ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อาถรรพ์ “เขากระโดง” 2 พรรคใหญ่ พท.-ภท.เปิดศึก

การเมือง
12 พ.ย. 67
15:53
4,160
Logo Thai PBS
อาถรรพ์ “เขากระโดง” 2 พรรคใหญ่ พท.-ภท.เปิดศึก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกา เคยมีคำพิพากษาอย่างน้อย 2 คดี ว่าที่ดินพิพาทบริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เป็นของการรถไฟฯ หรือ รฟท.

แต่แทนที่จะมีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ย้ายทรัพย์สินที่เอกชนเอาที่ดิน รฟท.ไปออกโฉนด คืนให้กับการรถไฟฯ

กรมที่ดิน ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กลับไปตั้งกรรมการตรวจสอบ ตามคำตัดสินของศาล ก่อนกรรมการ มีมติเอกฉันท์เห็นควร “ไม่เพิกถอน” หรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินของ รฟท. บริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ด้วยข้ออ้าง ไม่มีหลักฐานเป็นที่ยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท.

ทั้งที่การเพิกถอนที่ดินกว่า 5 พันไร่ดังกล่าว เกิดขึ้นจากประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวง 8 พ.ย.2462 หรือกว่า 105 ปีมาแล้ว เป็นประกาศ พ.ร.ก.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวง ต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี

ให้กรมรถไฟหลวง (ขณะนั้น) ตรวจและวางแนวทางรถไฟ ตั้งแต่นครราชสีมา อ.พิมาย ไปยังบุรีรัมย์ จนถึง อุบลราชธานี อ.วารินชำราบ ให้เสร็จภายใน 2 ปี และห้ามเจ้าของที่ดินที่ครอบครองก่อน 8 พ.ย.2462 ทำธุรกรรมใด ๆ และห้ามสร้างบ้าน ปลูกต้นไม้ หรือทำไร่ ก่อนได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ รฟท. มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่เขากระโดง และบ้านตะโก ทำทางรถไฟเพื่อเข้าแหล่งระเบิดและย่อยหิน ระยะทาง 8 กม. โดย 4 กม.แรก มีเจ้าของที่ดิน 18 ราย ส่วนอีก 4 กม.จนถึงแหล่งหินไม่มีเจ้าของ

กระทั่งเมื่อ 9 พ.ย.2513 มีข้อพิพาทระหว่างนายชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา และราษฎร บุกรุกที่ดิน รฟท. ในพื้นที่เขากระโดง ผลการเจรจายอมรับว่า ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ และทำหนังสือขออาศัย และรฟท.ยินยอม

กระทั่งวันที่ 26 ต.ค.2515 มีการนำที่ดินดังกล่าวไปออกโฉนด และขายให้คนตระกูลดัง เมื่อ 21 ธ.ค.2535 ก่อนจะนำไปขายต่อให้บริษัทโรงโม่หินชื่อดัง ของตระกูลนักการเมืองใหญ่

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการนำที่ดินเขากระโดงไปออกเป็นโฉนดอื่นอีก 1 แปลง ก่อนมีการขายต่อเป็นทอดๆ กระทั่งถึงนักการเมืองตระกูลดังอีก แม้จะมีหนังสือแจ้งจากสำนักงานที่ดินแจ้งว่า “ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตทางรถไฟ”

จากนั้น ได้เกิดข้อพิพาทเขากระโดงหลายครั้ง เรื่องไปถึงทั้งกฤษฎีกา กรรมาธิการวุฒิสภา และปปช. ความเห็นและคำวินิจฉัย ยังคงเป็นที่ดินของการรถไฟ และให้ผู้ว่าการรถไฟฯ ดำเนินคดีกับผู้บุกรุก จึงมีการฟ้องร้อง และศาลฎีกาพิพากษายืนว่า ที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ไม่สามารถออกโฉนดได้ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายสิ่งของทรัพย์สินออกจากที่ดิน เมื่อ 22 พ.ย.2561

แต่ดังที่ทราบกระบวนการนี้ยังไปไม่ถึงไหน และที่ดินเขากระโดงก็ยังไม่ได้กลับสู่ รฟท. กระทั่งมีผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ให้ รฟท.ต้องไปพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลเอง คือ ฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกเป็นรายแปลง

ระหว่างเรื่องยังยืดเยื้อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สส.พรรคประชาชาติ เมื่อครั้งเป็นฝ่ายค้าน สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยนำเรื่องนี้ไปอภิปรายไม่ไว้วางใจนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีคมนาคม (18 ก.พ.2564)

อ้างว่าได้ตรวจสอบพบว่า เมื่อปี 2513 มีการครอบครองที่ดินเขากระโดงเพิ่มอีก 12 แปลงโดยตระกูลนักการเมืองดัง ตั้งข้อสังเกตเป็นการเอื้อผลประโยชน์ โดยเฉพาะต่อฝ่ายการเมือง

แต่ที่ชัดเจนและฟันธงว่า เป็นศึกทางการเมือง ระบุเป็น “เพลงกระบี่อำมหิตเริ่มบรรเลง” พรรคเพื่อไทยเดือด กระซวกคืนพรรคภูมิใจไทย ส่อแตกหัก คือนายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมายรุ่นอาวุโส และเป็นอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผ่านการโพสต์ข้อความเฟซบุ๊คส่วนตัว

ระบุผลสอบของกรรมการที่ตั้งโดยอธิบดีกรมที่ดิน มีมติไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ เท่ากับเป็นการอุ้มสำนักเขากระโดง และอ้างถึงการออกมาแสดงท่าทีเรื่องนี้ของรัฐมนตรี 3 คนจาก 3 พรรคการเมือง

ตั้งแต่นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย พรรคภูมิใจไทย ยืนยันเรื่องจบแล้ว ไม่มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินเขากระโดงเด็ดขาด

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรียุติธรรม จากพรรคประชาชาติ แถลงชัดเจนให้กรมที่ดินต้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ตามคำพิพากษาของศาล ที่ดินเขากระโดง 5 พันกว่าไร่ เป็นของการรถไฟฯ

และอีกคน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม จากพรรคเพื่อไทย สั่งการให้การรถไฟฯ ยื่นคำร้องต่อศาลให้เปิดการไต่สวนเพื่อมีคำสั่งให้กรมที่ดิน ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล

พร้อมประโยคเด็ด การรถไฟฯ จะไม่ยอมเสียที่ดินแม้ตารางวาเดียว

เป็นการสะท้อนนัยทางการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้ ระหว่าง 2 พรรคใหญ่ในรัฐบาล ที่ถูกจับตามาตลอดว่า มีการเจรจาต่อรองทางการเมือง ทั้งที่ลงตัวและไม่ลงตัว

ล่าสุด เห็นได้ชัดจากการออกโรงแจงของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยอมรับไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้าจริง แต่ไม่ได้ร่วมวงกินมาม่า ด้วย ติดธุระจึงขอตัวกลับก่อน

ทั้งบอกด้วยว่า ตัวเองชอบไวไวมากกว่า คล้ายกับเซฟตัวเองในที ไม่ได้อยู่ในวงกินมาม่า ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พูดถึงในการให้สัมภาษณ์สื่อ เมื่อวันเสาร์ ระหว่างเป็นประธานงานกฐิน เพราะเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ระหว่างมีคนยื่นคำร้องต่อกกต.

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า 2 พรรคใหญ่ยังต้องพึ่งพาอาศัยกันต่อไป และไม่มีวันจะถึงขั้นต้องแตกหักแน่นอน

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : "อนุทิน" ปัดชนวนเขากระโดงรอยร้าว เพื่อไทย-ภูมิใจไทย

นักเรียนหญิง พลัดตกอาคารเรียนชั้น 7 บาดเจ็บสาหัส

"หนุ่ม กรรชัย" เอาผิด "นักร้องเรียน-อดีตดารา" ปมอ้างชื่อเรียกเงิน 20 ล้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง