ทีมเจ้าหน้าที่ตระเวนพรมแดนขึ้นเวทีหาเสียงร่วมกับ "โดนัลด์ ทรัมป์" ผู้สมัครจากรีพับลิกันในรัฐแอริโซนา เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังได้รับไฟเขียวจากกลุ่มสหภาพเจ้าหน้าที่ โดยพวกเขาระบุว่า การเข้าร่วมงานเพราะพรรครีพับลิกันเป็นกลุ่มคนที่น่าทึ่ง พวกเรามาแสดงความขอบคุณสำหรับการทำงานอันน่าเหลือเชื่อของพวกเขาเพื่อประเทศชาติของพวกเรากัน
ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงจุดยืนของหน่วยงานรัฐที่แม้ว่าตามปกติแล้วจะไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ข้อมูลที่ทีมข่าวไทยพีบีเอสได้รับจากเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเรื่องความมั่นคงทางพรมแดนบางคนชี้ว่า เจ้าหน้าที่จำนวนไม่น้อยสนับสนุนมาตรการสกัดกั้นผู้อพยพของทรัมป์
หน่วยงานศุลกากรและการป้องกันพรมแดนสหรัฐฯ หรือ CBP เก็บสถิติการลักลอบเดินทางเข้าสหรัฐฯ บริเวณเอลปาโซ ในช่วง 4 ปีหลังสุดตามปีงบประมาณ โดยพบว่าในยุคของ โจ ไบเดน มีคนข้ามแดนผิดกฎหมายและถูกจับกุมตัวเพิ่มมากขึ้นแทบทุกปี สูงที่สุดในปี 2566 ด้วยตัวเลขมากกว่า 480,000 คน ซึ่งนั่นหมายความว่า "เอลปาโซ" ถือเป็น "ทางผ่าน" ของผู้ลักลอบข้ามพรมแดนทางตอนใต้ของสหรัฐฯ โดยคิดเป็น 1 ใน 5 ของทั้งประเทศ
ขณะที่มีรายงานว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขผู้อพยพลดลงตลอดปีที่ผ่านมา เป็นเพราะการยกระดับมาตรการคุมเข้มจากฝั่งเม็กซิโก
แม้ว่าจุดข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านมายังสหรัฐฯ 2 ใน 3 ของทั้งหมด จะอยู่ทางตอนเหนือของประเทศแต่พรมแดนทางตอนใต้ถือเป็นพื้นที่ที่มีการข้ามแดนของคนและสินค้ามากที่สุดประมาณร้อยละ 80 ของทั้งประเทศและที่เอลปาโซแห่งนี้คือจุดที่พลุกพล่านมากที่สุดจุดหนึ่ง
ผู้อพยพถูกกฎหมายถือเป็นพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยในแต่ละปี ทางการรับผู้อพยพเข้ามาในประเทศประมาณ 1,500,000 คน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งเข้ามาเพื่อหางานทำในสหรัฐฯ
แต่ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายกำลังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งกับตัวผู้อพยพที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ชาวอเมริกันเชื้อสายละตินที่ต้องการพาคนในครอบครัวเข้ามาหาโอกาสในสหรัฐฯ อย่างถูกกฎหมาย ไปจนถึงปัญหาระดับชาติ
หน่วยงานด้านความมั่นคงทางพรมแดนสหรัฐฯ เปิดเผยกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีผู้อพยพเล็ดลอดสายตาของเจ้าหน้าที่ไปแล้วกว่า 2,000,000 คน ขณะที่อีกกว่า 8,700,000 คน ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวและทยอยเนรเทศออกไปจากสหรัฐฯ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ชาวอเมริกันจำนวนมากจะรู้สึกกังวลเกี่ยวกับตัวเลขผู้อพยพที่มากเช่นนี้
แต่ David Stout หัวหน้ากลุ่มความร่วมมือพรมแดนเท็กซัสจากพรรคเดโมแครตระบุกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า ปัญหาผู้อพยพมาจากนโยบายควบคุมที่สหรัฐฯบังคับใช้มาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว ซึ่งทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางเข้ามาในสหรัฐฯ ได้อย่างถูกกฎหมายหรือทำได้ยาก ขณะที่การปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีการพูดถึงอย่างจริงจังมากพอ
ประเทศนี้ใช้เงินเป็นพัน ๆ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทำให้ชายแดนปลอดภัย แต่นั่นคือทั้งหมดที่เราทำ เราไม่ได้เพิ่มวิธีการที่ถูกกฎหมายให้ผู้อพยพ
The Economist จับมือกับ YouGov บริษัทวิจัยการตลาดในอังกฤษจัดทำแบบสำรจความคิดเห็นชาวอเมริกันเมื่อเดือนสิงหาคม พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจให้คะแนน "ไบเดน" จัดการปัญหาผู้อพยพผ่านเพียงร้อยละ 32 เท่านั้น ซึ่งเป็นคะแนนต่ำที่สุด เท่า ๆ กับผลงานการรับมือปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่พุ่งสูง
ขณะที่วิกฤตผู้อพยพกำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นปัจจัยชี้ชะตาว่า ใครจะได้นั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ คนต่อไปโดยผลสำรวจของ YouGov ชี้ว่าแม้ประเด็นปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจจะยังคงติดอยู่ใน 2 อันดับแรกของตารางแต่ประเด็นผู้อพยพก็ไล่ตามมาติด ๆ
แม้การเลือกตั้งในรอบนี้จะเหมือนกับทุก ๆ ครั้งที่ประเด็นภายในประเทศ คือ ปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินว่าใครจะเป็นผู้ชนะ แต่สงครามและความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นในหลาย ๆ จุดของโลกตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสงครามในกาซาและเลบานอน รวมทั้งท่าทีของคนในพรรคเดโมแครตเอง ปัจจัยเหล่านี้กำลังกลายเป็นไฟที่ถูกโหมกระพือให้ลุกลามเผาผลาญฐานเสียงของเดโมแครตในหลายรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิชิแกนรัฐสมรภูมิสำคัญที่มีสัดส่วนชาวอาหรับ-อเมริกันมากที่สุดในประเทศ
อ่านข่าวอื่น :
กระแสแผนปฏิรูป "ทรัมป์" เตรียมจูงมือพันธมิตรเปลี่ยนแปลงประเทศ
มองจุดยืน "ทรัมป์-แฮร์ริส" ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ กับความขัดแย้งทั่วโลก
โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งสหรัฐฯ "ทรัมป์ - แฮร์ริส" สูสีรัฐสมรภูมิ
ปริศนาวันอังคาร? เลือกตั้งสหรัฐฯ ย้อนรอยทุ่งเกษตรสู่ทำเนียบขาว