ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หมู่บ้านแรกนับคะแนน "ทรัมป์-แฮร์ริส" เท่ากัน

ต่างประเทศ
6 พ.ย. 67
06:33
13,613
Logo Thai PBS
เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หมู่บ้านแรกนับคะแนน "ทรัมป์-แฮร์ริส" เท่ากัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชาวอเมริกัน ออกใช้สิทธิ์เลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ขณะที่หมู่บ้านในรัฐนิวแฮมป์เชอร์ ปิดหีบแล้วนับคะแนน "ทรัมป์-แฮร์ริส" เท่ากัน ส่วนผู้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว 82 ล้านคน

วันนี้ (6 พ.ย.2567) ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 5 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเดินเข้าคูหาเลือกตั้งเพื่อลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ 

คนทั่วสหรัฐฯ ต่างเริ่มทยอยออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งตลอดทั้งวัน หลายพื้นที่มีประชาชนมาต่อแถวรอใช้สิทธิ์กันอย่างคึกคัก ตั้งแต่มีการเปิดคูหาเลือกตั้งในเช้ามืด เช่นในเมืองแอตแลนตาของรัฐจอร์เจีย หนึ่งในรัฐสมรภูมิสำคัญที่อาจตัดสินผลการเลือกตั้งครั้งนี้

โดยรัฐส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ มีกำหนดเปิดหีบเลือกตั้งในช่วงเวลา 06.00-09.00 น. ขณะที่เวลาปิดหีบจะอยู่ในช่วง 19.00-21.00 น.ขึ้นอยู่กับการกำหนดของแต่ละรัฐ มีกำหนดเวลาปิดคูหาเลือกตั้งในช่วง 19.00-21.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับช่วงเช้าของวันนี้ (6 พ.ย.) ตามเวลาในไทยและจะเริ่มนับผลคะแนนทันที ขณะที่ก่อนหน้านี้มีผู้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้วกว่า 82 ล้านคน หรือกว่า 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด

ขณะที่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ แสดงให้เห็นถึงคนจำนวนมากต่อแถวยาวด้านนอกหน่วยเลือกตั้งเพื่อเข้าคูหาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งที่ขับเคี่ยวอย่างเข้มข้นที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันแม้ว่ารัฐนี้จะไม่ใช่รัฐสมรภูมิก็ตาม

ส่วนในรัฐสมรภูมิหลายที่ประชาชนตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ์ตลอดทั้งวันหลายคนบอกว่านี่เป็นการเลือกตั้งที่บ้าคลั่งที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา

รัฐมิชิแกน ประชาชนทยอยใช้สิทธิ์

ชาวเมืองเดียร์บอร์นทยอยเดินทางออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เริ่มเปิดคูหาเลือกตั้ง เมื่อเวลา 07.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยในเมืองเดียร์บอร์นมีประชากรประมาณ 100,000 คน แบ่งพื้นที่ออกเป็น 50 เขต และมีมากกว่า 30 หน่วยเลือกตั้งเปิดกระจายอยู่ทั่วเมือง เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางไปใช้สิทธิ์กันได้สะดวกมากขึ้น เพราะวันเลือกตั้งเป็นวันอังคาร ซึ่งถือเป็นวันทำงานอีกด้วย

จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งในบางจุด พบว่า ตามปกติแล้ว ชาวเมืองเดียร์บอร์นมักจะทยอยเดินทางออกมาใช้สิทธิ์กันเรื่อยๆ ไม่ได้หนาแน่นจนถึงขั้นต้องต่อแถวยาวเหยียดเหมือนกับหน่วยเลือกตั้งในบางเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังโควิด-19 เป็นต้นมา ประชาชนเหมือนจะเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้ากันมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางการรัฐมิชิแกนผ่อนคลายระเบียบการลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้ไม่ยุ่งยากเหมือนแต่ก่อน

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา ชี้ว่า มีชาวอเมริกันออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้วมากกว่า 83 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ รัฐมิชิแกน นอร์ท แคโรไลนาและจอร์เจีย ซึ่งเป็นสามรัฐสมรภูมิสำคัญ แต่ละรัฐมีผู้ใช้สิทธิ์ก่อนวันเลือกตั้งทะลุ 3 ล้านคน

หมู่บ้านแรกปิดหีบ คะแนน "ทรัมป์-แฮร์ริส" เท่ากัน

ส่วนที่แรกที่เปิดหีบ หลายคนอาจจะคุ้นกันดี คูหาเลือกตั้งประจำเมืองดิกส์วิลล์ นอตช์ รัฐนิวแฮมป์เชอร์ เริ่มเปิดหีบเลือกตั้งแล้วในเวลาเที่ยงคืนตรงของวันที่ 5 พ.ย.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นที่แรกที่เปิดหีบเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 6 คน และมีการนับคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งผลปรากฏว่า ทั้งโดนัลด์ ทรัมป์และคามาลา แฮร์ริส ได้รับคะแนนเท่ากัน

"ทรัมป์" เผยพร้อมยอมรับผลเลือกตั้งหากยุติธรรม

โดนัลด์ ทรัมป์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่าตัวเองจะยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งหากการเลือกตั้งนั้นเป็นไปอย่างยุติธรรม

อดีตผู้นำสหรัฐพูดคุยกับสื่อหลังจากออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในรัฐฟลอริดาและยังบอกได้ว่ามองว่าเท่าที่เห็นมาจนถึงขนาดนี้การเลือกตั้งก็ดูบริสุทธิ์ยุติธรรมดี

จับตาการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หาก "ทรัมป์" ชนะ?

ก่อนหน้านี้ Paul Beck ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ ระบุว่า สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ชาวอเมริกันจะต้องเลือกระหว่างสถานะเดิมกับการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือในระดับชาติ (really radical changes at the national level) โดยระบุว่าหากแฮร์ริสชนะจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ จากรัฐบาลของไบเดน แต่หากทรัมป์ชนะจะนำมาซึ่ง การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

โดยหากทรัมป์พ่ายแพ้ ทรัมป์จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและทำทุกอย่างเพื่อขัดขวางการนับคะแนนดังกล่าว และส่วนตัวคิดว่าวันลงประชามติรับรองคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่จะมีขึ้นในวันที่ 5 ม.ค.2568

นานาชาติแสดงความเห็นเลือกตั้งสหรัฐ

วิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการีให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุเกี่ยวกับการเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งนี้ โดยระบุว่า หากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง นั่นหมายความว่าภายในสิ้นปีนี้ โลกตะวันตกจะมีฝ่ายสนับสนุนสันติภาพ (pro-peace politicians) มากกว่าฝ่ายที่สนับสนุนสงคราม และหากสหรัฐฯ หันไปสนับสนุนสันติภาพจริง ยุโรปจะต้องทบทวนการสนับสนุนยูเครนอีกครั้งและต้องปรับตัว เพราะยุโรปไม่สามารถแบกรับภาระของสงครามได้เพียงลำพัง

ออร์บานไม่สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน และแสดงท่าทีชัดเจนว่า ทรัมป์ ก็มีมุมมองไม่ต่างจากตน และจะพยายามเจรจาให้รัสเซียกับยูเครนทำข้อตกลงยุติสงคราม โดยผู้นำฮังการียังประกาศสนับสนุนทรัมป์ ให้เอาชนะคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตด้วย

ขณะที่คลอเดีย เชนบาม ประธานาธิบดีเม็กซิโก แสดงความมั่นใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐฯ จะยังคงเป็นความสัมพันธ์อันดีต่อไป ไม่ว่าผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม

นอกจากนี้ผู้นำเม็กซิโก ซึ่งหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง ระบุด้วยว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ควรได้รับแจ้งเกี่ยวกับความพยายามของเม็กซิโกในการควบคุมผู้อพยพที่หลั่งไหลไปทางพรมแดนทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งติดกับสหรัฐฯ พร้อมทั้งระบุว่าตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปี 2023 ถึง เดือน ต.ค.จำนวนผู้อพยพที่เดินทางไปถึงพรมแดนตอนเหนือลดลงร้อยละ 75

ปัญหาผู้อพยพเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ ที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกันให้ความสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะเนรเทศผู้คนจำนวนมากหากชนะเลือกตั้งอีกครั้ง พร้อมเตือนว่าหากเขาชนะ เขาจะลงโทษเม็กซิโกและจีนด้วยการเก็บภาษีศุลกากร เว้นแต่รัฐบาลทั้งสองประเทศจะดำเนินการเพื่อยับยั้งการส่งเฟนทานิลเข้าสู่สหรัฐฯ

เกาะติดเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ วิเคราะห์อนาคตเศรษฐกิจและความมั่นคงโลก ในรายการพิเศษ “เลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ 2024” วันที่ 6 พ.ย. 67 เวลา 08.00-10.00 น. ติดตามได้ทาง ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 | https://www.thaipbs.or.th/live และ ทางโซเชียลมีเดีย Thai PBS News , Thai PBS

อ่านข่าว :

ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ชี้บาทผันผวน ตลาดลุ้นผลเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ

สหรัฐฯ-จีน โจทย์ท้าทายประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47

โค้งสุดท้าย“เลือกตั้งสหรัฐฯ” นักวิชาการ ห่วงนโยบาย “ทรัมป์” - “แฮร์ริส” ทำศก.โลกชะลอตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง