ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ลอยกระทง 2567" ประเพณีอันงดงาม กับเรื่อง "นางนพมาศ"

ไลฟ์สไตล์
11 พ.ย. 67
14:42
3,297
Logo Thai PBS
"ลอยกระทง 2567" ประเพณีอันงดงาม กับเรื่อง "นางนพมาศ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง

..เราทั้งหลายชายหญิง

...สนุกกันจริง วันลอยกระทง

....ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง

หนึ่งในเนื้อเพลงที่คุ้นหู ใครหลายคนในประเพณีที่สำคัญของไทยนั้นคือ "วันลอยกระทง" ถูกนำกลับมาเปิดขึ้นอีกครั้งตามสถานที่จัดงานต่าง ๆ เช่น วัด หรือแม้แต่ในห้างสรรพสินค้า คาเฟ่ที่หลายคนไปนั่งชิล ก็มีการเปิดเพลงคลอ ให้เข้ากับเทศกาลลอยกระทง ประเพณี มรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย ที่มีมายาวนาน

อ่านข่าว : ไฮไลต์ลอยกระทงรักษ์โลก 140 จุดทั่วกรุง งดใช้โฟม-ขนมปัง

ลอยกระทง

ลอยกระทง

ลอยกระทง

ปีนี้ "วันลอยกระทง 2567" ตรงกับ วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน หรือ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ในวันนี้จะมีกิจกรรม "ลอยกระทง" ที่ถูกทำขึ้นลงแม่น้ำ หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ เชื่อกันว่าเป็นประเพณีที่มีขึ้นเพื่อขอขมาพระแม่คงคา อีกทั้งยังมีความหมายเชิง "ขอบคุณ" และ "ขอขมา" ต่อธรรมชาติที่ให้สายน้ำในการดำรงชีวิตและการเพาะปลูก

ประเพณีนี้มีความเชื่อมโยงกับวิถีของผู้คนมาตั้งแต่ครั้งอดีต เชื่อกันว่าการลอยกระทงจะช่วยลอยความทุกข์ สิ่งที่ไม่ดีออกไปพร้อมกับกระทงที่ลอยไปกับกระแสน้ำ และยังเป็นการอธิษฐานขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล

วันลอยกระทงหากไม่พูดถึง "นางนพมาศ" คงไม่ได้ นั้นเพราะเป็นอีกหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเพณีนี้ แต่ละปีจะมีการจัดประกวดสาวงาม "นางนพมาศ" ในงานประเพณีของพื้นที่ต่าง ๆ สร้างสีสันได้ไม่น้อย แล้ว "นางนพมาศ" เกี่ยวข้องกับประเพณีลอยกระทง อย่างไร มาหาคำตอบกัน

"นางนพมาศ" กับ "ประเพณีลอยกระทง"

"ประเพณีลอยกระทง" ในวันเพ็ญเดือน 12 มีหญิงที่ปรากฎในเรื่องเล่าประวัติวันลอยกระทง นั้นคือ "นางนพมาศ" ผู้คิดประดิษฐ์ "กระทง" ขึ้นมา กลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา    

ชื่อของ "นางนพมาศ" ถึงพูดถึงในพระราชนิพนธ์หนังสือ "ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์" โดยในหนังสือเรื่อง "ประเพณีลอยกระทง" โดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้อธิบายเกี่ยวกับนางนพมาศ และการทำกระทงที่เป็นรูปดอกบัว ได้อย่างน่าสนใจไว้ว่า

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่การศึกสงครามลดลง การค้าก็มั่งคั่ง จึงโปรดให้ฟื้นฟูประเพณีพิธีกรรมสำคัญ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับน้ำจึงได้ทรง พระราชนิพนธ์หนังสือ "ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์" หรือ "นางนพมาศ" ขึ้น โดยสมมุติให้ฉากของเรื่องเกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย 

ภาพประกอบข่าว : ลอยกระทง

ภาพประกอบข่าว : ลอยกระทง

ภาพประกอบข่าว : ลอยกระทง

ตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศว่า เป็นพระสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดค้นกระทงใบตอง เป็น "รูปดอกบัวกมุท" ขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้ง สมควรเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งเมื่อพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นก็รับสั่งถามถึงความหมาย นางจึงได้ทูลอธิบาย จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า 

"แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็น รูปดอกบัว อุทิศสักการะบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน"

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดกระทงทำด้วยใบตอง และนิยมใช้มาแต่คราวนั้น ตราบจนทุกวันนี้

อ่านข่าว : บรรยากาศดี๊ดี! แจก 20 พิกัดลอยกระทง 2567 ที่ต้องไปเช็กอิน

ภาพประกอบข่าว : ลอยกระทง

ภาพประกอบข่าว : ลอยกระทง

ภาพประกอบข่าว : ลอยกระทง

ประเพณีไทย แสดงถึงความกตัญญูต่อแม่น้ำ

ประเพณีลอยกระทงเกิดจากคติความเชื่อของชนชาติที่ประกอบ "กสิกรรม" ซึ่งต้องอาศัยน้ำในการเพาะปลูก เมื่อถึงเวลาน้ำหลาก จึงทำกระทงเพื่อขอบคุณพระแม่คงคา หรือสิ่งศักดิ์ที่ประทานน้ำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์  

มาถึงตรงนี้หลายคนได้รู้ถึงความเป็นมาของนางนพมาศแล้ว แล้ว "ประเพณีลอยกระทง" ของชาวไทยแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ต่าง ๆ  

"ภาคเหนือ" เรียกว่าประเพณี "ลอยโขมด" หรือ "ลอยไฟ" ภายหลังเรียกว่า "ลอยสะเปา" หมายถึงลอยกระทงขนาดใหญ่ เพื่อส่งประทีปดอกไม้ธูปเทียนไปนมัสการพระมหาอุปคุตเจ้า มีการปล่อยโคมลอย เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งนิยมทำกันในเดือนยี่เป็ง

ลอยกระทง

ลอยกระทง

ลอยกระทง

"ภาคอีสาน" เรียกว่าเทศกาล "ลอยเรือไฟ" หรือ "ปล่อยเฮือไฟ" ปฎิบัติในเทศกาลออกพรรษาช่วงขึ้น 15 ค่ำ ถึงแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวคุ้มต่าง ๆ จะจัดให้มีการแข่งเรือ และไหลเรือไฟ 

"ภาคกลาง" นิยมทำกระทงใบตองไปลอยเพื่ออธิษฐานขอพร และขอขมาแม่พระคงคา มีการจุดดอกไม้เพลิงเล่นสนุกในวันเพ็ญเดือน 12

การลอยกระทงของ "ภาคใต้" ไม่ได้กำหนดว่าเป็นกลางเดือน 12 หรือเดือน 11 แต่จะลอยเพื่อสะเดาะเคราะห์ นิยมเอาหยวกมาทำเป็นแพประดับธงทิวบรรจุดอกไม้ธูปเทียน เงิน และเสบียงต่างๆ ไว้ในแพ

ลอยกระทง

ลอยกระทง

ลอยกระทง

วันเพ็ญเดือน 12 ทำไมน้ำถึงนอง เต็มตลิ่ง

"วันลอยกระทง" ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เป็นวันที่มักจะมีระดับน้ำขึ้นสูงมาก และลงต่ำมาก ในบางช่วงเวลาของวัน คนที่อยู่ริมทะเลหรือริมแม่น้ำ จะสังเกตเห็นได้ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "น้ำขึ้น น้ำลง" 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า เกิดจากการที่ โลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ เรียงกันอยู่ในแนวเส้นตรง ทำให้แรงดึงดูดจากดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เสริมกัน ส่งผลให้น้ำทะเลของโลกด้านที่อยู่ใกล้กับดวงจันทร์เกิดน้ำขึ้น และด้านที่อยู่ตรงกันข้ามเกิดน้ำขึ้นเช่นกันแต่มีระดับน้อยกว่า โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ ซึ่งเรียกกันว่า "ปรากฏการณ์น้ำเกิด"

ปรากฏการณ์น้ำเกิด (วันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ) และปรากฏการณ์น้ำตาย (วันขึ้น 8 ค่ำ และวันแรม 8 ค่ำ) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติทุกเดือนอยู่แล้ว

แต่ที่ในช่วง "เทศกาลลอยกระทง" จัดขึ้นในเดือน พ.ย.นั้น เป็นเพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่มีน้ำหลาก ทำให้เหมาะกับกับการลอยกระทง นั้นเอง 

อ่านข่าว : เปิดตัว "หมูเด้ง" พรีเซนเตอร์โปรโมท "ลอยกระทง" ประเพณีไทย

กระทง

กระทง

กระทง

ชวนกันงดลอยกระทงขนมปัง - โฟม 

กระทงดั้งเดิมจะทำจากใบตองและวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบกล้วย ดอกไม้ ใบเตย และมักจะใส่ธูป เทียน ดอกไม้ หรือเหรียญลงในกระทงด้วย ปัจจุบันหลายคนหันมาสนใจเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาขยะจากการลอยกระทง

ปีนี้ในแต่ละจังหวัดมีการจัดกิจกรรมลอยกระทง ที่เรียกได้ว่าจะคึกคักกว่าหลายปีที่ผ่านมา ใครอยู่จังหวัดไหนก็ไปเที่ยวกันได้ นั้นเพื่อร่วมกันสืบสานประเพณีลอยกระทงให้คงอยู่ อย่างปีนี้ที่ กทม. ภาครัฐและเอกชน ได้กระจายกันจัดงานลอยกระทง ทั่วกรุงเทพฯ 140 จุด ใครใกล้ที่ไหนสามารถไปลอยกระทงได้ใกล้ๆ บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางไกล ได้เลย

ปีนี้ยังได้ขอความร่วมมือทุกคนร่วมมือกัน ลอยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ งดการนำกระทงโฟมและกระทงขนมปังทุกรูปแบบมาลอยในบึงน้ำภายในสวนสาธารณะ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดต่อสัตว์น้ำและบึงน้ำซึ่งเป็นระบบปิด

กระทงขนมปังเป็นปัญหาต่อการจัดเก็บมากที่สุด เปื่อยยุ่ยง่าย บางชนิดใช้สีที่เป็นอันตรายต่อปลา และเมื่อขนมปังจมลงสู่ก้นสระ จะทำให้ระดับออกซิเจนลดต่ำจนเป็นอันตรายกับสัตว์น้ำทุกชนิด และสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ

เชิญชวนลอยกระทงแบบรักษ์โลก มาด้วยกัน ลอยด้วยกัน 1 กลุ่ม 1 ครอบครัว 1 กระทง เพื่อร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและช่วยลดปริมาณขยะจากกระทง
ลอยกระทง

ลอยกระทง

ลอยกระทง

อยู่ที่ไหนก็ลอยกระทงได้  

นอกจากนี้ลอยกระทงปีนี้ กทม. ยังชวนลอยกระทงแบบออนไลน์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ลอยกระทงได้ง่าย ๆ  ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณขยะ ลดการสร้างมลภาวะและฝุ่นละออง โดยลอยกระทงออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Greener Bangkok หรือลิงก์ https://greener.bangkok.go.th สามารถเลือกสวนสาธารณะที่มีให้เลือกมากถึง 34 แห่ง พร้อมเลือกกระทงตามสไตล์ที่ชอบ ร่วมขอขมาต่อพระแม่คงคาและอธิษฐานขอพรในวันสำคัญทางประเพณีของไทย

"การลอยกระทง" เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมไทยที่ผูกพันกับสายน้ำ ธรรมชาติ และความเชื่อ อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ให้มาร่วมสัมผัสกับวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามของไทย ถึงแม้ว่าวิถีชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนแปลงไป แต่คนไทยก็ยังคงสืบสานประเพณีลอยกระทง โดยปรับให้เข้ากับยุคสมัยต่อไป 

อ่านข่าว : งานวัดภูเขาทอง 2567 สักการะพระบรมสารีริกธาตุ ร่วมประเพณีห่มผ้าแดง

นวนิยาย "กี่บาด" ของประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด คว้ารางวัลซีไรต์ 2567

ปฏิทินวันหยุดพฤศจิกายน 2567 ไร้วันหยุด แต่เรายังสุขในวันลอยกระทง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง