ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กระแสแผนปฏิรูป "ทรัมป์" เตรียมจูงมือพันธมิตรเปลี่ยนแปลงประเทศ

ต่างประเทศ
1 พ.ย. 67
14:07
512
Logo Thai PBS
กระแสแผนปฏิรูป "ทรัมป์" เตรียมจูงมือพันธมิตรเปลี่ยนแปลงประเทศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้ขณะนี้คู่ชิงจาก 2 พรรคการเมืองในสหรัฐฯ จะมีคะแนนสูสีกัน แต่เริ่มมีกระแสเกี่ยวกับแผนการปฏิรูปหน่วยงานรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศของรัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่ โดยมุมที่ถูกพูดถึงชัดเจนจะเป็นมิติสุขภาพ และการเพิ่มประสิทธิภาพและลดขนาดหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกสมัย สิ่งที่เดโมแครตหยิบยกมาโจมตีก่อนหน้านี้คงหนีไม่พ้น “โปรเจค 2025” แผนการที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมจะนำมาเปลี่ยนแปลงประเทศ ซึ่งทรัมป์ยังไม่เคยยอมรับว่าเกี่ยวข้องกับแผนดังกล่าว แต่ขณะนี้เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ความสนใจเริ่มพุ่งไปที่แผนปฏิรูปรัฐบาลของทรัมป์ หากเขาได้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง

การปราศรัยใหญ่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเข้าสู่ช่วงเวลาที่ผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีนำเสนอ closing argument หรือประเด็นสำคัญๆ ที่เป็นจุดยืนในการซื้อใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้าย เวทีของทรัมป์ที่แมดิสัน สแควร์ การ์เดน ในมหานครนิวยอร์ก พูดถึงเรื่องการปฏิรูปประเทศไว้พอสมควร

คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในแผนของทรัมป์มี 2 คน ได้แก่ อีลอน มัสค์ มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เจ้าของทรัพย์สินร่วม 264,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อสนับสนุนทรัมป์สุดตัวมาโดยตลอด

และอีกคนคือ โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ ที่อดีตเคยสนับสนุนเดโมแครต ก่อนผันตัวมาลงสมัครเป็นตัวแทนชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งนี้ ในฐานะผู้สมัครอิสระ ที่เขาล้มเลิกไปเมื่อเดือน ส.ค. และหันมาประกาศตัวสนับสนุนทรัมป์แทน สำหรับโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ ทรัมป์เคยให้คำมั่นว่าจะเปิดทางให้เขาเข้ามาปฏิรูประบบสุขภาพในสหรัฐฯ ที่ดูแลสุขภาพประชาชนอยู่ในขณะนี้

โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์

โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์

โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์

ก่อนหน้านี้ เคนเนดีเคยผลักดันโครงการหลายอย่าง รวมถึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง “Make America Healthy Again” PAC หรือ MAHA ที่ต้องการผลักดันการปฏิวัติด้านสุขภาพในสหรัฐฯ ด้วยการขุดรากถอนโคนภาคเอกชนที่ชักใยอยู่เบื้องหลังหน่วยงานภาครัฐ จนนำมาสู่การเกิดโรคเรื้อรังเป็นวงกว้าง มีปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมถอ และสร้างความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่สาธารณชน

ก่อนหน้านี้ เคนเนดีเปิดเผยว่าทรัมป์สัญญากับเขาไว้ หากชนะเลือกตั้งจะให้เคนเนดีกำกับดูแลหน่วยงานด้านสาธารณสุขหลายแห่ง ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ รวมถึงหน่วยงานในสังกัด เช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC), สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) และอื่นๆ รวมไปถึงกระทรวงเกษตรกรรม เพื่อทำให้ชาวอเมริกันมีสุขภาพดีกันทั้งประเทศ

แต่มีคำถามเกิดขึ้นตามมา เพราะแม้ว่าเคนเนดีจะพูดถึงการดูแลการเกษตร การใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงต่างๆ หรือการแปรรูปอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพ แต่เขาเป็นแกนนำคนสำคัญที่รณรงค์ต่อต้านวัคซีน รวมถึงอยู่เบื้องหลังทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับวัคซีน ทั้งโจมตีความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนโดยใช้ข้อมูลเท็จ เป็นต้น

ส่วนฝั่งอีลอน มัสค์ หน้าที่ที่เขาอาจจะได้รับผิดชอบหากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง อาจกว้างกว่าเคนเนดีพอสมควร เพราะภารกิจที่ทรัมป์จะมอบหมายคือการลดขนาดรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เพื่อประหยัดงบประมาณ ทำให้ตำแหน่งที่มัสค์อาจจะได้นั่งตามที่เคยพูดเอาไว้ มีทั้งรัฐมนตรีกระทรวงการตัดลดงบประมาณ และยังพูดถึงกระทรวงการจัดการประสิทธิภาพของรัฐบาล หรือ Department of Government Efficiency (DOGE) ซึ่งเป็นชื่อสกุลเงินคริปโตเคอเรนซีของมัสค์ด้วย

อีลอน มัสค์

อีลอน มัสค์

อีลอน มัสค์

มัสค์วิจารณ์ถึงเรื่องความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้การนำของโจ ไบเดน และคามาลา แฮร์ริส มาโดยตลอด ซึ่งเขาระบุว่ารัฐบาลนี้ผลาญเงินภาษีประชาชนกว่า 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภารกิจของเขาคือการลดขนาดองค์กรรัฐ ตัดลดงบประมาณ นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยบริหารงานต่างๆ ซึ่งเขาคุยว่าจะลดงบประมาณลงได้ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ให้ความเห็นเรื่องนี้ไว้ว่าอาจจะทำไม่ได้จริง เพราะต่อให้นำ AI มาทำงานแทนคน แต่จริงๆ ค่าใช้จ่ายจ้างลูกจ้างรัฐคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น จากงบประมาณรัฐบาลกลางทั้งหมด ซึ่งคงต้องหันไปตัดงบเรื่องอื่นแทน เช่น โครงการประกันสุขภาพ ที่ทรัมป์ประกาศไว้ว่าจะยังคงไว้ให้ชาวอเมริกัน

รวมๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงแบบมหาศาลในรัฐบาลกลางสหรัฐฯ อาจไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ด้วยโครงสร้างของหน่วยงานต่างๆ หากจะทำได้จริงอาจจะต้องผ่านหลายด่าน ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกกฎหมายหลักประกันสุขภาพ หรือตั้งรัฐมนตรีใหม่ ล้วนต้องผ่านการเห็นชอบการวุฒิสมาชิกทั้งสิ้น

อ่านข่าว

เครื่องมือการเมือง ความสัมพันธ์มัสก์-ผู้นำโลก "ใคร" ได้ประโยชน์ ?

มองจุดยืน "ทรัมป์-แฮร์ริส" ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ กับความขัดแย้งทั่วโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง