่านการบ่มเพาะ ขัดเกลา และสร้างเสริมจนเป็นลักษณะเฉพาะ ที่สอดรับกับการพัฒนาจนทำให้กลายเป็นประเทศ "ยืนหนึ่ง" ด้านกีฬาฟุตบอลได้
เนื่องในโอกาสการครบรอบ 35 ปี ความสัมพันธ์ อาเซียน-เกาหลีใต้ การทำความเข้าใจวิถีเกาหลี อาจช่วยยกระดับวงการฟุตบอลอาเซียน โดยเฉพาะฟุตบอลไทยที่กำลังกู้ศรัทธาแฟนบอลเพื่อก้าวข้ามอาเซียน ให้โดดเด่นในเอเชีย และพุ่งเป้าไปถึงฟุตบอลโลกให้ได้

ค้น "จุดด้อย" แก้ไข-พัฒนา "วิ่งสู้ฟัด"
มีข้อมูลในแวดวงกีฬา ระบุว่า ในเบื้องต้นของการพัฒนาฟุตบอลเกาหลีใต้ สมาคมฟุตบอลไม่ได้วางแผนการพัฒนาฟุตบอลจากการสร้างจุดเด่น แบบที่ชาติอื่น ๆ กระทำ แต่หา "จุดด้อย" ของตนเองว่ายังขาดอะไร ทำให้ไม่สามารถที่จะต่อกรกับ เสือ สิงห์ กระทิง แรด ในเวทีโลกได้
บทความวิจัย The Study of Discourse on Change in South Korean Football: Between Tradition and Modernity, from Colonial to Post-Colonial เสนอว่า ในช่วงปี 1970-1980 สมาคมฟุตบอลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มานั่งหารือกันว่า ทำอย่างไรจึงจะสร้างรูปแบบการพัฒนาแนวทางฟุตบอลเกาหลีใต้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในวงเสวนานี้ ได้มีการหยิบยกข้อได้เปรียบของ "ญี่ปุ่น" เพื่อนบ้านคู่ขัดแย้งอดีตเจ้าอาณานิคมของเกาหลี ว่ามีการพัฒนา "ร่างกายแข็งแกร่ง" จนทำให้ทีมชาติไปได้ไกลถึงการคว้าเหรียญทองแดง ในปี 1968 ในขณะที่เกาหลีใต้ตกรอบแรกในปี 1964 และไม่สามารถผ่านการคัดเลือกในปี 1968 ได้
ชาวญี่ปุ่นร่างกายดีกว่าเด็กของเรามาก พวกเขาเหนือกว่าเราทุกอย่าง ดูเด็ก ๆ ของเราซิ ตัวแคระแกร็นทั้งนั้น ความแข็งแรงทางกายจึงต่ำอย่างมาก คงจะดีกว่านี้หากชนชนชั้นปกครองอยากให้ลูกหลานมาเป็นนักฟุตบอลบ้าง เกาหลีใต้คงจะชนะญี่ปุ่นได้ไม่ยาก

ขณะเดียวกัน เป็นเรื่องยากที่จะเลียนแบบ "ความเป็นยุโรป" ได้ทั้งหมด และแม้จะดึงดูดองค์ความรู้มาได้ แต่หาก "คุณภาพหรือร่างกาย" ไม่พร้อมรับ ก็จะเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ การลอกแบบตะวันตกมาทั้งกระบิ อาจทำให้เกาหลีใต้ "ขาดความเป็นตัวตน" ของตนเองไป ในที่สุด
จึงได้ผลลัพธ์ออกมาว่า เมื่อทรัพยากรทางฟุตบอลของเกาหลีใต้ ไม่ได้มีร่างกายที่แข็งแกร่งแบบตะวันตก และไม่ได้เลี้ยงลูกฟุตบอลติดเท้าหรือไปกับบอลได้คล่องแคล่วแบบลาตินอเมริกัน ดังนั้น วิถีทางเดียวที่จะทำให้ต่อกรกับนานาชาติได้ คือ "วิ่งสู้ฟัด"

ที่มา: บทความ The Study of Discourse on Change in South Korean Football: Between Tradition and Modernity, from Colonial to Post-Colonial
ที่มา: บทความ The Study of Discourse on Change in South Korean Football: Between Tradition and Modernity, from Colonial to Post-Colonial
วิธีการนี้ คือการเน้นหนักไปที่ "ความฟิต" วิ่งได้ไม่มีหมดตลอด 90 นาที และต้องพุ่งเข้าหาคู่ต่อสู้ด้วยความหนักหน่วง ใส่ไม่ยั้ง ถึงลูกถึงคน ไม่เกรงกลัวอาการบาดเจ็บ เพื่อให้คู่ต่อสู้ยำเกรงและเพลี่ยงพล้ำโดยง่าย ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ เล่นในลีกสูงสุดหรือเยาวชน นักเตะสัญชาติเกาหลีต้องเล่นแบบนี้ทั้งหมด จนในภายหลังกลายเป็น "Korean Way" หรือ "วิถีเกาหลี" ที่ฝังอยู่ใน DNA ทางฟุตบอล นานาประเทศทราบโดยทั่วกัน
วิถีเกาหลีนี้ มาพร้อมกับการเปิดฟุตบอลอาชีพของประเทศ นาม "เคลีก" ซึ่งบ่มเพาะผลผลิตทางฟุตบอลให้สามารถส่งออกแข่งขันยังเวทีโลกได้ โดยผู้บุกเบิก มีชื่อว่า "ชา บ็อม กึน" หรือ "ชาบูม" ยอดดาวยิงที่เติบโตมากับวิถีเกาหลี พร้อมทั้งโชว์วิถีเกาหลีให้ทั่วโลกได้เห็น จากการลงสนามให้กับ ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต และ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น ยอดทีมแห่งบุนเดสลีกา เยอรมนี และพาเกาหลีใต้ลุยฟุตบอลโลก 1986 ได้อีกด้วย

โคริยวิถี "ตอบโจทย์" ฟุตบอลร่วมสมัย
วิถีเกาหลีเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขจุดด้อยของทีมนักเตะเกาหลีใต้ โดยการสร้างให้เกิดความคิดว่า ต้องวิ่งสู้ฟัดไม่มีหมดตลอดทั้งเกม ทำให้เกาหลีใต้สามารถที่จะขึ้นมาทาบรัศมีฟุตบอลกับญี่ปุ่น และอาจจะเหนือกว่าเสียด้วยซ้ำในแง่ของผลงาน รวมถึงการส่งออกนักฟุตบอลไปยังโลกตะวันตก และไม่เพียงเท่านั้น วิถีเกาหลี ยังตอบโจทย์รูปแบบการเล่นของ "ฟุตบอลร่วมสมัย" อีกด้วย
ฟุตบอลร่วมสมัยไม่ได้เน้นที่ความสามารถเฉพาะตัว ให้อิสระนักเตะ เล่นตามมีตามเกิด เช่น "วิถีแซมบ้า" ของทีมชาติบราซิล แต่เน้นหนักที่ "Pressing" หมายถึง การบีบพื้นที่คู่ต่อสู้ด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้คู่ต่อสู้ตั้งหลักไม่ทัน พร้อมทำให้ฝ่ายเราได้ครอบครองบอล โจมตีด้วยความว่องไว สร้างความได้เปรียบในการใช้พื้นที่ในสนาม ซึ่งคุณลักษณะนี้ มีความคล้ายคลึงกับวิถีเกาหลีอย่างมาก ทำให้นักฟุตบอลสัญชาติเกาหลี กลายเป็นสินค้าเกรดพรีเมียมในเวทีโลก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ "พัค จี ซ็อง" กองกลางพันธุ์ไดนาโมของ "แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด" ถือเป็นนักเตะพลังโสมที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน บรมกุนซือ โปรดปรานอย่างมาก เพราะเป็นนักเตะที่ทุ่มเทเพื่อทีม ไม่สนการสร้างผลงานส่วนบุคคล ทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ไม่มีแตกแถว และไม่มีออกอาการงอแง

จนกระทั่ง เขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างตำนานพลพรรคปีศาจแดง ในการคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในปี 2008 และที่สำคัญ ในปี 2002 บรรดานักเตะพลังโสมนำพาวิถีเกาหลี คว้าอันดับที่ 4 ในฟุตบอลโลกที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่น
หากไม่สนใจคำครหาว่ามีนอกมีในเรื่องการตัดสิน จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นรอง แต่เกาหลีใต้ "แบตอึด" วิ่งไม่มีหมด กดดันทีมชาติยักษ์ใหญ่ของตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น โปรตุเกส อิตาลี หรือสเปน ได้อย่างอยู่หมัด

ด้วยมรดกนี้ ส่งผลให้นักฟุตบอลจากเกาหลีใต้มีเครื่องหมายการค้าว่าสอบผ่านมาตรฐานตะวันตก นักเตะในยุคต่อ ๆ มา สามารถไปค้าแข้งได้อย่างสบาย ๆ ทุกสโมสรพร้อมอ้าแขนรับ โดยปรากฏการณ์ทางฟุตบอลที่เกิดขึ้น คือ "ซน ฮึง มิน" กองหน้ากึ่งปีกกัปตันทีมชาติเกาหลีใต้ในปัจจุบัน ที่สามารถคว้า "ดาวซัลโวพรีเมียร์ลีก" เป็นนักเตะเอเชียคนแรกที่ทำได้
ด้วยการนำทัพของ "ซนนี" ทีมชาติเกาหลีใต้สามารถยัดเยียดความปราชัยให้แก่ยักษ์ใหญ่ของโลก อย่าง "เยอรมนี" ในฟุตบอลโลก 2018 และ "โปรตุเกส" ที่นำทัพโดย "คริสเตียโน โรนัลโด" ศูนย์หน้าระดับจักรวาล ในฟุตบอลโลก 2022 มาแล้ว

"เรียนรู้-ซื้อใจ-หาสมดุล" วิถีทางทีมฟุตบอลไทย
กล่าวได้ว่า วิถีเกาหลีนั้น "มาก่อนกาล" และสามารถพัฒนาสอดรับกับฟุตบอลร่วมสมัยได้อย่างไม่เคอะเขิน คำถามที่ตามมา คือ เมื่อประเทศที่เคยอยู่ในจุดที่แทบจะต่ำที่สุด สามารถพลิกฟื้นกลับมามีที่ยืนในเวทีโลก และได้รับการยอมรับในวงกว้างได้สำเร็จ เช่นนี้ อาเซียน โดยเฉพาะ ประเทศไทย ที่พอจะมีต้นทุนอยู่เล็กน้อย ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ จะสามารถพัฒนาวงการฟุตบอลให้ไปสู่ระดับโลก โดย "ถอดบทเรียนหรือปรับใช้" วิถีเกาหลีได้หรือไม่?
เสกสรร อานันทศิริเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korean Association of Thai Studies : KATS) และนักวิจัยแห่งศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (International Studies Center : ISC) กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า วิถีเกาหลี หรือ "โคริยวิถี" เป็นเรื่องที่แทบจะไปกันไม่ได้กับความเป็นไทย
แบบไทยคือต้องซื้อใจก่อน ไปสั่งมาก ๆ เดี๋ยวลาออก ไม่ยอมทำงาน แต่เกาหลีไม่ใช่แบบนั้น เพราะยอมแบบไม่มีเงื่อนไข เพื่อความสำเร็จที่จะตามมาในอนาคต

ดังนั้น ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ KATS จึงเสนอว่า ต้อง "เรียนรู้" หาสมดุลให้ได้ เชื่อว่าประเทศไทยมีฝีมือ ไม่เป็นสองรองใครในเรื่องฟุตบอล ติดตรงที่ไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในกีฬาประเภททีม ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากมาก
หรืออีกทางหนึ่ง เราเห็น "โค้ชเช" ประสบความสำเร็จในการพาทัพนักกีฬาเทควันโดไทย คว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 2020 และ 2024 โดย "เทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ก็อาจ "พอมีหนทาง" ที่โคริยวิถีจะสามารถนำมาปรับใช้กับวงการฟุตบอลได้ แต่เราต้องปรับเข้าหาเขา ไม่ใช่ให้เขาปรับเข้าหาเรา

บทความโดย: วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
Investigation of Institutional Discourse on Change in South Korean Football from 1945 to Pre-2002 FIFA World Cup, The development of football in Korea, The Study of Discourse on Change in South Korean Football: Between Tradition and Modernity, from Colonial to Post-Colonial, ยาม้ายังอาย : ว่าด้วยการเล่นแบบ "วิ่งสู้ฟัด" ของทีมชาติเกาหลีใต้, เสกสรร อานันทศิริเกียรติ : คุยทุกเรื่อง "ความเป็นเกาหลี" ในโลกกีฬา
อ่านข่าว
"โธมัส ทูเคิล" กุนซือต่างชาติกับ "ความหวังใหม่" ของอังกฤษ ?