วันนี้ (6 พ.ย.2567) การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยที่บอสตัน รัฐแมสซาซูเซตส์ สหรัฐอเมริกา คนอเมริกันให้ความสนใจการเลือกตั้งค่อนข้างมาก ซึ่งรัฐแมสซาชูเซตส์มีคะแนนเสียงเลือกตั้ง 11 เสียง เนื่องจากมีผู้แทนสภาผู้แทนราษฎร 9 คนและวุฒิสมาชิก 2 คน เช่นเดียวกับรัฐส่วนใหญ่ ซึ่งฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นของพรรคเดโมเครต
ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ขณะนี้เป็นนักวิชาการด้านประชาธิปไตยชั่วคราว หรือ Visiting Democracy Fellow มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ได้ไปสังเกตการณ์จุดลงคะแนน
อ่านข่าว : เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หมู่บ้านแรกนับคะแนน "ทรัมป์-แฮร์ริส" เท่ากัน
ภาพจาก นริศรา คินิมาน
นายพิธา กล่าวว่า ในฐานะอดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของไทย มองการเมืองสหรัฐอเมริกามีทั้งเหมือนและแตกต่างกันกับไทย เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ มีการแข่งขันค่อนข้างสูงในแต่ละพื้นที่ มีรัฐสวิงเสตทที่มีความเข้มข้นลึกลงไปแต่ละพื้นที่ ซึ่งเหมือนกับการเลือกตั้งไทยในบางพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูสีกัน ขณะที่นโยบายทั้ง 2 พรรคที่จะเกี่ยวข้องกับไทย ส่วนตัวมองว่ามีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น นโยบายเศรษฐกิจ ภาษี นโยบายต่างประเทศ ซึ่งแต่ละพรรคมีความแตกต่างกัน
อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังมองว่า ไทยได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยง เช่น ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไทยก็ควรเตรียมความพร้อมไว้
เสียงคนไทยในสหรัฐฯ กังวลหลังเลือกตั้ง
ความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง สืบเนื่องจากเหตุการณ์ 6 ม.ค.2021 กลุ่มผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อการจลาจลบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อประท้วงการลงมติรับรองผลคะแนนที่ชี้ขาดว่า โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งก่อนหน้าเกิดเหตุวุ่นวายนี้ทรัมป์ได้กล่าวปราศรัยต่อกลุ่มผู้สนับสนุนหลายพันคนใกล้ทำเนียบขาว โดยย้ำอีกครั้งว่าเขาไม่ยอมรับความพ่ายแพ้และอ้างว่าถูกโกงชัยชนะ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนไปรวมตัวที่อาคารรัฐสภา
อ่านข่าว : ทรัมป์-แฮร์ริส เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใครชนะ “โลกระส่ำ”
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดในฝ่ายบริหาร การดำเนินนโยบายใดๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกคนในประเทศ ซึ่งรวมถึงคนไทยในสหรัฐฯ ด้วย ไทยพีบีเอสพูดคุยกับคนไทยในสหรัฐฯ เกี่ยวกับความเห็นต่อการเลือกตั้งครั้งนี้และนโยบายของผู้สมัครทั้ง 2 คน
นิจภารัตน์ พงศ์พีระชัย คนไทยในรัฐแมริแลนด์ ระบุว่า หากทรัมป์ได้เป็น ปธน. เพราะทรัมป์มาแรงในเรื่องนโยบายนี้ เรื่องของผู้อพยพที่เขาจะขับไล่พวกโรบินฮู้ดทั้งหลาย หากทำได้ คนที่คิดจะมาเรียนต่อหรือสัมภาษณ์วีซ่ามาเที่ยวหรืออะไรก็น่าจะยากขึ้น แล้วคนที่อยู่ที่นี่แบบไม่ได้อยู่ในวีซ่าที่ถูกกฎหมายก็อาจจะมีความกังวล
แต่หากแฮร์ริสได้ คิดว่าไม่ได้มีผลกระทบมากกับคนที่ไม่ได้เป็นพลเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งก็คงจะเป็นเหมือนขณะนี้ เพราะว่าแฮร์ริสจะทำนโยบายต่อจากไบเดน หากเลือกได้จริง ๆ ก็คืออยากให้รัฐโฟกัสที่ตัวของอเมริกา เข้ามาพัฒนาเรื่องของเศรษฐกิจให้แข่งขันกับนานาชาติได้ เพื่อที่ทุกคนจะได้มีงานทำ และมีการสนับสนุนเรื่องการเข้าถึงการรักษาโรงพยาบาลที่ง่ายและราคาถูกกว่านี้
คามาลา แฮร์ริส และโดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
อ่านข่าว : วิกฤตผู้อพยพ-สงคราม ปัจจัยสำคัญเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024
ขณะที่ อานุภาพ สินธุสายชล เภสัชกรคนไทยในรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า ทุกคนคงคิดเหมือนกันอยากจะเห็นเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อยากเห็นค่าเงินที่แข็งตัวขึ้น อยากจะเห็นความมั่นคงของสังคมและอนาคตที่ดี
หลายๆ คนที่มาอเมริกาอาจมีคอนเซ็ปของการคิดที่เรียกว่า The American Dream เป็นคนที่ฝันอยากจะได้งานทำ อยากเลี้ยงครอบครัว อยากมีบ้าน แต่ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ หลาย ๆ คนที่อยู่ที่นี่ หรือก็เห็นอยู่ว่าการที่มีบ้านหรือการที่จะซื้ออะไรสักอย่างมันเป็นเรื่องยาก เขาจึงอยากได้ผู้นำที่จะเข้ามาพัฒนาสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ให้ดีขึ้น
ส่วน เซท ชาตร์ ดวงใส คนไทยในรัฐเท็กซัส เชื่อว่า หากแฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดีจะค่อนข้างยืดหยุ่นและก็พอมีโอกาสต่อยอดทำงานในอเมริกา แล้วเก็บประสบการณ์กลับไปไทย แต่หากเป็นทรัมป์ อาจจะมีแนวโน้มในการจ้างงานของคนอเมริกันก่อน
อย่างที่บอกว่า American First นักเรียนที่เรียนจบแล้วได้ Work Permit หลังจากเรียนจบแล้วจะค่อนข้างหางานยาก แต่ทรัมป์ก็มีข้อดี เพราะเขาประกาศเองว่าหากนักเรียนเรียนจบในสหรัฐอเมริกาที่เป็นมหาวิทยาลัยในระบท็อป จะสามารถขอ Green Card ได้ แต่ต้องเป็นสาขาวิชาและก็มหาลัยต้องมีชื่อเสียง
อ่านข่าว
สหรัฐฯ-จีน โจทย์ท้าทายประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47
กระแสแผนปฏิรูป "ทรัมป์" เตรียมจูงมือพันธมิตรเปลี่ยนแปลงประเทศ
มองจุดยืน "ทรัมป์-แฮร์ริส" ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ กับความขัดแย้งทั่วโลก