ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปปง.เปิดยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สิน "ผู้เสียหายดิไอคอน" ถึง 17 ก.พ.68

อาชญากรรม
21 พ.ย. 67
07:34
220
Logo Thai PBS
ปปง.เปิดยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สิน "ผู้เสียหายดิไอคอน" ถึง 17 ก.พ.68
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปปง.เปิดระบบคุ้มครองสิทธิฯ ให้ผู้เสียหายคดีดิไอคอนกรุ๊ป ยื่นคำร้องเพื่อขอรับคืนเงิน-ชดใช้ค่าเสียหาย ได้จนถึงวันที่ 17 ก.พ.2568

วันที่ 20 พ.ย.2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เรื่องให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเพื่อขอรับคืน หรือชดใช้คืนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน

ด้วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้มีคำสั่งที่ ย.214/25/2567 ลงวันที่ 15 ต.ค.2567 ให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีคำสั่งในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน รายคดี บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก กรณีบริษัทติไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก ได้ร่วมกันโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์ สื่อภาพ และเสียงผ่านโทรทัศน์วิทยุ

รวมถึงปิดประกาศป้ายโฆษณาตามสถานที่ต่าง ๆ ในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อ อาทิ เชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมเพื่อเรียนรู้การขายสินค้าออนไลน์ และการทำวิดีโอนำเสนอเนื้อหาต่าง ๆ เป็นต้น โดยมีการกำหนดค่าเรียนเริ่มต้นตั้งแต่ราคา 97-299 บาท

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดให้มีการเรียนการสอนดังกล่าวข้างต้นจริง แต่ในช่วงท้ายของการเรียนหรืออบรมจะมีตัวแทนของบริษัทฯ ชักชวนให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนซื้อสินค้ากับบริษัทฯ ในรูปแบบหรือแพ็กเกจลงทุนในราคาต่าง ๆ เมื่อผู้เสียหายเลือกรูปแบบการลงทุนแล้ว ตัวแทนของบริษัทฯ จะโน้มน้าวให้เพิ่มการลงทนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอ้างว่า ผู้เสียหายจะสามารถเลื่อนระดับการลงทุนเป็นระดับที่สร้างเครือข่ายทีมงานจำหน่ายสินค้าของตนเองได้

อีกทั้งยังมุ่งเน้นให้ผู้เสียหายหาทีมงานหรือผู้ร่วมลงทุนเพิ่มเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น มากกว่าแนะนำการขายผลิตภัณฑ์หรือสินค้าของบริษัทฯ และยังพบพฤติการณ์ในลักษณะการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่ 10 ขึ้นไปว่าในการกู้ยืมเงินตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้

ดังนี้ จึงเป็นธุรกิจที่มีรูปแบบให้ผู้ลงทุนคนก่อนหน้าชักชวนผู้อื่นให้ร่วมลงทุนต่อ ๆ กันเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนในลักษณะการสร้างเครือข่ายผู้ลงทุนมากกว่าการขายสินค้า กรณีดังกล่าวมีผู้เสียหายหลงเชื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกและร่วมลงทุน แต่กลับไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่บริษัทฯ อ้างแต่อย่างใด ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ จากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค พบว่า บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ได้มีพฤติการณ์การกระทำความผิดในลักษณะนี้ตั้งแต่ช่วงประมาณปี พ.ศ.2564 ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 49/1 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2565 และข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงการคืนหรือชดใช้คืนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน พ.ศ.2567

จึงขอให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดมูลลูฐานในรายคดีดังกล่าว และไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น ยื่นคำร้องเพื่อขอรับคืนหรือชดใช้คืนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ภายใน 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ประกาศ ณ วันที่ 12 พ.ย.2567 สมชัย พลายด้วง ผู้อำนวยการกองคดี 5 ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

อ่านข่าว : DSI เข้าเรือนจำ สอบปากคำ 11 บอสชายดิไอคอน 

"บอสพอล" ส่งทนายแจ้งความ "กฤษอนงค์-ฟิล์ม" รีด 20 ล้าน 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง