วันนี้ (11 พ.ย.2567) คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้เลื่อนมาจากกำหนดเดิมในวันที่ 4 พ.ย.2567
หลังมีกระแสต่อต้านจาก 4 อดีตผู้ว่าฯ ธปท. กลุ่มนักวิชาการ และเครือข่ายนักศึกษาประชาชน รวมทั้งมีความกังวลว่า ธปท. จะถูกการเมืองเข้าครอบงำการทำงาน เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถูกกำหนดให้เป็นตัวเต็งที่จะได้รับเก้าอี้ประธานบอร์ด ธปท.
นอกจากนี้ยังมี 2 ชื่อที่เสนอจาก ธปท.ได้แก่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการอิสระ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
คัดค้านการเมืองครอบงำ ธปท.
ทั้งนี้มีรายงานว่า ในวันนี้ เวลา 09.30 น. เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรม ได้นัดไปชุมนุมกันที่หน้า ธปท. อีกครั้งเพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงครอบงำ ธปท. ผ่านการเลือกประธานบอร์ด ธปท.
โดยทางกลุ่มฯ จะมีการนำรายชื่อประชาชนที่ร่วมลงชื่อรณรงค์คัดค้านการเมืองแทรกแซง ธปท. ผ่านเครือข่ายต่างๆ ที่รวบรวมล่าสุดประมาณ 45,000 รายชื่อ เพื่อนำไปยื่นเพิ่มเติมจากสัปดาห์ก่อนที่ยื่นไปแล้วประมาณ 29,000 รายชื่อ
ขณะที่กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม และภาคส่วนต่างๆ ได้ออกแถลงการณ์ล่าสุด ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2567 โดยเรียกร้องอีกครั้งให้คณะกรรมการคัดเลือกทั้ง 7 คน ดำเนินการคัดเลือกประธาน และกรรมการ ธปท. โดยพิจารณาอย่างถ่องแท้ต่อคุณสมบัติที่เป็นหลักสากลของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางทั่วโลก ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ และเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ปราศจากความเกรงใจ และความสัมพันธ์ทางการเมือง เพื่อให้ ธปท. เป็นสถาบันที่เป็นอิสระจากการครอบงำเพื่อหาผลประโยชน์ในระยะสั้นทางการเมือง
อดีต ผู้ว่า ธปท.โพสต์จะเกิดอะไรหากการเมืองแทรกแซง ธปท.
นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (อดีตผู้ว่า ธปท.) โพสต์ผ่านเฟชบุ๊ก Veerathai Santiprabhob ระบุว่า "ขอย้ำอีกครั้งนะครับ ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ
candidate ชื่ออะไรไม่สำคัญ แต่ถ้ามีประวัติเป็นคนการเมืองแบบแนบแน่น มีทัศนคติและวิธีคิดที่อยากแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางเพื่อตอบโจทย์การเมือง ก็ไม่สมควร
ถ้าเรายอมให้ฝ่ายการเมืองส่งคนการเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่าย จะเป็นอันตรายยิ่งต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง และทำลายหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจของประเทศให้อ่อนแอจนไม่เหลือสักหน่วยงานเดียวที่จะทัดทานนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ถูกไม่ควรได้
ต่อไปเราคงเห็นนโยบายประชานิยมแบบปลายเปิดเต็มไปหมด ไม่มีใครสนใจวินัยการเงินการคลัง มีแต่นโยบายที่หวังผลประโยชน์ระยะสั้นเพื่อตอบโจทย์การเมืองเป็นหลัก ในอนาคตนโยบายการเงิน และนโยบายสถาบันการเงินก็อาจจะถูกทำให้กลายพันธุ์เป็นนโยบายประชานิยมไปด้วยก็ได้ครับ 11.11 ร่วมด้วยช่วยกันป้องกันอย่าให้การเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่าย"
อ่านข่าว :