ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เซมิคอนดักเตอร์" ต่อยอดเศรษฐกิจ โอกาสทองไทย "ต้องไขว่คว้า"

เศรษฐกิจ
18 พ.ย. 67
14:49
1,711
Logo Thai PBS
"เซมิคอนดักเตอร์" ต่อยอดเศรษฐกิจ โอกาสทองไทย "ต้องไขว่คว้า"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน อยู่ในสภาวะผันผวนอย่างหนัก เกิดปัญหาสภาวะเงินเฟ้อ การลงทุนต่างประเทศลดลง สินค้ามีราคาแพงขึ้น กระทบรายได้ครัวเรือน การก้าวขึ้นสู่ทำเนียบประธานาธิบดีของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ในยุค 2 ทำให้ทั่วโลกต่างหวาดผวาว่า จะสร้างความโกลาหลต่อเศรษฐกิจ ไปกันใหญ่

สวนทางกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ "เซมิคอนดักเตอร์" หรือ "ชิป" ที่ยังโดดเด่น และไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10.06 ซึ่งถือว่ามากที่สุดในธุรกิจเทคโนโลยี มูลค่าตลาดในปี 2024 อยู่ที่ 607,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสิทธิ์พุ่งทะยานทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2028

ด้วยส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 50.53 หรือเกินกว่าครึ่งของตลาดชิปโลกอยู่ในเอเชีย โดยจีนถือครองส่วนแบ่งมูลค่า 177,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2 ใน 3 ของเอเชีย ทำให้เกิดคำถามว่า ประเทศไทย หนึ่งในประชาคมเอเชียที่เป็นฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มายาวนาน จะสามารถ "ไขว่คว้าโอกาส" จากอุตสาหกรรมชิปที่สวนกระแสเศรษฐกิจโลกนี้ได้หรือไม่?

"High Tech, High Value" สร้าง"ชิป" มูลค่าเศรษฐกิจ

รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ จากศูนย์วิจัยความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา SEMICONDUCTOR STRATEGY: THAILAND’S PATH TO TECH LEADERSHIP  เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เซมิคอนดักเตอร์หรือชิป เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง เพียงไม่กี่อึดใจ ผู้ผลิตชิปสามารถตกยุคได้ทันที

ความพิเศษของการผลิตชิป คือ แข่งกันที่ขนาด ยิ่งเล็กยิ่งดี ยิ่งเล็กยิ่งราคาแพง ยิ่งขายได้ หากตามตลาดไม่ทัน ราคาก็จะยิ่งถูกลง ก็จะยิ่งเสียเปรียบ

ดังนั้น การผลิตชิปจึงเป็น "รถด่วน" ทางเศรษฐกิจของไทย ที่จะพาประเทศออกจากสภาวะเศรษฐกิจซบเซาและความวุ่นวายที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะนอกเหนือจากอัตราการเติบโตที่สูง และมูลค่าตลาดที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ยังมีประเด็น การเป็น "เจ้าโลก"เทคโนโลยีในการผลิตชิป เพราะไม่ว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ ตั้งแต่ตู้เย็นยันไมโครคอมพิวเตอร์ ต่างก็ต้องการหน่วยประมวลผล คือ ชิป ทั้งสิ้น

หมายความว่า การมุ่งผลิตชิป สามารถ "สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ" ให้แก่ประเทศ

ขณะที่ดร.วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล คณะทำงานจัดทำแผนกลยุทธ์พัฒนาอุต สาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สรุปในประเด็นดังกล่าวว่า "High Tech, High Value

โดยชี้ให้เห็นว่า NVIDIA บริษัทผลิตชิปและการ์ดจอชื่อดัง ที่มูลค่าหุ้นนั้นเคยพุ่งทะยานกว่าร้อยละ 265 ในช่วงกลางปี 2024 เมื่อสมัย 20 กว่าปีก่อน ทำการ์ดจอ 3 แผ่น 100 บาท อาจฟังว่าเป็นเรื่องตลก แต่สมัยก่อนการ์ดจอราคาถูกมาก ก่อนที่จะทุ่มงบประมาณไปกับ "การวิจัยและพัฒนา" หรือ "R&D" เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และในที่สุดกลายเป็น "Graphics Processing Unit" หรือ "GPU" ที่มีขนาดเล็กลง และมีราคาต่อชิ้นมากกว่า 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ และสามารถ "เก็งกำไร" จาก GPU ได้ไม่แตกต่างจาก "ทองคำ" เลยทีเดียว

การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ NVIDIA เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนของถูกให้กลายเป็นของแพง และเพิ่มมูลค่าให้กับของที่มีอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำกัน เพราะเสี่ยงสูง

ดร.วิบูลย์ ให้นิยามคำว่า กลยุทธ์ของ NVIDIA ว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำเพราะทำให้ผลิตภัณฑ์เดิมที่มีมูลค่าไม่สูงมาก กลับมามีมูลค่าที่สูงขึ้น ซึ่งการจะทำอะไรแบบนี้ได้ ต้องทุ่มงบประมาณมหาศาล และต้องเข้าใจตลาดของการผลิตชิปที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรง ไม่อย่างนั้น ต่อให้สินค้าชิปประมวลผลรวดเร็ว หรือเล็กระดับนาโนขนาดไหน ก็ไม่สามารถได้รับส่วนแบ่งทางการตลาดได้

แนะผลิต-พัฒนา "ชิป" เลิกเป็น "มือปืนรับจ้าง"

ดร.วิบูลย์  ย้ำว่า แม้จะเข้าใจได้ว่า การเพิ่มมูลค่าในการผลิตชิปจะสามารถช่วยให้ได้เปรียบ ในการเป็นผู้เล่นในตลาดเทคโนโลยี แต่ข้อเท็จจริง คือ ประเทศไทยไม่สามารถทำได้ แต่ต้องยอมรับว่า องค์ความรู้และบุคลากรของไทยไม่มีความพร้อม ไม่สามารถตามทันตลาดที่มีความเปลี่ยนแปลงสูงนี้ได้

ไทยขาดคุณภาพ ไม่ได้ขาดจำนวน อุตสาหกรรมนี้ ต้องการผู้ที่ฉลาด ไม่ได้ต้องการแรงงานแบกปูน เราชอบกล่าวว่า แรงงานในอุตสาหกรรมชิปไม่เพียงพอ แต่เราต้องการบุคลากรในส่วน R&D ซึ่งคุณภาพยังไม่ถึง ทำอะไรต้องคิดให้ดี ๆ

แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีทางออกเสียทีเดียว ไทยยังสามารถแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ อย่าง การออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ เพราะไทยมีประสบการณ์ด้าน การรับจ้างผลิต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาอย่างยาวนาน อย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัน มีเครื่องจักรและองค์ความรู้พร้อมสรรพ ทำให้เป็นจุดเด่นของเรา

ไม่ว่าจะเป็น แผงวงจร หรือ PCB ชิ้นส่วนจ่ายไฟ หรือ Power Supply หรือกระทั่งเซมิคอนดักเตอร์ ไทยสามารถผลิตออกมาสอดรับกับตลาดได้อย่างไม่เคอะเขิน แต่เสียอย่างเดียวที่เรารับจ้างผลิตเฉย ๆ "ไม่มีแบรนด์" เป็นของตนเอง ทำให้สร้างข้อได้เปรียบยากมาก ๆ

ถามว่า รู้จัก TSMC ไหม? บริษัทผลิตชิปสัญชาติไต้หวัน ก็รับจ้างผลิตแบบเรา แต่เขาสร้างแบรนด์ตัวเอง ทำให้มีแต้มต่อ และกลายเป็นเบอร์หนึ่งของโลกด้านต้นน้ำการผลิตชิป ใคร ๆ ก็ต้องเรียกหา

ดังนั้น ไทยต้องเลิกเป็น "มือปืน" และหันมาทำในสิ่งที่ตนเองถนัดมากกว่า หากไม่สามารถสู้ด้วยการวิจัยและพัฒนาชิป หรือแบรนด์ที่แข็งแกร่งได้ ก็ต้องเลือกพัฒนา "เฉพาะเรื่อง" แทน

ด้านนายมานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานกรรมการบริษัท บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เสนอว่า ไทยควรเน้นหนักไปที่ การผลิต "Sensor และ Power Supply" ให้แก่ชิป

การผลิต Sensor และ Power Supply ต้นทุนต่ำที่สุดแล้วในต้นน้ำของเซมิคอนดักเตอร์ และป้องกันอัตราเงินเฟ้อได้ดีที่สุด เพราะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างไรก็ต้องการพลังงานเสมอ เราทำมาตลอด จะได้เปรียบมาก

เซมิคอนดักเตอร์ต้องการกำลังวัตต์สูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามกำลังซื้อและความอยากใช้งาน "AI" มากยิ่งขึ้น เราจะเห็นได้จากการสร้าง Data Center ที่สิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำและพลังงานจำนวนมหาศาล แต่ตลาดด้าน Power Supply กลับเติบโตไม่ทันการเปลี่ยนแปลงชิป ดังนั้น หากประเทศไทยออกตัวว่าจะเป็นผู้พัฒนาด้านนี้ รับรองว่าเราจะ "ได้เปรียบ" แม้บุคลากรจะสู้ใครไม่ได้ก็ตาม

ดร.วิบูลย์ ย้ำว่า  ไทยไม่ควรแข่งขันอะไรที่ไม่มีทางสู้ เพราะวงการชิปประกอบด้วย 4 ส่วน คือ Logic, Memory, Sensor และ Power Supply สองอย่างแรก ไทยตามเขาไม่ทัน หากจะตามก็สามารถทำได้ แต่เวลาและวารี ไม่เคยคอยใคร เราพัฒนา เขาก็พัฒนา หนีเราไปไกล ดังนั้น จึงต้องเน้นที่สองอย่างหลัง

ในวงการนี้ หากเริ่มต้นผิดจุด ก็ตกขบวน แต่หากรู้ว่า เราเด่นด้านไหน ก็จะไล่กวดเขาทัน

"รัฐนำพัฒนา" ทางออกประเทศไทยในวงการชิป

เมื่อไม่อยากตกขบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ประเทศไทยจะต้อง "รู้เขารู้เรา" คือ ต้องรู้ว่าเขาขาดอะไร และเรามีสิ่งใดไปเติมเต็ม ซึ่งผลลัพธ์ คือ ต้องพัฒนา Sensor และ Power Supply แต่ลำพังการเปลี่ยนจากมือปืนรับจ้าง เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาด้วยตนเอง ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นทางออกของเรื่องนี้ จำเป็นที่จะต้องใช้โมเดล "รัฐนำพัฒนา (State-led Industrialisation)"

ประธานกรรมการบริษัทซิลิคอน ฯ อธิบายโมเดลดังกล่าว และชี้ให้ต้นแบบจาก "จีน" ที่รัฐบาลออกนโยบายเอื้อให้เกิดการพัฒนาชิปอย่างก้าวกระโดด ไม่เฉพาะการวิจัยเท่านั้น แต่ยังลดภาษีการเช่าที่ดินเพื่อสร้างฐานการผลิต การจ่ายเงินสนับสนุน ด้านค่าจ้างบุคลากร หรือการอุดหนุนราคาเพื่อส่งออก ทำให้ราคาในตลาดต่ำ แข่งขันได้และได้ดุลการค้าชิป ตรงนี้ ไทยไม่มี และส่งผลให้เกิดภาวะ "สมองไหล" ทั้งทุนและบุคลากรหันไปหาจีนมากยิ่งขึ้น

ดร.วิบูลย์ ยกตัวอย่างเสริมว่า ใน "เกาหลีใต้" รัฐบาลเข้ามาชี้นำภาคธุรกิจ ให้เปลี่ยนมาพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์ จนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรม เช่น SAMASUNG บริษัทที่มีส่วนแบ่งในตลาดเซมิคอนดักเตอร์มากกว่าร้อยละ 13 สมัยก่อนดำเนินกิจการ "รถบรรทุก" แต่รัฐบาลให้เงินสนับสนุนมหาศาล เปลี่ยนมาทำอุตสาหกรรมไอที จนเป็นผู้นำตลาดได้อย่างเหลือเชื่อ

แต่ความสำเร็จนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ต้องมีการวางกลยุทธ์ระดับชาติให้เป็น "เนื้อเดียวกัน" จะได้เกิดความเข้าใจตรงกัน ภาคอุตสาหกรรมจะได้มีทิศทางการผลิต ไม่ใช่ผลิตแบบเรื่อยเปื่อย เลอะเทอะ แตกกระสานซ่านเซ็น

เราต้องเข้าใจตรงกันเสียก่อนว่า จะทำอะไรในภาคส่วนนี้ คุยหลากหลาย ได้คำตอบคนละแบบ ตกลงนักลงทุนต้องคุยกับใคร ห้ามเลอะเทอะ เปรียบดั่งวงออเคสตรา ต้องสอดประสานกัน

สอดคล้องกับ รศ.ดร.อาชนัน ชี้ว่า กระดุมเม็ดแรกที่ไทยจะติด ต้องทราบก่อนว่าอุตสาหกรรมนี้มีองค์ประกอบอย่างไร นโยบายต่าง ๆ ต้องสอดรับกัน หาใช่มองเป็นจุด ๆ ไม่อย่างนั้น คือ ย่ำอยู่กับที่

เราเพิ่งตั้งบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่ถามว่าผู้ส่งข้อมูลมีเพียงพอหรือไม่ เราต้องมีทีมงานที่ส่งข้อมูลให้มากพอ จะได้ออกนโนบายได้อย่างตรงจุด มีประสิทธิภาพ

ผู้ส่งข้อมูลที่ดี มาจากคุณภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมชิปที่ดีเช่นกัน ซึ่งเราขาดตรงนี้ แต่กลยุทธ์ "การดึงดูดทุนต่างชาติ" โดยเฉพาะ "ทุนชิปจีน" ที่เตรียมระส่ำจากการเถลิงบัลลังก์ของทรัมป์ เพื่อเราจะได้วิทยาการของเขา มาพัฒนาคน พัฒนาชาติ พัฒนาชิป เป็น "ทางลัด" ที่น่าสนใจไม่น้อย

แต่ ดร.วิบูลย์ เสนอว่า สุดท้ายก็ต้องกลับมาที่รัฐบาล วางกลยุทธ์การผลิตชิปดี ๆ ไม่ควรไปผลิตในสิ่งที่กำลังจะดึงทุนเข้ามา และไทยต้องผลิตให้สอดรับกับสิ่งที่เขากำลังจะนำมาให้ จะได้ไม่ชนกันและขัดขากันเอง เช่น จะทำเรื่อง Power Supply ก็ทำไป ให้ทุนชิปจีนมาถ่ายทอดเรื่อง Logic และ Memory ให้ จึงจะไปได้ไกล

สุดท้าย ประธานกรรมการบริษัทซิลิคอน ฯ แนะนำว่า ไทยต้องสร้าง Win-Win Policy ให้นักลงทุนมาถ่ายทอด R&D ต้องชัดเจนว่าจะทำอะไร สร้างระบบนิเวศของเซมิคอนดักเตอร์ให้เหมาะสม เติมเต็มในสิ่งที่เขาขาด ไทยจึงจะแข่งขันในตลาด และสามารถแหวกพายุเศรษฐกิจนี้ไปได้

อ่านข่าว

"นิวเคลียร์" ขับเคลื่อน AI พัฒนาเทคโนโลยียั่งยืน "บนทางคู่ขนาน"

"อัลกอริทึม" ทำลาย VS สร้างสรรค์ "สุนทรียภาพ" มนุษย์?

มนุษย์อยู่อย่างไร ? เมื่อ AI กำลังจะ "ครองโลก"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง