ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้หรือไม่? “MOU44” มีที่มาอย่างไร และทำไมควรจะยกเลิก

การเมือง
8 พ.ย. 67
16:13
25,384
Logo Thai PBS
รู้หรือไม่? “MOU44” มีที่มาอย่างไร และทำไมควรจะยกเลิก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“เหตุที่ต้องยกเลิก MOU 2544 ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา” เป็นรายงานที่มีเนื้อหา ลำดับเหตุการณ์ ข้อเท็จจริง ก่อนจะมี MOU44 เมื่อปี 2544

ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธานกรรมการ บริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เขียน เหตุที่ต้องยกเลิก MOU 2544 ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ไว้ เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2555 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า

1.ความเป็นมา

ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ไหล่ทวีปของรัฐชายฝั่งประกอบด้วย พื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินของบริเวณใต้ทะเล ซึ่งขยายเลยทะเลอาณาเขตออกไปตลอดแนวทอดยาวตามธรรมชาติของดินแดนจนถึงริมนอกของขอบทวีป หรือจนถึงระยะ 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน ซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตในกรณีที่ริมนอกของขอบทวีปขยายไปไม่ถึงระยะนั้น รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยในการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในไหล่ทวีปของตน และผู้ใดจะดำเนินการเหล่านี้ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐชายฝั่งนั้นก่อน

กัมพูชาและไทยได้ประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของตนในอ่าวไทยเมื่อปี 2515 และ 2516 ตามลำดับ การประกาศอ้างสิทธิเขตไหล่ทวีปของทั้งสองฝ่ายทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลประมาณ 26,000 ตร.กม. ทั้งสองฝ่ายได้มีการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลหลายครั้งเริ่มตั้งแต่ปี 2513

จนในที่สุดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2544 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามรับรองบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป ซึ่งต่อไปเรียกว่า “MOU 2544”

MOU 2544 เป็นบันทึกความเข้าใจที่กำหนดกรอบและกลไก ในการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปักปันเขตแดน (delimitation) ทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนบนที่อยู่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ โดยมีพื้นที่ประมาณ 10,000 ตร.กม.ซึ่งต่อไปเรียกพื้นที่ส่วนนี้ว่า “พื้นที่ทับซ้อนส่วนบน”

และเรื่องการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม สำหรับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนล่างที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ในลักษณะพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area: JDA) โดยมีพื้นที่ประมาณ 16,000 ตร.กม. ซึ่งต่อไปเรียกพื้นที่ส่วนนี้ว่า “พื้นที่ทับซ้อนส่วนล่าง” โดยต้องดำเนินการทั้งสองเรื่องในลักษณะที่ไม่แบ่งแยกออกจากกัน (indivisible package)

และให้มีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ดำเนินการพิจารณาและเจรจาร่วมกันในเรื่องนี้ ทั้งนี้ได้ตกลงกันว่า MOU 2544 และการดำเนินการทั้งหมดตาม MOU 2544 จะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละฝ่าย

ไทยและกัมพูชาได้มีการเจรจาและดำเนินการตาม MOU 2544 ตั้งแต่หลังการลงนามรับรองเมื่อปี 2544 แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถตกลงหาข้อสรุปใด ๆ ได้

โดยเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2552 ครม. ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก MOU 2544 และให้นำเรื่องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ พิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ ซึ่งมีเหตุผลให้ยกเลิก เนื่องจากการที่รัฐบาลกัมพูชา แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจาภายใต้ MOU 2544

ทั้งนี้เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณเกี่ยวข้องโดยตรง ในการผลักดันให้จัดทำ MOU 2544 และรับรู้ท่าทีในการเจรจาของฝ่ายไทย รัฐบาลไทยจึงไม่อาจดำเนินการเจรจาภายใต้ MOU 2544 ได้อีก แต่จนถึงปัจจุบัน MOU 2544 ยังไม่ถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

ต่อมารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2554 และมีท่าทีชัดเจนว่าจะไม่ยกเลิก MOU 2544 ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะเร่งเจรจากับกัมพูชา เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนดังกล่าว

และเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2554 ที่ประชุมกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ เป็นประธาน มีความเห็นว่า หลักการของ MOU 2544 ยังมีประโยชน์อยู่ และจะเสนอเรื่องนี้ให้ ครม.พิจารณา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2554 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน ได้เยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ โดยทั้งสองได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ฝ่ายกัมพูชาต้องการเร่งรัดการเจรจา เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลตาม MOU 2544 ให้เสร็จโดยเร็วภายในหนึ่งปีครึ่ง โดยทั้งสองเห็นด้วยกับการเร่งรัดการเจรจาดังกล่าว แต่ต้องรอเสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณาก่อน

อย่างไรก็ดีในขณะนี้ (2555) มีประชาชนไทยจำนวนมาก ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาตามกรอบ MOU 2544 เนื่องจากเห็นว่าไทยเสียเปรียบอย่างมาก รวมทั้งมีข้อสงสัยและห่วงใยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจมีของนักการเมืองทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา รวมทั้งของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ด้วย

2.เหตุผลที่ต้องยกเลิก MOU 2544

จากข้อมูล ข้อเท็จจริง และหลักกฎหมายระหว่างประเทศเห็นว่า MOU 2544 เป็นบันทึกความเข้าใจที่ทำให้ไทยเสียเปรียบในการเจรจากับกัมพูชาอย่างมาก รวมทั้งอาจมีการการดำเนินการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งยากแก่การตรวจสอบ จึงเห็นควรต้องยกเลิก MOU 2544 ด้วยเหตุผลสำคัญดังนี้

2.1 เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิละเมิดอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ซึ่งกัมพูชาเป็นภาคีอย่างร้ายแรง จึงควรต้องให้กัมพูชาปรับเส้นเขตไหล่ทวีปทั้งหมดของตนให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศเสียก่อน

แต่ MOU 2544 กลับกำหนดกรอบให้มีการเจรจาปรับเส้นเขตไหล่ทวีปเฉพาะในส่วนพื้นที่ทับซ้อนส่วนบนเท่านั้นซึ่งมีพื้นที่เพียงประมาณ 10,000 ตร.กม. แต่พื้นที่ทับซ้อนส่วนล่าง ซึ่งมีพื้นที่ถึงประมาณ 16,000 ตร.กม. ไม่ต้องมีการเจรจาปรับเส้นเขตไหล่ทวีปแต่อย่างใด โดยให้ใช้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม

เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิซึ่งเกี่ยวข้องกับไทยแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่มีฝั่งทะเลประชิดกับไทย และส่วนที่มีฝั่งทะเลตรงข้ามกับไทย ในการกำหนดเส้นเขตไหลทวีปนั้นต้องอิงอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศนั้นเป็นภาคี จารีตประเพณีระหว่างประเทศ และหลักทั่วไปของกฎหมายที่ถูกยอมรับโดยอารยประเทศ เป็นต้น

กัมพูชาและไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958 เมื่อปี 2503 และ 2511 ตามลำดับ ทั้งสองฝ่ายจึงมีข้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวซึ่งบัญญัติว่า หากไม่มีการตกลงกันหรือมีพฤติการณ์พิเศษ

สำหรับไหล่ทวีปของรัฐชายฝั่งที่มีฝั่งทะเลอยู่ประชิดกัน ให้ใช้หลักระยะห่างเท่ากัน (The principle of equidistance) จากจุดที่ใกล้ที่สุดของเส้นฐาน ซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตของแต่ละรัฐ

แต่กัมพูชากลับกำหนดตามใจชอบ โดยลากเส้นเขตไหล่ทวีปของตน จากฝั่งที่ตำแหน่งซึ่งอ้างว่าเป็นหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา หลักสุดท้าย ที่มาจดริมทะเล ตรงออกไปยังประมาณกลางขอบนอก ด้านตะวันออกของเกาะกูด ซึ่งเป็นของไทย

จากนั้นจึงลากเส้นเขตไหล่ทวีปเริ่มต้นใหม่ จากขอบนอกด้านตะวันตกของเกาะกูด ในระดับและทิศทางเดียวกัน ตรงออกไปทางทิศตะวันตก จนเกือบถึงกึ่งกลางอ่าวไทย การกระทำลักษณะนี้เป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวาอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่มีอารยประเทศใดทำกัน

นอกจากนี้การกำหนดเส้นเขตไหล่ทวีป ในส่วนที่มีฝั่งทะเลตรงข้ามกับไทย ถึงแม้กัมพูชาจะใช้เส้นมัธยะ (Median line) ตามอนุสัญญาเจนีวา แต่เส้นฐานตรงที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต ซึ่งใช้เป็นเส้นอ้างอิงในการกำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชานั้น ไม่เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวา

เนื่องจากกัมพูชาใช้หินกัสโรเวีย (Kusrovie) และหินคอนดอร์ (Condor) ซึ่งไม่ใช่เกาะแต่เป็นโขดหินที่โผ่พ้นน้ำ เฉพาะเมื่อน้ำทะเลลด และอยู่ห่างจากฝั่งมาก เป็นจุดฐานของเส้นฐานตรงดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นกัมพูชายังไม่พิจารณาให้ผล (Effect) ต่อเกาะใด ๆ ของไทย การกระทำดังกล่าว มีผลทำให้เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิขยายกว้างออกไปกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก โดยเป็นการขยายกินพื้นที่เข้ามาในฝั่งไทย

2.2 กรอบในการเจรจาตาม MOU 2544 ทำให้กัมพูชาไม่ต้องปรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่ตนอ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนส่วนล่าง ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งยังสามารถใช้การปรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่ตนอ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนส่วนบน ซึ่งกัมพูชาแทบจะไม่ได้พื้นที่เลยในส่วนนี้มาใช้เจรจาต่อรองได้

จากรายละเอียดการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชา ในเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปใน 3 ครั้งที่สำคัญ คือ เมื่อวันที่ 2-5 ธ.ค.2513 14 มี.ค.2535 และ 27-28 เม.ย.2538 พอสรุปได้ว่า กัมพูชามีท่าทีชัดเจนมาตลอดว่า ต้องการให้พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปทั้งหมดเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม โดยให้แบ่งผลประโยชน์ฝ่ายละเท่ากัน และไม่สนใจที่จะปรับปรุงเส้นเขตไหล่ทวีปที่ตนอ้างสิทธิให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

ส่วนไทยมีท่าทีว่า เขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิ ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กัมพูชาต้องปรับเส้นเขตไหล่ทวีปของตนให้ถูกต้อง ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ จนเหลือพื้นที่ทับซ้อนที่แท้จริงที่สมเหตุผล และมีพื้นที่น้อยที่สุด แล้วจึงค่อยมาพิจารณาพื้นที่นั้น เพื่อทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม

ท่าทีของไทยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นท่าทีที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมทั้งสอดคล้องกับท่าทีการเจรจาเขตแดนทางทะเลของไทย ที่ผ่านมากับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ

นอกจากนี้กัมพูชามีความต้องการ ที่จะให้ดำเนินการตกลง ทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมให้เร็วที่สุดเพื่อการแสวงหาประโยชน์ จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว อันจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของตนอย่างสำคัญยิ่ง

ในขณะที่ไทยไม่มีความจำเป็นที่ต้องรีบเร่งในเรื่องดังกล่าว อย่างเช่น กัมพูชา ความต้องการในการรีบเร่งที่แตกต่างกันนี้ทำให้ไทยอยู่ในฐานะที่เหนือกว่ากัมพูชาในการเจรจาก่อนการจัดทำ MOU 2544

แต่ MOU 2544 กลับกำหนดกรอบในการเจรจาที่ต่างไปจากท่าทีเดิมของไทยดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง โดยกำหนดกรอบให้เจรจาปรับเส้นเขตไหล่ทวีป ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เฉพาะในส่วนพื้นที่ทับซ้อนส่วนบนเท่านั้น

แต่พื้นที่ทับซ้อนส่วนล่าง ไม่ต้องมีการเจรจาปรับเส้นเขตไหล่ทวีปแต่อย่างใด โดยให้ใช้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม นอกจากนี้ยังกำหนดให้การดำเนินการ สำหรับพื้นที่ทับซ้อนทั้งสองส่วน มีลักษณะที่ไม่แบ่งแยกออกจากกัน

อ่านข่าว : ปัดฝุ่น "MOU44" พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา

แต่ตามข้อเท็จจริงพื้นที่ทับซ้อนส่วนบนนั้น กัมพูชากำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปตามใจชอบ ในขณะที่ไทย มีการกำหนดที่มีความสอดคล้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศมากกว่ากัมพูชา อย่างมีนัยสำคัญ ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทั้งส่วนบนและล่าง

ดังนั้นหากกำหนดให้ถูกตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว กัมพูชาแทบจะไม่ได้พื้นที่อะไรเลย ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนส่วนบน และพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่แท้จริง ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนส่วนล่าง จะเหลือน้องลงจากเดิมอย่างมาก ในทางที่เป็นคุณต่อไทย

ดังนั้นการผูกประเด็นเจรจาให้พื้นที่ทับซ้อน ทั้งสองส่วนแยกต่างหากจากกัน มิได้มีผลที่เป็นคุณต่อกัมพูชามากกว่าไทย โดยก่อนจัดทำ MOU 2544 กัมพูชาอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถต่อรองอะไรได้มาก

เพราะกัมพูชากำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปของตน โดยไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศใด ๆ แต่เมื่อจัดทำ MOU 2544 แล้ว พื้นที่ทับซ้อนส่วนล่าง ไม่มีประเด็นที่จะต้องอ้างอิงหลักกฎหมายระหว่างประเทศใดอีกต่อไป

ในขณะที่พื้นที่ทับซ้อนส่วนบน เป็นส่วนที่กัมพูชาแทบจะไม่ได้พื้นที่อะไรเลยอยู่แล้ว หากกำหนดตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่กัมพูชากลับสามารถใช้การเจรจาในพื้นที่ทับซ้อนส่วนบน มาเป็นประโยชน์สำหรับการเจรจาต่อรองกับไทย ในพื้นที่ทับซ้อนส่วนล่างได้

2.3 แหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา มีการกระจายตัวอยู่ไม่สม่ำเสมอ และค่อนข้างเป็นไปได้อย่างมากว่า ส่วนใหญ่อยู่ที่ด้านตะวันตกของพื้นที่ดังกล่าวซึ่งอยู่ใกล้ฝั่งไทย

มีการคาดการณ์ที่น่าเชื่อถือได้ ในทางธรณีวิทยาว่า แหล่งทรัพยากรทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีศักยภาพนั้น อยู่ที่บริเวณตะวันออกของแอ่งปัตตานี (Pattani Trough) ซึ่งต่อจากน่านน้ำไทยออกไปในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา และค่อนข้างเป็นไปได้อย่างมากว่า ทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนนั้น มีการกระจายตัวอยู่ไม่สม่ำเสมอ โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ด้านตะวันตกของพื้นที่ดังกล่าวซึ่งอยู่ใกล้ฝั่งไทย

จากรายงานการสำรวจด้านธรณีวิทยา (Fact Sheet 2010-3015) ของสหรัฐอเมริกา (USGS) เมื่อเดือน มิ.ย.2553 ซึ่งได้ให้ข้อมูลการประเมิน บริเวณที่มีน้ำมันและแก๊ส ซึ่งยังไม่ค้นพบภายในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการแสดงรูปตำแหน่งของแอ่ง (Basin) ที่มีการสะสมตัวของน้ำมันและแก๊สรวม 23 แห่ง

สำหรับในอ่าวไทยนั้นมีแอ่งดังกล่าวอยู่จำนวน 3 แอ่ง คือ แอ่งซีโนโซอิกไทย (Thai Cenozoic Basin) อยู่ด้านเหนือของอ่าวไทย แอ่งไทย (Thai Basin) อยู่ด้านตะวันตกของอ่าวไทยโดยมีแอ่งปัตตานีเป็นแอ่งย่อย และแอ่งมาเลย์ (Malay Basin) อยู่ทางด้านใต้ของอ่าวไทย โดยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา มีแอ่งที่มีการสะสมตัวของน้ำมันและแก๊สอยู่ส่วนใหญ่ในด้านที่ใกล้ฝั่งไทย

ด้วยเหตุนี้กัมพูชาจึงต้องการตกลงให้พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนดังกล่าวทั้งหมดหรือมากที่สุดเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม โดยไม่ต้องการแบ่งเขตทางทะเลกับไทย MOU 2544 จึงตอบสนองความต้องการดังกล่าวของกัมพูชาได้อย่างดียิ่ง แต่กลับทำให้ไทยต้องเสียเปรียบอย่างมากในการเจรจาต่อรอง

2.4 ผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาในพื้นที่พัฒนาร่วมที่ยากแก่การตรวจสอบ

หากพิจารณาการจัดทำ MOU 2544 จะพบว่า มีการเร่งรีบอย่างมาก รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2544 ได้จัดให้มีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการของเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของไทยและกัมพูชาที่เสียมราฐเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2544 ซึ่งสามารถกำหนดแนวทางจนนำไปสู่การจัดทำ MOU 2544

ในวันที่ 4 มิ.ย.2544 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศ ของไทยในขณะนั้น และนายซก อัน รัฐมนตรีอาวุโส และประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ได้ร่วมลงนามเบื้องต้นใน MOU 2544 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเสนอบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ให้รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ต่อมาได้มีการลงนามรับรองอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2544 ณ กรุงพนมเปญ ในระหว่างการเยือนกัมพูชา อย่างเป็นทางการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

จะเห็นว่า มีการใช้เวลาเพียงแค่ประมาณ 4 เดือน ในการจัดทำ MOU 2544 อันบ่งบอกถึงความรีบเร่งในการจัดทำ MOU 2544 ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงในการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาเข้ามาเกี่ยวข้อง

ยิ่งไปกว่านั้นหากดูที่แผนที่แนบท้าย MOU 2544 ซึ่งแสดงถึงการแบ่งพื้นที่ทับซ้อนส่วนบนและส่วนล่าง จะเห็นว่ามีการระบุเส้นละติจูดผิดจาก “องศาเหนือ (oN)” เป็น “องศาตะวันออก (oE)” อันเป็นการยืนยันถึงความรีบเร่งในการจัดทำ MOU 2544

นอกจากนี้เมื่อพรรคเพื่อไทยนำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ซึ่งเคยแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาส่วนตัว และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา เมื่อปี 2552 ได้ออกมาแสดงความยินดี อย่างผิดสังเกต

ในขณะที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีท่าทีชัดเจนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งว่า จะไม่ยกเลิก MOU 2544 ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะเร่งเจรจากับกัมพูชา เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนดังกล่าว

ถึงแม้ข้อตกลงสุดท้ายที่ได้จากการเจรจาของ JTC ตาม MOU 2544 จะต้องเสนอรัฐสภาฯ ให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนอย่างน้อยถึง 300 เสียง และมีฐานเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกวุฒิสภา ที่มาจากการเลือกตั้งอีกจำนวนหนึ่ง จึงเป็นเรื่องไม่ยากที่จะได้เสียงเกิน 325 เสียง ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของเสียงทั้งหมดในรัฐสภา สำหรับการให้ความเห็นชอบข้อตกลงดังกล่าว ส่งผลให้การตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเป็นไปได้ยากยิ่ง

สำหรับการยกเลิก MOU 2544 นั้น ไทยอาจดำเนินการโดยการหยุดเจรจาตาม MOU 2544 ซึ่งก็เสมือนเป็นการยกเลิก MOU 2544 โดยปริยาย เนื่องจากยกเลิก MOU 2544 อย่างเป็นทางการ อาจไม่สามารถทำได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

เมื่อกัมพูชาเห็นท่าทีอย่างชัดเจนว่า ไทยหยุดการเจรจา กัมพูชาก็จะเริ่มเข้ามาเจรจากับไทยใหม่เนื่องจากกัมพูชาเองมีความต้องการอย่างมากที่จะแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ไทยควรเสนอให้มีการปักปันเขตแดนทางทะเลตลอดแนวกับกัมพูชา

หากการเจรจาปักปันเขตแดนดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จภายใน 1-2 ปี ก็ควรตกลงกับกัมพูชาให้ยื่นเรื่องให้ศาลโลก หรือศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ เพื่อตัดสินกำหนดเส้นเขตแดนทางทะเล ศาลอาจใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ในการตัดสิน รวมเวลาการเจรจาและให้ศาลตัดสินแล้วไม่น่าจะเกิน 5 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่นานนัก

ทั้งนี้คำตัดสินของศาลโลกในคดีต่าง ๆ เกี่ยวกับเขตแดนทางทะเลที่ผ่านมามีความยุติธรรมและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป รวมทั้งคำวินิจฉัยจากคดีดังกล่าวยังถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการเจรจาแบ่งเขตทางทะเลระหว่างรัฐชายฝั่งอย่างกว้างขวางอีกด้วย


เหตุที่ต้องยกเลิก MOU 2544 ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง