วันนี้ (4 พ.ย.2567) นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และนางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ให้ข้อมูลกรณีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา
อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. กล่าวว่า ไทยได้ประกาศเขตไหล่ทวีปในปี 2516 เนื่องจากเห็นว่าการประเทศของกัมพูชาในปี 2515 เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะเส้นผ่านเข้าไปในเกาะกูด จึงประกาศเขตไหล่ทวีปของไทย เป็นพระบรมราชโองการประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีป เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2516 ระบุว่าสิทธิอธิปไตยซึ่งต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตของประเทศใกล้เคียงอันจะถือเป็นจุดเริ่มของเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปนั้น จะเป็นไปตามที่ได้ตกลงกัน
นางสุพรรณวษา กล่าวว่า ดังนั้นในการประกาศของกัมพูชาและไทย มีพื้นที่ทับซ้อนกัน 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งค่อนข้างมีขนาดใหญ่ หรือกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับกรณีพื้นที่ทับซ้อนของไทยกับมาเลเซีย โดยเป็นเส้นที่ครอบคลุมทะเลอาณาเขต EEZ และไหล่ทวีป
อย่างไรก็ตาม ไทย-กัมพูชา เริ่มเจรจาเรื่องพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2513 แต่เกิดปัญหาว่ากัมพูชาต้องการคุยเพียงการพัฒนาร่วมในเรื่องของทรัพยากร ขณะที่ไทยเห็นว่าเขตทางทะเลมีความสำคัญ รวมถึงความมั่นคง และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยยืนยันว่าต้องคุยประเด็นเหล่านี้ด้วย ซึ่งไทยได้ประกาศเส้นด้านใต้ลงมาระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง แสดงออกว่าไทยไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กัมพูชาประกาศ
หลักสากลเมื่อเกิดพื้นที่ทับซ้อน จึงต้องเจรจากันทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ สำหรับ MOU 2544 แบ่งเป็นพื้นที่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ เป็นการเจรจาแบ่งเขตทางทะเล และพื้นที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ เป็นการเจรจาพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน
อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. กล่าวว่า สิ่งที่ดำเนินการประชาชนทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับในข้อตกลง และผลการเจรจาต้องผ่านความเห็นชอบโดยรัฐสภา และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. ยืนยันว่า MOU 44 ไม่ได้ทำให้ไทยเสียเกาะกูด เพราะสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ส.1907 ระบุชัดเจน “เกาะกูด” เป็นของไทย เป็นการยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือตัวเกาะ และยังใช้อำนาจอธิปไตยเกาะกูด 100%
ประเด็นยกเลิก MOU 44 เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในปี 2552 ซึ่งเสนอให้ยกเลิก เพราะขณะนั้นไม่มีความคืบหน้า และ ครม.รับในหลักการ แต่ขอให้พิจารณาให้รอบคอบและได้หารือกับที่ปรึกษาทีมต่างชาติ และประชุมคณะกรรมการพิเศษที่เป็นภาคี และหน่วยงานด้านความมั่นคง สมช. กระทรวงพลังงาน รวมทั้งกฤษฎีกา โดยปี 2557 ได้ข้อสรุปว่า MOU 44 ยังมีประโยชนที่จะนำไปสู่การเจรจา จึงเสนอ ครม.ให้ทบทวนมติ ครม.ปี 2552 ว่าเรื่องนี้ต้องใช้ MOU 44 ต่อ
ทุกครั้งที่มีรัฐบาลใหม่ยังขอให้กรอบ MOU 44 เป็นพื้นฐานในการเจรจาข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เป็นกลไกที่เหมาะสมที่สุด และรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งทุกรัฐบาลก็ยอมรับและหลักการยังเหมือนเดิม
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงกรณี MOU 44 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยยกเลิก แต่ยังค้างอยู่เพราะเปลี่ยนรัฐบาล จะมีการนำมาพิจารณาหรือไม่นั้น ว่า ข้อเท็จจริงสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์พูดเหมือนยกเลิก แต่จริง ๆ แล้วยังไม่ยกเลิก เพราะยังไม่มีมติ ครม. และที่ผ่านมา MOU 44 มีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง
สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นคนไปเจรจาที่กัมพูชาในปี 2564 ซึ่งยังค้างอยู่ แต่ MOU 44 ไม่เกี่ยวกับเกาะกูด ยืนยันเกาะกูดยังเป็นของไทย เพราะตามสนธิสัญญาฝรั่งเศสเป็นของไทย ตนเองไม่เข้าใจว่าการจุดกระแสเรื่องเกาะกูดขึ้นมามีวัตถุประสงค์ใด
วันนี้เกาะกูดเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตราด เมื่อ 2 วันก่อนผู้บัญชาการทหารเรือได้ไปลงพื้นที่ กองกำลังทหารก็ตั้งอยู่ที่นั่น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะทหารมีหน้าที่เดียวคือการรักษาอธิปไตย ดังนั้นเกาะกูดเป็นของไทยอยู่แล้วไม่ต้องไปเจรจา
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า เกาะกูดเป็นดินแดนในราชอาณาจักรไทยทุกตารางนิ้ว และมีประชาชนอยู่ โดยได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอหนึ่ง ในจังหวัดตราด ส่วนข้อกังวลว่าจะเสียดินแดนบางส่วนนั้น ตนเองยืนยันว่าไม่มี
ส่วนกระแสเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 44 นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า MOU หรือบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ เป็นการลงนามทั้งสองฝ่าย หากจะยกเลิกต้องยินยอมทั้งสองฝ่าย จึงต้องระมัดระวังในเรื่องการรับข่าวสาร บางกลุ่มระบุว่าเคยจะถูกยกเลิก
ถ้าถามว่ายกเลิกได้หรือไม่นั้นก็ยกเลิกได้ แต่ทั้งสองฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน เหมือนกับสัญญา ต้องอาศัยการเจรจาของทั้งสองฝ่าย
อ่านข่าว : จับนักร้องดังมาเลเซีย และพวก รวม 6 คน พร้อมยาบ้า 6,060 เม็ด