"หนุ่มนา พาเพลิน" ลุคคนบ้าน ๆ ท้องถิ่นในภาคอีสาน แต่งตัวสีสันฉูดฉาด ท่าเต้นกวน ๆ สนุกสนาน เข้ากับจังหวะเพลง "กาคาบพริก" ของ "ชาย เมืองสิงห์" นักร้องดังในอดีต ในโลก TikTok หนุ่มนา คือ คนดังคนหนึ่งจากยอดผู้ติดตามกว่า 9 แสนคน และยอดผู้กดไลก์ให้กว่า 24 ล้านไลค์ ท่าเต้นดังกล่าว ไม่เพียงเรียกรอยยิ้มและสร้างเสียงหัวเราะจากผู้ที่เพียงแค่กดผ่านไปเท่านั้น
แต่การสร้างกิมมิคให้ตัวเอง ทั้งการแต่งกาย และท่าเต้น ทำให้มีผู้คนทั้งในวงการตลก ตัวโจ๊กลิเก ชาวต่างชาติและคนทั่วไปไป ต่างนำท่าเต้นของเขาไปโคเวอร์ สร้างสีสัน เพิ่มยอดวิว ยอดไลก์ และในที่สุด อาจนำไปสู่รายได้ แทนอาชีพหลักที่เคยทำ
ภาพจากช่องติ๊กต็อกของ หนุ่มนา พาเพลิน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกเปลี่ยน คนต้องปรับ เพื่อให้ก้าวทันยุคเทคโนโลยี หากท่องโลกติ๊กต็อก และเฝ้าดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะพบว่า มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้เป็นคนเด่น-คนดัง และกลับเป็นที่รู้จักของคนโซเชียล หลากสาขา วิชาชีพ นอกจากคนบ้านๆ อย่าง "หนุ่มนา พาเพลิน" และ สาวนา พาเพลีย ยังมี อาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม และ วนิ อินพุทธ อินฟลูเอนเซอร์ สาวน้อยสายธรรมะ วัยรุ่นผู้ใฝ่รู้ จากอดีตเด็กที่หนีออกจากบ้าน และเคยเสพยา มาศึกษาธรรมะจนเป็นคนดังในกลุ่มคน Gen Z
ภาพ อาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม จากชองติ๊กต็อก
อย่างไรก็ตาม นอกจากกลุ่มบุคคลเหล่านี้แล้ว ยังมีอีกไม่น้อยที่เข้าวงการโลกติ๊กต็อก และเป็นยูทูบเบอร์ สายกิน สายเที่ยว สายฮา เทคโนโลยี แพทย์ นักวิชาการ ทนาย นักข่าว นักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ ใช้ช่องทางนี้ในการติดสื่อสาร เพื่อสร้างตัวตัวและการรับรู้
แน่นอนว่า จำนวนผู้ติดตาม กดไลก์ กดแชร์ กดกระดิ่ง หัวใจ เคาะจอ เคาะใจส่งของขวัญ ล้วนนำมาซึ่งรายได้ ระยะแรกอาจได้ไม่มากนัก แต่เมื่อกลายเป็นคนดัง มีผู้ติดตามจำนวนมาก งานรีวิวสารพัดสินค้า งานโฆษณา เดินสายโชว์ตัว ก็จะวิ่งเข้าหา
ขณะเดียวกัน อินฟลูฯ คนดังก็อาจเต็มใจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่เข้ามาท่องโซเชียลทั้ง ๆ ที่ทราบว่าผิดกฏหมาย ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับ "ฟ้า" อินฟลูฯวัย 26 ปี มีผู้ติดตาม จำนวน 2,000,000 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง จับในข้อหารับงานแปะลิงก์ เว็บพนันออนไลน์ Facebook ที่ถูกกล่าวหาจริง โดยเจ้าของเว็บไซต์พนันออนไลน์เป็นผู้ว่าจ้างให้ลงประกาศโฆษณาในสตอรีเพจ Facebook ได้รับเงินค่าสตอรีละ 2,500 บาท และถูกแจ้งข้อกล่าวหา "ร่วมกันประกาศ โฆษณา หรือชักชวนให้ผู้อื่นเข้าเล่นพนันออนไลน์ พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต" ตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 12 เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา
ข้อมูลจากรายงานผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบยอดสะสม ผู้โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอมจำนวน 7,394 บัญชี โดยมีจำนวนข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนรวมกันกว่า 5,061 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนเกี่ยวกับด้านสุขภาพมากถึง 2,213 เรื่อง การชักจูงหรือชวนเชื่อที่ผิดกฎหมาย อาทิ การตลาดของ เว็บพนันออนไลน์โดยใช้การโฆษณาผ่าน Influencer ซึ่งอาจส่งผลให้ กลุ่มผู้ติดตามเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า อินฟลูฯ หลาย ๆ รายได้ผลิตคอนเทนต์ และสร้างค่านิยมที่ผิด ๆ เช่น โชว์หรู อวดรวย และไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวัน เพื่อต้องการให้คนอื่นรู้ว่าตนเองมีสิ่งที่ดีที่สุด บ่งบอกถึงสถานะทางสังคม สร้างอิทธิพลเชิงลบต่อสังคม บางรายมีพฤติการณ์ชักนำสังคมไปในทางที่ไม่ถูกต้องถือเป็นดาบสองคม ของโลกยุคโซเชียล
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า บรรดาเหล่าอินฟลูฯ ทั้งหลายได้ใช้ทุกช่องทางของโลกโซเชียล สร้างความเป็นผู้ทรงอิทธิพลให้ตัวเอง อย่างไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอินฟลูฯ ในโลกของติ๊กต็อก เพราะ TikTok กลายเป็นผู้ท้าชิงจาก Facebook และยูทูบเบอร์ ไปแล้ว มีข้อมูลระบุว่า ทุกเดือนจะมีผู้เข้าใช้งานราว ๆ 1,000 ล้านคน
ภาพจากช่องติ๊กต็อก สาวนา พาเพลีย
หากจัดประเภทอินฟลูเอนเซอร์ ในโลกโซเชียลตามจำนวนผู้ติดตาม พบมี 5 รูปแบบ ประกอบด้วย 1. Nano Influencer (ผู้ติดตาม 1,000-10,000 คน) ส่วนใหญ่เป็นบุคคล ในหมู่คนที่รู้จักหรือเพื่อนๆ เช่น ดาวโรงเรียน, นักกีฬาตัวจริง, ประธานนักเรียน, หรือแม้แต่คนที่มีลักษณะโดดเด่น น่าจดจำ 2. Micro Influencer (ผู้ติดตาม 10,000-50,000 คน) มีฐานแฟนคลับจากช่องทางหรือคอนเทนต์ที่นำเสนอ และมีผู้ติดตามที่มากขึ้น 3. Mid-Tier Influencer (มีผู้ติดตาม 50,000-100,000 คน) มักชอบรีวิวอาหาร, ท่องเที่ยว, เล่นเกม ฯลฯ ส่วนใหญ่ถนัดสิ่งที่ตนเองสนใจ, เสนอให้คอนเทนต์สนุก ๆ
4. Macro Influencer (มีผู้ติดตาม 100,000-1,000,000 คน) มีการทำคอนเทนต์ที่เป็นมืออาชีพ, โดดเด่น และแนวทางของช่องทางที่ชัดเจน ส่วนใหญ่แล้วขั้นนี้มักจะหันมาเป็น Influencer เต็มตัวเพราะสามารถหารายได้ที่เพียงพอจากการทำคอนเทนต์ของตัวเองได้แล้ว และ 5. Mega Influencer (มีผู้ติดตาม มากกว่า 1,000,000 คนขึ้นไป)
ข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ หัวข้อ "Influencer : เมื่อทุกคนในสังคมล้วนเป็นสื่อ" ระบุ ข้อมูลของนีลเสน (Nielsen) ในปี 2565 พบว่าประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีจำนวนผู้มีอิทธิพลทางสังคมออนไลน์ หรือ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) รวมกันมากถึง 13.5 ล้านคน
เฉพาะประเทศไทยมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน เป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย และการขยายตัวของ Influencer ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นช่องทางสร้างรายได้ ทั้งจากการโฆษณาหรือรีวิวสินค้า
โดยในปี 2566 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับทั่วโลกถึง 19.01 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 140.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 7.4 เท่า ภายใน 7 ปี
วนิดา บุญประเสริฐ (วนิ อินพุทธ) อินฟลูเอนเซอร์สายธรรมะ จากช่องติ๊กต็อก
และยังพบว่า อินฟลูเอนเซอร์ของไทย สามารถสร้างรายได้ 800 - 700,000 บาทขึ้นไปต่อโพสต์ โดยขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดตาม
แม้ที่ผ่านมา จะมี Influencer กระทำความผิด เช่น รับงานผิดกฎหมาย รับรีวิวสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และมีพฤติกรรมโชว์ทอง เงินสด รถยนต์หรู ที่ได้มาจากกระทำความผิด แต่ส่วนใหญ่จะพบว่า อินฟลูฯ มีพฤติการณ์ที่ทำผิดในประเด็นอื่น ๆ เช่น หลอกลวง ฉ้อโกง อยู่แล้ว
เมื่อมีการดำเนินคดีจะใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิว เตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เพื่อควบคุมการนำเข้าข้อมูลที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และ ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสภาฯ
การเป็นผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงทุกแขนงวิชาชีพ ความดัง และยอดคนติดตาม ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม ดาบแรก คือ ชื่อเสียงและเงินทอง ดาบสองที่ตามมา อาจเพลินกับสิ่งที่ได้มาและตกเป็นเป้าหมายของผู้เข้ามาหาแสง แสวงผลประโยชน์ อย่างไม่รู้ตัว ดังนั้นเมื่อปังแล้วก็ต้องระวังหล่นแป๊กด้วย
Source: business2community
อ่านข่าว : 3 พรรคแตะมือล้ม นายก อบจ.อุบลฯ "สายเพื่อไทย"
ปศุสัตว์เร่งไขปม "ควายตาย" 245 ตัวพื้นที่เลี้ยงเวียงหนองหล่ม
ปิดตำนาน 21 ปี คดี "โฉนดถุงกล้วยแขก" วัดสวนแก้วแบ่งจ่ายค่าเสียหาย 4 งวด รวม 1.9 ล้าน