วันนี้ (13 พ.ย.2567) ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนล่าสุด "โดนัลด์ ทรัมป์" ออกแถลงการณ์แต่งตั้ง อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง SpaceX และ Tesla ให้เป็นผู้นำของหน่วยงานใหม่ที่ชื่อว่า Department of Government Efficiency หรือ "DOGE" ร่วมกับ วิเวก รามาสวามี นักลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อให้คำปรึกษาแก่ทำเนียบขาว ในการลดขนาดระบบราชการและปรับโครงสร้างหน่วยงานรัฐบาล ด้วยเป้าหมาย
ลดขนาดรัฐ ขจัดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น ตัดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง และปรับโครงสร้างหน่วยงานรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพ
ทรัมป์ ระบุว่าโครงการ DOGE ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐอย่างเป็นทางการ ที่จะต้องผ่านกฎหมายของสภาคองเกรส แต่ DOGE จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ปรึกษาภายนอกให้ทำเนียบขาวสามารถใช้แนวทางของโครงการนี้เพื่อตรวจสอบและลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ที่คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีของรัฐบาลกลาง
อีลอน มัสก์ ที่สนับสนุนการลดการใช้จ่ายภาครัฐในวงกว้าง เรียกร้องให้มีการตัดงบประมาณของรัฐบาลถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวคิดจะยุบหน่วยงานหลายแห่งที่ทำงานซ้ำซ้อนกัน ขณะที่ทรัมป์หวังว่า โครงการนี้จะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 4 ก.ค.2569 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 250 ปีของการประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ โดยเขายังเปรียบเทียบโครงการนี้ว่าเป็นเหมือนโครงการแมนฮัตตันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ที่มา X @Elon Musk
การแต่งตั้ง มัสก์ และ รามาสวามี ยังเป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งทีมความมั่นคงระดับสูงที่รวมถึง จอห์น แรทคลิฟ อดีตผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติจะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ CIA และ ผู้ว่าการรัฐเซาธ์ดาโกตา คริสตี โนม จะดำรงตำแหน่ง รมว.ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ขณะที่ พีท เฮกเซ็ท ผู้ดำเนินรายการจาก Fox News ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น รมว.กลาโหม
ทรัมป์ มีเป้าหมายชัดเจนที่จะปรับโครงสร้างระบบราชการเพื่อให้รัฐบาลมีขนาดเล็กและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการลดการใช้งบประมาณและกำจัดการทำงานที่ซ้ำซ้อน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการนี้อาจเผชิญการต่อต้านจากข้าราชการและสภาคองเกรส เนื่องจากการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการยุบหน่วยงานในวงกว้างจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาลอย่างแน่นอน
"มัสก์" จะได้อะไรจากหน่วยงานนี้
อีลอน มัสก์ ผู้สนับสนุนรายใหญ่ของทรัมป์ คาดว่าจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์กลับไปที่บริษัทเขา รวมถึงธุรกิจที่เขาสนับสนุน เช่น AI และ สกุลเงินดิจิทัลในรัฐบาลใหม่ นักวิเคราะห์ตลาดหุ้น แดเนียล ไอเวส จาก Wedbush Securities ระบุว่ามัสก์และ Tesla อาจได้รับประโยชน์จากตำแหน่งนี้
ส่วนลิซ่า กิลเบิร์ต จากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค Public Citizen แสดงความกังวลต่อการแต่งตั้งนี้ว่า มัสก์ขาดความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบของรัฐบาล และธุรกิจของเขาเองเคยละเมิดกฎหมายหลายครั้ง การให้เขารับตำแหน่ง อาจก่อให้เกิด "การทุจริตเชิงโครงสร้างทางธุรกิจ" ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบราชการโดยรวม
ที่มา X @Elon Musk
แต่ทางด้านมัสก์ให้คำมั่นว่าโครงการนี้จะมีความโปร่งใส โดยจะเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดผ่านทางออนไลน์ นอกจากนี้ เขายังประกาศบนโซเชียลมีเดียของเขาว่าจะมีการจัดทำ "กระดานคะแนน" สำหรับรายการใช้จ่ายที่ไร้ประโยชน์ที่สุดของภาษีประชาชน
การแต่งตั้งมัสก์และรามาสวามีในฐานะหัวหน้า DOGE อาจเป็นกลยุทธ์ของทรัมป์ที่มุ่งสร้างภาพลักษณ์ เน้นการลดขนาดรัฐบาลและปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ทำให้มัสก์จะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในการกำกับดูแลและลดการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งอาจช่วยให้ Tesla และ SpaceX ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาล นักวิเคราะห์เห็นว่าการแต่งตั้งนี้เอื้อประโยชน์ให้มัสก์ ในการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินและข้อมูลเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของบริษัทของเขา
อย่างไรก็ตาม การที่บุคคลจากภาคเอกชนเข้ามาควบคุมระบบราชการ อาจเสี่ยงต่อการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ในขณะที่องค์กรด้านคุ้มครองผู้บริโภคของสหรัฐฯ เตือนว่าความโปร่งใสและความยุติธรรมของการปฏิรูปครั้งนี้ ต้องถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
อ่านข่าว : "Doge" ทีมปฏิรูประบบราชการ "ทรัมป์" แต่งตั้ง "มัสก์" นั่งหัวโต๊ะ