ข้อเท็จจริงอีกด้านของน้ำตาล และความหวาน ที่แม้จะพยายามลดปริมาณการบริโภคลงมากเท่าไหร่ หรือหาสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เพื่อให้ดีต่อสุขภาพแค่ไหน แต่เชื่อหรือไม่ว่า ร่างกายคนเราทุกวันนี้ ก็ยังคงรับน้ำตาล และความหวานในปริมาณที่เกินพอดีอยู่ดี โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน
น้ำตาล และ ความหวาน กลายเป็นส่วนหนึ่งของรสชาติในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ผลการศึกษาพบว่า รสหวาน ช่วยทำให้มีอารมณ์ดีขึ้นได้จริงจากการกระตุ้นให้สมองหลั่ง โดปามีน (Dopamine) หรือ ฮอร์โมนแห่งความสุข ออกมา และน้ำตาล ถือเป็นแหล่งพลังที่สำคัญที่สุด และถูกนำไปละลายเพื่อใช้บริโภคอยู่ในวิถีชีวิตผู้คนอยู่เสมอ ทั้ง ปรุงรสชาติ แยกลักษณะอาหาร เช่น ความหวาน ความหนืด สี เก็บถนอมอาหาร รวมทั้งเป็นส่วนประกอบอาหารทางการแพทย์
ขณะที่เหรียญอีกด้านของความหวานนั้น การศึกษาพบว่า น้ำตาล มีผลกระตุ้นที่ตัวรับตัวเดียวกับ มอร์ฟีน แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า และทำให้เกิดความพึงพอใจได้ การขาดอาจมีผลให้เกิดความอยาก และหงุดหงิดได้ จึงเป็นเหตุผล ว่า ทำไมทางการแพทย์จัดน้ำตาลอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับสารเสพติด

ที่สำคัญ น้ำตาลยังมีผลโดยตรงต่อน้ำหนัก หรือดัชนีมวลกาย (BMI) กระบวนการเมตาบอลิสซึม โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวาน ยังไม่นับเรื่องหัวใจ หลอดเลือด สมอง การชอบรสหวาน (Sweet preference) และการเลือกอาหารอีกด้วย
ทพญ. ปิยะดา ประเสริฐสม อดีตทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ชี้ประเด็น น้ำตาล ที่เกี่ยวข้องกับ ผู้ป่วยเบาหวาน โดยตรง คือ แม้น้ำตาล คือสิ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องเลี่ยง แต่พวกเขากลับรับรู้รสหวานได้น้อยกว่าคนปกติ
“คนปกติจะรับรู้รสหวาน เมื่อละลายน้ำตาล 1 ช้อนชา ในน้ำ 1 แก้ว ผู้ป่วยเบาหวานจะรับรู้รสหวานเมื่อละลายน้ำตาล 1-2 ช้อนโต๊ะ” นี่เป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้ผู้ป่วยฯ บริโภคน้ำตาลมากขึ้น และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว
เมื่อรสหวาน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และน้ำตาลอยู่รอบตัวเรา ตั้งแต่เด็กตัวน้อย ไปจนถึงผู้ใหญ่ตัวโต ล้วนตกอยู่ในวงล้อมของความหวานแทบทั้งสิ้น
เมื่อสัดส่วนพลังงานจากขนม และอาหารว่าง จากค่าปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน (RDA) คือ 10-15 % แต่ผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคขนมของเด็กไทยเมื่อปี 2547 กลับพบว่า เด็กไทย 3-5 ปี ได้รับพลังงานจากขนมสูงถึง 23 % RDA เลยทีเดียว และไม่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยมา
ขณะที่ ปริมาณน้ำตาลที่เด็กควรได้รับต่อวัน ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา แต่ในน้ำอัดลมที่อยู่รอบตัวนั้นมีปริมาณน้ำตาลละลายอยู่ถึง 8-12 ช้อนชา
ส่วนบรรดาเครื่องดื่มคู่ใจของบรรดามนุษย์ออฟฟิศ ก็มีส่วนผสมของความหวาน และให้พลังงานอยู่ราว 100 - 425 kcal
เมื่อเทียบเคียงกับผลสำรวจปริมาณการบริโภคน้ำตาลของประชากรไทย ตั้งแต่ปี 2554 - 2565 พบว่า คนไทยกินน้ำตาลเฉลี่ยอยู่ที่ 26 ช้อนชาต่อวัน แสดงให้เห็นว่า ความหวานอยู่รอบตัวเรานั้น ไม่ได้เกินจริงเลย

นอกจากนี้ การบริโภคเครื่องดื่มรสหวานที่ใช้น้ำตาล ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความพยายาม “ลดหวาน” แต่มองหาสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ดูน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่อยากเอาใจใส่สุขภาพ แต่ยังไม่อยากขาดหวาน
“ถ้าคุณลดน้ำตาล แต่คุณยังใช้สารทดแทนความหวาน นั่นก็เท่ากับว่าคุณก็ยังติดหวาน” ทพญ.ปิยะดา ตั้งข้อสังเกต และย้ำว่า พฤติกรรมดังกล่าว อาจทำให้แนวโน้มที่จะบริโภคน้ำตาลมีระดับที่มากขึ้น
เนื่องจากเครื่องดื่มที่ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล และน้ำผลไม้นั้น ไปเพิ่มความเสี่ยงประมาณ 25% และ 8% ตามลำดับ ขณะที่เครื่องดื่มรสหวานที่ใช้น้ำตาล เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน 18% ต่อหน่วยบริโภคต่อวัน
ที่สำคัญ ถึงแม้สารให้ความหวานจะมีหลายชนิด แต่บางชนิดก็จะให้ความหวานจัด และบางชนิดแทบไม่ให้คุณค่าทางโภชนาการเลย มิหนำซ้ำยังซ้ำเติมความเสี่ยงต่อสุขภาพให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก
“การเสพติดความหวาน จะไม่ลดการกินน้ำตาล ก็ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน จากเครื่องดื่ม จากการบริโภคที่ทุกคนคิดว่าปลอดภัย จริง ๆ แล้วมันไม่ปลอดภัย เพราะยังใช้สารทดแทนความหวาน หากผู้ที่เคยเติมน้ำตาลลงอาหารคาวเท่าไหร่ ก็ยังเติมเท่าเดิม” ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานอธิบาย

หากเช่นนั้น ทางเลือก หรือ ทางแก้ ของสมการ “หวานเสพติด” ควรจัดการด้วยวิธีไหน “ควรดื่มน้ำเปล่า หรือถ้าคำนวณเป็น ก็ดื่มต่อ 1 ครั้ง ไม่เกิน 4 กรัม”
ทพญ. ปิยะดา มองว่า น้ำตาลไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็น ต่อผู้คนเลย เมื่อความหวานล้วนอยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว ในความเป็นจริงถ้าคนเรากินอาหารหลัก 3 มื้อปกติ ตามหลักโภชนาการ คุณก็จะได้แป้งอยู่แล้ว และแป้งก็จะเป็นตัวย่อยให้เกิดน้ำตาลอยู่แล้ว แต่คนที่ไปงดน้ำตาลเยอะ ๆ งดแป้งเยอะ ๆ ก็อาจจะเกิดภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ ซึ่งก็จำเป็นต้องกินน้ำตาลเข้าไปอีก
หมายความว่า หากผู้ป่วยเบาหวานไม่กินน้ำตาลเลย แต่กินอาหารครบ 5 หมู่ 3 มื้อปกติ ก็จะได้รับน้ำตาลจากแป้งเข้าไปเติมให้ร่างกายในปริมาณที่พอดีอยู่แล้ว
เมื่อใจความสำคัญของ ผู้ป่วยเบาหวาน คือ ไม่ให้น้ำตาลในเลือด ต่ำ หรือ สูง เกินไป
อ่านข่าว : "น้องซูชิ"ผองเพื่อนรวม 4 ชีวิต น้องหมาหาบ้านถูกส่งโรงเชือด
กิจกรรมแน่น! ลอยกระทงคืนแรกทั่วไทย ตร.คุมเข้มความปลอดภัย
ตัดหัว-เอาเขี้ยว "พะยูน" 7 วันพบตายในทะเลภูเก็ต ทช.เร่งแกะรอย