ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มองจุดยืน "ทรัมป์-แฮร์ริส" ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ กับความขัดแย้งทั่วโลก

ต่างประเทศ
30 ต.ค. 67
20:56
1,537
Logo Thai PBS
มองจุดยืน "ทรัมป์-แฮร์ริส" ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ กับความขัดแย้งทั่วโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาได้รับความสนใจจากคนทั้งโลก เพราะไม่เพียงแต่กำหนดอนาคตของชาวอเมริกัน 4 ปีนับจากนี้ไปเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความขัดแย้งทั่วโลก

หลัก ๆ มีสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนและสงครามในกาซา ซึ่งทุกฝ่ายต่างต้องการให้ยุติโดยเร็ว แต่จะยุติแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ คือใคร และอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องจับตามองคือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต

ประเทศสมาชิกยอมรับว่าหาก โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกรอบ นาโตจะปั่นป่วนอย่างแน่นอน เพราะทรัมป์เคยพูดหลายครั้งว่าสหรัฐฯ แบกรับค่าใช้จ่ายของนาโตมากเกินไป ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ จ่ายเงินสนับสนุนน้อยเกินไป ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของนาโต ซึ่งประเด็นหลัก ๆ ที่ทรัมป์ไม่พอใจคือเรื่องเงิน

อ่านข่าว : เลือกตั้งสหรัฐฯ "ทรัมป์-แฮร์ริส" 5 พ.ย.ใครชนะการค้าโลกอ่วม ?

การให้เงินสนับสนุนนาโตมี 2 แบบ แบบแรกคือสนับสนุนทางอ้อม โดยประเทศสมาชิกควรจะต้องจัดสรรงบประมาณด้านกลาโหมของตัวเองให้ได้อย่างน้อย 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ซึ่งปี 2024 มี 23 ประเทศจากทั้งหมด 32 ประเทศที่ทำได้ถึงเกณฑ์ โดยประเทศที่จัดสรรงบกลาโหมมากที่สุดคือ โปแลนด์ 4.12% ของ GDP รองลงมาคือ เอสโตเนีย 3.43% ตามมาด้วยสหรัฐฯ 3.37%

แบบที่สองคือการสนับสนุนทางตรง เป็นการจ่ายเงินสนับสนุนงบประมาณประจำปี ในส่วนนี้สหรัฐฯ กับเยอรมนีจ่ายมากที่สุดในสัดส่วนเท่ากันคือ 15.88% รองลงมาคือ สหราชอาณาจักร 10.96% ตามด้วยฝรั่งเศส 10.19%

จุดยืนในเรื่องนี้ของ คามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต กับทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากแฮร์ริสชนะ คาดว่าเธอจะทำงานร่วมกับนาโตต่อไป เหมือนในยุคของโจ ไบเดน ผู้นำคนปัจจุบัน และจะไม่กดดันชาติสมาชิกเรื่องการเพิ่มงบกลาโหม แต่หากทรัมป์ชนะ เชื่อว่าทรัมป์จะกดดันให้ชาติสมาชิกเพิ่มงบประมาณกลาโหมให้ได้ตามเป้าคือ 2% ของ GDP และอาจจะลดบทบาทของสหรัฐฯ รวมถึงลดเงินสนับสนุนทางตรงให้นาโต

อ่านข่าว : เครื่องมือการเมือง ความสัมพันธ์มัสก์-ผู้นำโลก "ใคร" ได้ประโยชน์ ?

ความขัดแย้งจุดต่อมาคือ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ทรัมป์เคยประกาศว่าหากเขาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีภายในเวลา 24 ชั่วโมง เขาจะทำให้สงครามนี้ยุติลง หลายฝ่ายเชื่อว่าทรัมป์จะใช้วิธีทำข้อตกลงกับวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย โดยให้ยูเครนเป็นฝ่ายที่ยอมรับข้อเสนอที่เสียเปรียบ รวมถึงสหรัฐฯ อาจจะยุติการสนับสนุนยูเครนด้วย

นับตั้งแต่รัสเซียใช้กำลังบุกยูเครน สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนด้านการทหารกับยูเครนมากที่สุด มีมูลค่ามากกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าอีก 9 ประเทศรองลงมา เมื่อรวมมูลค่าความช่วยเหลือที่ให้กับยูเครนแล้วก็ยังไม่เท่าสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว

ดังนั้น จุดยืนเรื่องสงครามในยูเครนของทรัมป์ค่อนข้างชัดเจนว่าเขาจะหาทางยุติสงครามโดยเร็วและทรัมป์อาจจะยุติการสนับสนุนทางการทหารให้กับยูเครนด้วย ส่วนจุดยืนของแฮร์ริสไม่ต่างจากไบเดนที่เชื่อว่าสหรัฐฯ ภายใต้การนำของเธอจะทำงานร่วมกับสหภาพยุโรป เพื่อช่วยยูเครนให้ได้รับชัยชนะและจะให้การสนับสนุนยูเครนต่อไป

ส่วนสงครามในกาซา ประเด็นนี้ในส่วนของแฮร์ริสจุดยืนไม่ต่างจากไบเดน นั่นคือยังสนับสนุนสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอล แต่ขณะเดียวกันก็พยายามยับยั้งการสังหารชาวปาเลสไตน์ ขณะที่ในส่วนของทรัมป์เคยประกาศว่าจะยุติสงครามโดยเร็ว แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าจะใช้วิธีการใด

ทั้งนี้ หากแฮร์ริสเป็นผู้นำคนใหม่ จุดยืนของสหรัฐฯ ต่อความขัดแย้งทั่วโลกจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่หากเป็นทรัมป์ก็อาจเตรียมรับมือกับความปั่นป่วน เพราะหลายคนมองว่าทรัมป์เป็นคนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ดังนั้นอะไร ๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน

อ่านข่าว

โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งสหรัฐฯ "ทรัมป์ - แฮร์ริส" สูสีรัฐสมรภูมิ

มองโอกาส "ทรัมป์-แฮร์ริส" ใครจะคว้าชัยศึกเลือกตั้ง 2024

ปริศนาวันอังคาร? เลือกตั้งสหรัฐฯ ย้อนรอยทุ่งเกษตรสู่ทำเนียบขาว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง