ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เป้าชัด ปธ.บอร์ด ธปท. #เซฟแบงก์ชาติ จับตา! ยึดของจริง ต.ค.2568

การเมือง
4 พ.ย. 67
15:22
378
Logo Thai PBS
เป้าชัด ปธ.บอร์ด ธปท. #เซฟแบงก์ชาติ จับตา! ยึดของจริง ต.ค.2568
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับผู้ว่าแบงก์ชาติ เป็นที่รับทราบว่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่รัฐบาลบาลหวังให้แบงก์ชาติพูดให้ตรงกับรัฐบาลว่า เศรษฐกิจของประเทศวิกฤติ จำต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษกิจเกิดขึ้น

แต่ผู้ว่าฯ ปฏิเสธ ยืนยันเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้วิกฤต แต่เริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้วอย่างช้า ๆ นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ยังเห็นว่า หากรัฐบาลจะเดินหน้าโครงการนี้จริง ก็ควรต้องลดสเกลหรือขนาดลง แจกให้เฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง

ต่อเนื่องถึงรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แม้รัฐมนตรีคลัง จะยังคงเป็นนายพิชัย ชุณหวชิร และควบรองนายกฯ ด้วย ทั้งในฐานะเคยเป็นบอร์ดแบงก์ชาติมาก่อน ก็พยายามแสดงความเป็นมิตร และทอดไมตรี

ทั้งเรื่องนัดพบปะเจรจากับผู้ว่าแบงก์ชาติมาแล้วครั้งหนึ่ง และพูดชัดเจนว่า จะไม่ก้าวก่ายแทรกแซงคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ที่มีผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเป็นประธาน เรื่องการพิจารณาปรับบลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่

แต่ท่าทีของรัฐมนตรีพาณิชย์ อย่างนายพิชัย นริพทะพันธุ์ และเป็นหนึ่งในกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มี น.ส.แพทองธาร เป็นประธาน ยังคงเล่นบทแข็งกร้าว เปิดประเด็นอยากพบผู้ว่าแบงก์ชาติ พร้อมข้อเสนอ 3 ประการ คือให้ลดดอกบี้ย ดูแลค่าเงินบาท และอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ไม่ต่างจากท่าทีของนายเศรษฐา เมื่อครั้งเป็นนายกฯ และควบรัฐมนตรีคลังนัก

ในที่สุด ก็มีข่าวนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ก็สั่งให้เลื่อนการประชุมคัดเลือกออกไปจากวันที่ 4 พ.ย.2567 เนื่องจากมีกระแสการต่อต้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง บุคคลที่กระทรวงการคลัง ส่งชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ อย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า นายสถิตขอให้กระทรวงการคลัง เปลี่ยนตัวจากนายกิตติรัตน์ และให้ส่งชื่อคนอื่นแทนเพื่อลดแรงกดดัน ทั้งนี้การประชุมเพื่อพิจารณาดังกล่าว จะมีขึ้นในวันที่ 11 พ.ย.2567

ถือเป็นการถอดสลักชั่วคราว หลังมีความเคลื่อนไหวคัดค้านนายกิตติรัตน์ ทั้งจากนักเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติหลายคน

นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวรวบรวมรายชื่อ อดีตเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติ คัดค้านการไปแทรกแซงแบงก์ชาติของฝ่ายการเมือง โดยกระตุกเตือนเรื่องจรรยาบรรณ ของคนที่จะไปเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ป้องกันผลเสียต่อภาพพจน์และความเชื่อมั่นในแบงก์ชาติ

ยังไม่นับกลุ่มลูกศิษย์หลวงตามหาบัว ที่ออกหนังสือคัดค้านการเข้าไปครอบงำแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ ที่ได้รับการยอมรับสูงกว่านักการเมืองด้วยซ้ำ

ปัญหาความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ล่าสุด ระหว่างรัฐบาลกับผู้ว่าแบงก์ชาติ เป็นปัญหามาตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน กระทั่งถึงรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ตั้งแต่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ถกเถียงเห็นต่างกันว่า เศรษฐกิจของประเทศเข้าขั้นวิกฤติหรือไม่

ซึ่งผู้ว่าแบงก์ชาติ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาสนฤพุฒิ ไม่เออออด้วย และเคยเสนอให้รัฐบาล ลดสเกลหรือขนาดของดิจิทัลวอลเล็ตลง หากจะทำโครงการนี้จริง ให้แจกจ่ายเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

จากนั้น ก็มีปัญหาความเห็นต่างกันเรื่องค่าเงิน และรัฐบาลต้องการให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบาย และอัดฉีดเงินเข้าในระบบเพิ่มเติม

คาราคาซังกระทั่งมีข่าวว่า อาจมีการปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ ยืดเยื้อกระทั่งถึงเรื่องตั้งประธานบอร์ดและบอร์ดแบงก์ชาติแทนคนเดิม จุดกระแสความเคลื่อนไหวคัดค้านการส่งคนของพรรคการเมืองหรือนักการเมืองเข้าไปรุกคืบแบงก์ชาติ เพื่อเตรียมปฏิบัติการรุกฆาต ยึดแบงก์ชาติในลำดับถัดไป

ในมุมมองนักวิชาการ เห็นสอดคล้องกันว่า ท่าทีของฝ่ายการเมืองจากรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย เป็นเสมือนแบ่งบทบาทกันเล่น ด้านหนึ่งนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง อดีตบอร์ดแบงก์ชาติ ทำทีเป็นไม่รู้เรื่องจะมีการส่งนักการเมืองเข้าไปแทรกแซงแบงก์ชาติ

แต่ขณะเดียวกัน ชื่อของนายกิตติรัตน์ ก็ยังคงปรากฏในกระแสข่าว จะได้รับการผลักดันเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติเช่นเดิม เท่ากับเล่นตามบทของแต่ละคน เพื่อไม่ให้ชัดเจนว่า มีความพยายามจะเข้าแทรกแซงโดยฝ่ายการเมือง

ชื่อของนายกิตติรัตน์ จึงถูกพูดถึงทั้งในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดเมื่อ 8 ต.ค.2567 ก่อนจะถูกเลขานุการกรรมการคัดเลือก ขอถอนเรื่องไปตรวจสอบเรื่องคุณสมบัติ จึงยังเคาะเลือกไม่ได้ และยังมีชื่อเป็นแคนดิเดทประธานบอร์ดเช่นเดิม ก่อนถึงวันประชุมกรรมการในวันที่ 4 พ.ย.2567 ก่อนจะเลื่อนออกไป

นายกิตติรัตน์ เป็นอดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกฯ อดีตรัฐมนตรีคลัง และอดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอนเป็นรัฐมนตรีคลัง เคยมีปัญหากับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าแบงก์ชาติ ในขณะนั้น

ล่าสุด เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา นายกิตติศักดิ์ ก็มีความขัดแย้งชัดเจนกับผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ

เท่ากับสลัดภาพการเป็นนักการเมือง และคนของพรรคเพื่อไทยไม่ได้ แม้ปัจจุบันจะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคแล้วก็ตาม แต่การยังคงเป็นแคนดิเดท

และแสดงท่าทีอยากเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ของนายกิตติรัตน์ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลและฝ่ายการเมือง ยังคงไม่ลดละความพยายาม จะเข้าไปมีบทบาทในแบงก์ชาติ แม้จะมีปฏิกริยาปกป้องความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ จากหลายฝ่ายการเมือง

กระทั่ง นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ออกมาตั้งข้อสังเกตแบบฟาดตรง ๆ ไม่อ้อมค้อมว่า อาจมีเป้าหมายหวังใช้เงินสำรองระหว่างประเทศ ไปใช้ในโครงการของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายประชานิยม ที่ต้องใช้เงินมหาศาลเป็นตัวนำ

นอกจากถูกตั้งข้อสังเกต มีวาระซ่อนเร้นเรื่องเงินสำรองระหว่างประเทศแล้ว ยังถือเป็นการกรุยทางไปสู่เป้าหมายสำคัญที่แท้จริง คือการเปลี่ยนตัวผู้ว่าแบงก์ชาติ ในเดือนตุลาคม 2568 หรืออีกประมาณ 1 ปีข้างหน้า ซึ่งจะครบกำหนดการอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติของนายเศรษฐพุฒิ ตามยุทธศาสตร์ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ของนักวิชาการตัวตึง อย่าง นายวันวิชิต บุญโปร่ง จาก ม.รังสิต เพื่อเลี่ยงการปะทะกับกลุ่มที่คัดค้าน ซึ่งเริ่มจะรวมตัวกันเหนียวแน่นขึ้น

ก่อนหน้านี้ นายวันวิชิต เชื่อว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะเดินหน้าเสนอนายกิตติรัตน์เป็นประธานแบงก์ชาติต่อไป เพราะหากจะถอนตัวหรือเปลี่ยนคน น่าจะส่งสัญญาณให้ทราบก่อนหน้านี้แล้ว

ทั้งยังวิเคราะห์ว่า เหตุสำคัญอีกประการที่พรรคเพื่อไทยต้องเดินหน้าต่อไม่มีถอย คือเกรงจะขายหน้าพรรคร่วมรัฐบาล หลังจากการเดินหน้าหลายเรื่อง อาทิ แก้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ถูกพรรคร่วมเท จนออกอาการเป๋เห็นได้ชัด

จึงต้องหันมาเน้นเรื่องขับเคลื่อนแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชน เพื่อทดแทนและเติมเครดิตใหม่ โดยเฉพาะหากการโยกย้ายคนในกระทรวง ที่พรรคเพื่อไทยดูแลอยู่ หากยังไม่สามารถทำได้ เท่ากับเครดิตจบเห่

แบงก์ชาติจึงต้องต่อสู้ เพราะได้ตกเป็นเป้าหมายใหญ่ สำหรับการรุกคืบในช่วงจังหวะเวลานี้ ก่อนถึงเวลา “รุกฆาต” ใหญ่ ในเดือนตุลาคม 2568

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง