วันนี้ (30 ต.ค.2567) ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญ เป็นที่สนใจและมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในคดีที่ นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้ร้อง (โดยนายยุทธชัย เข็มเฉลิม ผู้รับมอบฉันทะ) กล่าวอ้างว่า การกระทำขององค์คณะผู้พิพากษาศาลแขวงดุสิตในการพิจารณาและพิพากษาคดีอาญา คดีหมายเลขดำที่ 254/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 3501/2552 และการกระทำขององค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาในการพิจารณาและพิพากษาคดีอาญา คำพิพากษาที่ 8064/2560 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 28 วรรคสาม และมาตรา 188 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139 (4) และมาตรา 185 วรรคหนึ่ง หรือไม่
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสาร ประกอบคำร้อง ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การกระทำขององค์คณะผู้พิพากษาศาลแขวงดุสิตและองค์คณะผู้พิพากษา ศาลฎีกา ในการพิจารณาและพิพากษาคดีอาญาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 28 วรรคสาม และมาตรา 188 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) และมาตรา 185 วรรคหนึ่ง
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องเกิน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือวันที่พ้นกำหนดเวลาที่ ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีไม่เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
สำหรับคำคดีอาญา คำพิพากษาที่ 8064/2560 กรณีทุจริตจัดซื้อที่ดินโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านสมุทรปราการ โดยองค์คณะผู้พิพากษาในขณะนั้นได้ตัดสินจำคุกนายวัฒนาเป็นเวลา 10 ปี นายวัฒนาได้เดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ และเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยอีกครั้งภายหลังจากที่คดีความหมดอายุ
อ่านข่าว :
"เลิศศักดิ์" โต้ พปชร. ปูดอักษรย่อคนเพื่อไทยเอี่ยว "ดิไอคอน"