ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดบทเรียนไฟป่าดอยสุเทพ จุดเสี่ยง คือ ป่ารอยต่อ อุทยานฯ เร่งสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ดับไฟป่า

ภูมิภาค
23 พ.ย. 67
16:55
59
Logo Thai PBS
ถอดบทเรียนไฟป่าดอยสุเทพ จุดเสี่ยง คือ ป่ารอยต่อ อุทยานฯ เร่งสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ดับไฟป่า
"ดอยสุเทพ" ผืนป่าใหญ่ใกล้เมืองเชียงใหม่ คือ 1 ใน 8 กลุ่มผืนป่าที่มีการเฝ้าระวังไฟป่า เพราะหากเกิดไฟป่ารุนแรงจะส่งผลให้เกิดฝุ่นPM2.5 ปกคลุมเมืองเชียงใหม่

แม้ปีที่ผ่านมาการเฝ้าระวังป้องกันของหน่วยงาน และ ชุมชน จะช่วยให้ไฟป่าลดลงกว่า 35% แต่ปีนี้ยังต้องปรับแผนยกระดับให้เข้มข้น โดยเฉพาะจุดเสี่ยงในผืนป่ารอยต่อระหว่างอำเภอหางดง และ อำเภอสะเมิง ล่าสุดเร่งสำรวจพื้นที่เสี่ยงเตรียมสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ 4 จุด เพื่อสนับสนุนภารกิจดับไฟป่า

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดเฝ้าระวังไฟป่า ลานป่าสน ดอยม่อนเลี่ยม บ้านแม่แมะ ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในจุดเฝ้าระวังไฟป่า ตามปฏิบัติการ "เสือเฝ้าป่า" ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1 แสน 6 หมื่นไร่ เพื่อให้สามารถส่งกำลังเข้าควบคุมไฟได้ภายในเวลา 20 นาที

ปฏิบัติการ "เสือเฝ้าป่า" เป็นแผนรับมือไฟป่าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กว่า 80 คน จะเข้าประจำจุดเฝ้าระวังไฟป่าตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน ปฏิบัติการนี้ มีส่วนทำให้ไฟป่าในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ลดลงจากปีก่อนหน้ากว่า 35%

ล่าสุดอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ร่วมกับสถานีควบคุมไฟป่าภูพิงค์จังหวัดเชียงใหม่ ใช้เฮลิคอปเตอร์กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบินสำรวจพื้นที่เสี่ยงรอบผืนป่าดอยสุเทพ เพื่อวางแผนเตรียมสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ 4 จุด ในจุดที่การเดินเท้าเข้าถึงได้ยาก และ จำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์สนับสนุนภารกิจดับไฟป่า

ภูพิชิต ช่วยบำรุง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

ภูพิชิต ช่วยบำรุง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

ภูพิชิต ช่วยบำรุง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

ภูพิชิต ช่วยบำรุง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เล่าว่าแม้แผนรับมือไฟป่าของอุทยานฯ รวมทั้ง มาตรการของจังหวัดเชียงใหม่ และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะได้ผลดี มีสถิติไฟป่าลดลงมาก

แต่จากการถอดบทเรียนก็ยังพบช่องว่าง และ ข้อจำกัดในการจัดการเชื้อเพลิงพื้นที่เสี่ยงไฟป่า เพราะจากสถานการณ์ฝุ่นควันที่รุนแรงขึ้น ทำให้แผนการจัดการเชื้อเพลิงต้องถูกยกเลิกไป พื้นที่เหล่านั้นจึงยังเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าโดยเฉพาะในท้องที่เขต ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่

อีก 1 ประเด็น คือ ระยะเวลาเกิดไฟป่าที่ยืดยาว ทำให้หลังวันที่ 30 เมษายน ซึ่งสิ้นสุดการประกาศห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิดของ จ.เชียงใหม่ พื้นที่ดอยสุเทพยังเกิดจุดความร้อนขึ้นมากในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอแม่ริม นี้จึงเป็นประเด็นที่จะต้องหาแนวทางขับเคลื่อนเพิ่มเติม รวมไปถึงการบูรณาการให้เกิดความชัดเจน ไม่มีช่องว่างระหว่างพื้นที่รอยต่อระหว่าง ตำบล และ อำเภอ ที่มักจะเกิดปัญหาในการเข้าไปปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ

ผืนป่าดอยสุเทพแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพื้นที่ป่าหน้าดอยสุเทพ และ กลุ่มหลังดอยสุเทพ โดยกลุ่มพื้นที่ป่าหน้าดอยสุเทพอาจจะไม่มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเนื่องจากอยู่ใกล้ตัวเมือง ส่วนฝั่งหลังดอยสุเทพเขตรอยต่อ ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ และ ต.บ้านปง อ.หางดง จะยังมีการวางแผนการลดปริมาณเชื้อเพลิง โดยปีนี้อุทยานฯ ได้รับงบประมาณในการส่งเจ้าหน้าที่เข้าประจำจุดเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง 18 จุด ส่วนพื้นที่รอบนอกระหว่างรอยต่อชุมชนกับเขตป่า ก็ยังมีจุดตรวจบูรณาการท้องถิ่น ชุมชน และ หน่วยงานต่างๆ 37 จุด เช่นเดิม

นโยบายของกระทรวงฯ เน้นย้ำให้บูรณาการในที่นี้ ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ ชุมชน ท้องถิ่น แต่ครอบคลุมถึงเครือข่ายภาคประชาชนที่จะเข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายภาคประชาชน กลุ่มโดรนอาสา หรือ สิ่งต่างๆ ที่จะมาปิดช่องโหว่ส่วนที่ทางหน่วยงานไม่สามารถสนับสนุนได้ เพื่อที่จะดูแลเรื่องไฟป่าและฝุ่นควันให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

เมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา ประธานเครือข่ายชุมชนบ้านม้งรอบดอยสุเทพ 12 หมู่บ้าน บอกว่าช่วงฤดูฝุ่นควันที่ผ่านมาในพื้นที่ป่าใกล้ชุมชนแทบจะไม่มีไฟป่าเกิดขึ้น เพราะชาวบ้านให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และ ปัญหาฝุ่นควันไฟป่าก็เป็นภารกิจที่สำคัญสำหรับเราซึ่งอาศัยอยู่ในผืนป่าที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดไฟ

เมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา ประธานเครือข่ายชุมชนบ้านม้งรอบดอยสุเทพ 12 หมู่บ้าน

เมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา ประธานเครือข่ายชุมชนบ้านม้งรอบดอยสุเทพ 12 หมู่บ้าน

เมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา ประธานเครือข่ายชุมชนบ้านม้งรอบดอยสุเทพ 12 หมู่บ้าน

สำหรับเครือข่ายชุมชนบ้านม้งรอบดอยสุเทพ 12 หมู่บ้านเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของชุมชนต่างๆ เพื่อช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมจนเป็นที่ประจักษ์ก่อนที่ส่วนราชการจะเห็นความสำคัญ และ เข้ามาร่วมบูรณาการทำงาน

ปีนี้ สิ่งที่อยากจะพัฒนา คือ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่มีความทันสมัย เช่น โดรน หรือ กล้องถ่ายภาพ มาช่วยในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ และ ให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างรวดเร็ว และ ทำได้ครอบคลุมมากขึ้น ในส่วนของชาวบ้านในผืนป่า ทุกชุมชนต้องมีความรับผิดชอบ ปฏิบัติตามกติกากฎระเบียบของแต่ละหมู่บ้านซึ่งใน 12 เครือข่าย ทุกบ้าน ทุกหลังคาเรือน จะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการไฟป่า

แต่สิ่งที่ประธานเครือข่ายชุมชนบ้านม้งรอบดอยสุเทพ 12 หมู่บ้าน กำลังกังวล คือ ความเห็นต่างในเรื่อง ร่าง พ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่ออกมาล่าสุด ซึ่งภาคประชาชนมองว่าจะส่งผลกระทบต่อที่ดินทำกินของประชาชนในเขตอุทยานแห่งชาติ

เมธาพันธ์ เห็นว่าเรื่องนี้อาจจะทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงาน จะส่งผลให้ปัญหาฝุ่นควันไฟป่ามากขึ้นหรือไม่ จึงเสนอว่าการบังคับใช้กฎหมายควรมีการทำประชาคมกับชาวบ้านในพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบท และ มีข้อจำกัดที่ไม่เหมือนกัน

หากเราไม่ทำความเข้าใจให้ชัดเจนมากขึ้น การมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานกับคนในพื้นที่ อาจจะห่างไกลมากขึ้น จากที่เราเคยเดินมาร่วมกันในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว อาจจะกลายเป็นความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นได้

รายงาน : พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง