ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"หมอยง" ไขข้อข้องใจ 15 ข้อ "โรคไอกรน" แนะฉีดวัคซีนป้องกัน

สังคม
13 พ.ย. 67
08:56
2,669
Logo Thai PBS
"หมอยง" ไขข้อข้องใจ 15 ข้อ "โรคไอกรน" แนะฉีดวัคซีนป้องกัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ศ.นพ.ยง" ระบุ "โรคไอกรน" เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis เป็นโรคตั้งแต่โบราณ เหมือนกับไข้หวัดทั่วไป มีความรุนแรงน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่ และ โควิด-19 ฉีดวัคซีนป้องกัน ไม่จำเป็นต้องปิดโรงเรียน ชี้อย่าตื่นตระหนก

วันนี้ (13 พ.ย.2567) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุข้อความว่า จากกรณีข่าวที่มีการพบโรคไอกรน ในวัยรุ่น นักเรียนและมีการปิดโรงเรียน จำเป็นหรือไม่ ซึ่งจะขอให้ความรู้เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง

1.โรคไอกรนเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis เป็นโรคตั้งแต่โบราณ มีวัคซีนในการป้องกันและใช้ในประเทศไทยมาร่วม 50 ปี ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจมีอาการ ไอเรื้อรัง โรคนี้จะเป็นอันตรายในเด็กเล็กต่ำกว่า 1 ปี โดยเฉพาะถ้าต่ำกว่า 3 เดือนอาจทำให้เสียชีวิตได้ และอาจจะมีปัญหาอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้สูงอายุที่มีร่างกายอ่อนแอ ในเด็กโตและวัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่จะไม่เป็นปัญหามาก เหมือนโรคทางเดินหายใจโรคหนึ่ง ที่มียาปฏิชีวนะรักษา

2.ใช้วัคซีนในการป้องกันโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ที่ให้ตั้งแต่ 2 เดือนมาเกือบ 50 ปี และให้ตามกำหนดที่ 2 เดือน 4 เดือนแล้ว 6 เดือน กระตุ้นที่ขวบครึ่ง, 4 ขวบ รวมแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง และแนะนำให้มีการกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งโดยเฉพาะผู้มีสตางค์ ที่อายุ 10-12 ปี ด้วยใช้วัคซีนรวม โรคคอตีบ ไอกรน และ บาดทะยักสำหรับผู้ใหญ่ จะมีราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะไอกรน สำหรับผู้ใหญ่จะเป็นชนิดที่เรียกว่า ไร้เซลล์ มีอาการข้างเคียงน้อย เราให้ความสำคัญกับคอตีบกับบาดทะยักมากกว่า ส่วนไอกรน ในผู้ใหญ่จะมีราคาแพง จึงฉีดด้วยความสมัครใจ เพราะโรคในผู้ใหญ่ไม่ร้ายแรง ยกเว้นผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีและมีร่างกายอ่อนแอเพราะโรคประจำตัว

3.วัคซีนที่ฉีดในระยะหลังนี้มี 2 ชนิด ชนิดที่ทำมาจากเซลล์ทั้งตัว และชนิดไร้เซลล์ ชนิดไร้เซลล์มีราคาแพงกว่า และอาการข้างเคียงโดยเฉพาะการเป็นไข้หลังฉีดน้อยกว่า ยาชนิดนี้จึงไม่ได้อยู่ในข้อบังคับของกระทรวงสาธารณสุขและ  สปสช. ที่จะให้ฟรี จึงฉีดกันเฉพาะในหมู่ผู้ที่สามารถจ่ายได้

4.ประสิทธิภาพของวัคซีนโดยรวมไม่แตกต่างกันทั้ง 2 ชนิด แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียด วัคซีนที่ได้ฟรีที่ทำให้มีไข้ได้ นอกจากป้องกันโรคได้แล้ว ยังสามารถป้องกันการเกาะติดของเชื้อไอกรนมาที่หลอดลมทางเดินหายใจได้เป็นอย่างดี ส่วนวัคซีนชนิดไร้เซลล์ที่มีไข้ต่ำ จะไม่สามารถป้องกันการเกาะติดของเชื้อแบคทีเรีย colonization ได้ แบคทีเรียยังสามารถมาอยู่ที่คอและเพิ่มจำนวน แพร่กระจายได้ แต่ไม่ก่อโรคหรือมีการติดโรคก็มีอาการน้อยมาก ในเด็กถ้าเป็นลูกชาวบ้าน ส่วนใหญ่จะได้แบบของฟรี ส่วนเด็กที่พ่อแม่ให้ความสนใจและกลัวความเสี่ยงที่มีไข้ ก็จะฉีดชนิดไร้เซลล์ โดยเฉพาะเด็กในโรงเรียนที่มีชื่อทั้งหลาย โอกาสที่จะพบเชื้อที่คอจึงมีมากกว่า

5.เมื่อศึกษาภูมิต้านทานต่อไอกรนที่ศูนย์ของเราทำ จะพบว่าภูมิต้านทานต่อไอกรนสูงมากใน 10 ปีแรกเมื่อหลังอายุ 10 ปีไปแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่ได้ฉีดกระตุ้น ภูมิต้านทานจะลดลงโดยเฉพาะในวัยรุ่นตรวจพบภูมิต้านทานได้ประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น แต่ในอดีตก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะโรคไม่รุนแรง

6.การตรวจหาเชื้อไอกรน ในอดีตทำได้ยากมากเพราะต้องใช้วิธีการเพาะเชื้อ และเชื้อนี้ขึ้นได้ยาก และใช้เวลาในการตรวจมาก แต่ปัจจุบันนี้การตรวจโรคทางเดินหายใจทำได้ง่ายมากใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง และสามารถทำได้ถึง 23 pathogens รวมไอกรนด้วย แต่ราคาก็แพงมากทำเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลใหญ่ๆ ซึ่งมีราคาค่าตรวจประมาณ 5,000 - 6,000 บาท ในนี้จะรวมเชื้อไอกรนอยู่ด้วย

ดังนั้นเด็กที่พ่อแม่มีฐานะเท่านั้น เมื่อไม่สบายเล็กน้อยก็อยากจะรู้ว่าเป็นเชื้ออะไร ก็ยอมที่จะทำการตรวจ และจากการตรวจจำนวนมาก จะได้เชื้อหลายชนิดพร้อมกัน ในการแปลผลบางครั้งยากมากว่าเป็นตัวไหนก่อโรค และการตรวจพบไอกรน ด้วยวิธีนี้ จึงง่ายมาก และเมื่อพบเชื้อแล้วก็จะตื่นเต้น ทั้งๆที่อาการน้อยมาก หรือการพบเชื้อนี้อาจจะพบ เชื้อที่เกาะอยู่ colonization โดยไม่ได้ก่อโรค หรือเป็นการพบโดยบังเอิญเชื้อก่อโรคอาจจะเป็นตัวอื่นก็ได้ และอาการของเด็กก็ไม่ได้มากมายโดยเฉพาะในเด็กโต ก็จะเกิดการตื่นตระหนก ดังนั้นถ้ามีการตรวจกันมากก็มีค่าใช้จ่ายมาก ก็จะเจอมาก โรงเรียนที่ลูกไม่มีสตางค์ โรงเรียนวัด โรงเรียนชนบท ก็จะไม่มีโรคไอกรนระบาดแน่นอน เพราะไม่ได้ตรวจ

7.อย่างที่กล่าวมาแล้ว ครอบครัวที่สามารถจะใช้จ่ายได้ ก็จะฉีดวัคซีนชนิดไร้เซลล์ที่มีราคาแพงกว่า เพราะกลัวอาการแทรกซ้อนเรื่องไข้ ดังนั้นโอกาสที่เชื้อไอกรน จะตรวจพบได้ก็จะมีมากกว่า แต่การก่อโรคจะไม่รุนแรงเลย โดยเฉพาะในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ และในอดีตที่ผ่านมาก็เชื่อว่ามีเชื้ออยู่ตลอด เพราะวัคซีนฉีดครั้งสุดท้ายที่อายุ 6 ขวบ เราเพิ่งเอาวัคซีนไอกรนมาฉีดในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ในระยะ 10 กว่าปีที่แล้ว และฉีดอยู่ในหมู่ที่จะเสียเงินเองได้เท่านั้น

8.การพบเชื้อไอกรนในปัจจุบัน ในเด็กโตและผู้ใหญ่จึงเป็นการพบโดยมีเทคโนโลยี PCR ที่ทำได้ง่ายและรู้ผลเร็ว แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูง และมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องตรวจในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากๆ

9.เมื่อมีการตรวจพบและตรวจมากขึ้น ก็จะพบว่ามีการระบาด เพราะเป็นมากกว่า 2 คน และมักจะอยู่ในโรงเรียนที่พ่อแม่สามารถตรวจเชื้อนี้ได้เท่านั้น ด้วยราคาที่แพง โรงเรียนทั่วไปจะไม่ระบาดแน่นอนเพราะไม่ได้ตรวจ ก็เลยไม่มีปัญหา

10.เมื่อพบการระบาดเกิดขึ้น มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องปิดโรงเรียน ด้วยประการที่ 1 โรคนี้มีความรุนแรงต่ำในเด็กโต อาจจะน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่เสียอีก หรือน้อยกว่าโควิด-19 ส่วนใหญ่จะเหมือนกับไข้หวัดทั่วไป และโรคนี้สามารถป้องกันด้วยวัคซีน การปิดโรงเรียนไปแล้ว เมื่อเปิดมาก็จะพบเหตุการณ์แบบนี้อีก เราจะปิดต่อไปไหวหรือ

11.ทางออกที่ดีที่สุดคือเมื่อพบ หรือตรวจ ก็ทำการรักษาไปด้วยยาปฏิชีวนะ และถ้าจะป้องกันไม่ให้เกิดในโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่พ่อแม่สามารถจะใช้จ่ายค่าวัคซีนได้ ก็ควรจะให้วัคซีน จะให้วัคซีนชนิดไอกรนตัวเดียว หรือให้พร้อมกันทั้ง คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก สำหรับผู้ใหญ่หรือเด็กโตก็ได้ โดยทำการตรวจเช็กว่าเด็กที่ฉีดวัคซีนเมื่อ 10-12 ปีที่มีไอกรนอยู่แล้ว อาจจะไปฉีดอีกครั้งหนึ่งทุก 10 ปี เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้น คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดผู้ใหญ่ตอนอายุ 10-12 ปี และไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ก็ควรจะมีการกระตุ้น วัคซีนนี้ทุกคน

12.เมื่อเด็กได้รับวัคซีนครบแล้ว ถือเป็นเข็มกระตุ้น ภูมิต้านทานจะขึ้นได้ดีหลัง 7 วัน โรคก็จะสงบ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปิดโรงเรียน เพราะการเรียนของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ การศึกษาก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กไทย การเรียนในโรงเรียนดีกว่าเรียนออนไลน์แน่นอน และการให้วัคซีนเป็นการป้องกันระยะยาวอย่างน้อยก็ 10 ปีขึ้นไป และโดยทั่วไปแล้วผู้ใหญ่ เราก็ไม่ค่อยได้ตรวจกันทั้งที่เชื่อว่าถ้าตรวจมากก็เจออีก

13.การปิดโรงเรียน 2 สัปดาห์ ไม่เกิดประโยชน์เลย เพราะเปิดมาก็ต้องเจอกันอีก เชื้อไอกรนมีระยะฟักตัว 7-10 วัน ถ้าเป็นโรครุนแรง ถึงกับชีวิต การกักตัว ไม่ให้มีการระบาด เราจะใช้เวลา 2 เท่าของระยะฟักตัว ดังนั้นก็จะเป็น 20 วัน ซึ่งไม่มีความจำเป็นเลยสำหรับโรคไอกรน ในเด็กโตและผู้ใหญ่

14.การตื่นตระหนก และเป็นอะไรนิดหน่อย ก็ตรวจหาเชื้อ 23 โรคเลย ไม่เป็นประโยชน์เลย และเมื่อตรวจมาแล้วบางครั้งพบเชื้อ 3 , 4 , 5 ชนิด ไม่รู้เลยว่าชนิดไหนก่อโรค และก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการรักษามากมาย นอกจากในผู้ที่เป็นรุนแรง และการตรวจนั้นมาประกอบการรักษา โดยเฉพาะโรคที่มียาต้านไวรัสจะเป็นประโยชน์กว่า เช่นตรวจเฉพาะไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด-19 เพราะ 2 โรคนี้มียาต้านไวรัส

15.ข้อคิดที่ให้มาทั้งหมดเป็นความรู้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ สำหรับผู้ปกครองเพื่อลดการตื่นตระหนก โดยเฉพาะทุกคนเชื่อว่าห่วงลูกหลานของตน แต่เรื่องนี้ไม่ได้เรื่องใหญ่โตเลย อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่ และเมื่อกระจายออกไปมากๆ ตรวจมากๆ เด็กก็จะขาดเรียนมากๆ โดยใช่เหตุ ควรพิจารณาตามสถานการณ์ และข้ออ้างอิงทางวิชาการ

อ่านข่าว :

ผลสอบสวนโรคครู-นร. "1,436" ป่วยอุจจาระร่วง ต้นตอน้ำ-น้ำแข็ง

เช็กอาการ "โรคฉี่หนูในเด็ก" หมอเตือนเลี่ยงลุยน้ำท่วม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง