ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปริศนาวันอังคาร? เลือกตั้งสหรัฐฯ ย้อนรอยทุ่งเกษตรสู่ทำเนียบขาว

ต่างประเทศ
29 ต.ค. 67
13:27
307
Logo Thai PBS
ปริศนาวันอังคาร? เลือกตั้งสหรัฐฯ ย้อนรอยทุ่งเกษตรสู่ทำเนียบขาว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้หรือไม่? การเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ ต้องจัดในวันอังคารหลังวันจันทร์แรกเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้เกษตรกรเดินทางมาใช้สิทธิได้สะดวก ลดความขัดแย้งทางศาสนา แต่ปัจจุบันการเลือกตั้งล่วงหน้าและทางไปรษณีย์ทำให้วันอังคารกลายเป็นเพียง "วันสุดท้ายของการเลือกตั้ง" แทน

ในวันอังคารที่ 5 พ.ย.2024 ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งนับล้านคนจะมีสิทธิ์เลือก ว่าจะให้ "โดนัลด์ ทรัมป์" หรือ "คามาลา แฮร์ริส" เป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ โดยประเพณีดั้งเดิมที่มีมานานกว่า 180 ปี ของประเทศแห่งเสรีนี้

กำหนดให้วันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนเป็นวันเลือกตั้ง

ประเพณีนี้สืบทอดมาตั้งแต่ปี 1845 เหตุผลที่สหรัฐฯ กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันเลือกตั้งนั้นซับซ้อนและมีพื้นฐานจากบริบททางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในศตวรรษที่ 19 ทั้งปัจจัยด้านการเกษตร การเดินทาง และศาสนา 

ทำไมต้องวังอังคาร ?

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 การเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐฯ ไม่ได้จัดขึ้นในวันเดียวกันทั่วประเทศ แต่ละรัฐมีอิสระในการกำหนดวันเลือกตั้งของตน แต่ต้องอยู่ในระยะเวลา "34 วันก่อนวันพุธแรกของเดือนธันวาคม" ซึ่งเป็นวันที่สภาผู้แทนเลือกตั้ง (Electoral College) รวมตัวกันเพื่อนับคะแนนเสียง

วิธีนี้ก่อให้เกิดปัญหามากมาย ทั้งปัญหาการสื่อสาร การขนส่ง ทำให้ผลการเลือกตั้งในบางรัฐออกก่อน และมีผลทำให้การลงคะแนนเสียงในรัฐอื่นได้รับผลกระทบจากผลที่ออกมาก่อนหน้าแล้ว เพื่อลดผลกระทบนี้และเพื่อสร้างมาตรฐานการลงคะแนนเสียง สภาคองเกรสจึงได้ผ่านกฎหมายในปี 1845 ให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันเดียวกันทั่วทั้งประเทศ

วันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน

เหตุผลเพราะสภาคองเกรสต้องการให้วันเลือกตั้งอยู่ในช่วงเวลาที่สะดวกต่อชาวอเมริกันที่ในขณะนั้นประชากรชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

อีกเหตุผลที่เลือก "วันอังคาร" มาจากความสะดวกในการเดินทาง สมัยเกือบ 2 ศตวรรษนั้นการเดินทางด้วยม้ายังคงเป็นวิธีหลัก ทำให้ต้องใช้เวลาถึง 1-2 วันกว่าจะถึงสถานที่เลือกตั้ง การเลือกวันอังคารทำให้เกษตรกรสามารถเริ่มเดินทางจากบ้านได้ในวันจันทร์และกลับถึงบ้านในวันพุธ ทำให้พวกเขามีเวลาพักผ่อน และสามารถไปโบสถ์ในวันอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นวันสำคัญของผู้นับถือศาสนาคริสต์

หากเลือกให้วันเลือกตั้งเป็นวันจันทร์ อาจทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงที่ต้องเดินทางไกลต้องเริ่มเดินทางในวันอาทิตย์ ซึ่งจะขัดกับการไปโบสถ์ตามความเชื่อทางศาสนา ดังนั้นการเลือกวันอังคารจึงช่วยลดการขัดแย้งทางศาสนาและสะดวกในการเดินทางมากกว่า การเลือกวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน ยังช่วยให้หลีกเลี่ยง ไม่ให้วันเลือกตั้งตรงกับวันที่ 1 พ.ย. ซึ่งเป็นวัน All Saints’ Day ของศาสนาคริสต์ ซึ่งถือเป็นวันสำคัญของศาสนิกชนในยุคนั้น

ทำไมต้องเดือนพฤศจิกายน ?

เพราะ "พฤศจิกายน" เป็นช่วงที่ฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลของเกษตรกรนั้นเสร็จสิ้นแล้ว ชาวอเมริกันในสมัยนั้นต้องพึ่งพาการเกษตรเป็นหลัก นั่นหมายถึงฤดูเก็บเกี่ยวย่อมมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของพวกเขามาก การเลือกตั้งในเดือนนี้จึงสะดวกเพราะไม่ก่อให้เกิดความลำบากต่อการทำงานและรายได้ นอกจากนี้ เดือนพฤศจิกายนยังเป็นช่วงก่อนฤดูหนาวที่สภาพอากาศยังไม่เลวร้ายเกินไป ทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถเดินทางไปยังหน่วยเลือกตั้งได้ง่ายขึ้นแม้ว่าจะต้องเดินทางไกล

ทำไมไม่เลือกวันพุธ ?

ในหลายรัฐ "วันพุธ" มักเป็นวันตลาดนัด สำหรับพ่อค้าแม่ค้าถือว่าเป็นวันที่สำคัญสำหรับการซื้อขายสินค้าในสังคมชนบท หากกำหนดให้วันพุธเป็นวันเลือกตั้ง อาจทำให้เกิดความขัดแย้งและเป็นการรบกวนการดำเนินชีวิตของผู้คนในชนบทที่ต้องพึ่งพาการค้าขายในการเลี้ยงชีพ

"วันอังคาร" เหลือแค่วันสุดท้ายของการเลือกตั้ง

วันเปลี่ยน เวลาเปลี่ยน ระบบก็เปลี่ยน เมื่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากยุคที่ต้องพึ่งพาการเกษตร แต่วันเลือกตั้งยังคงถูกกำหนดให้เป็นวันอังคารหลังวันจันทร์แรกในเดือนพฤศจิกายน หลายคนเห็นว่าเป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนที่ต้องทำงานและมีภาระหน้าที่ในวันธรรมดา การเรียกร้องให้เปลี่ยนวันเลือกตั้งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดประจำชาติจึงมีขึ้น แต่หลังการพูดคุย จัดประชุม ลงมติกัน การลงคะแนนทางไปรษณีย์และการเลือกตั้งล่วงหน้า ก็ช่วยลดแรงกดดันเรื่องของการเปลี่ยนแปลงวันเลือกตั้งลงไปได้ 

สุดท้ายวันอังคารก็เป็นเพียง "วันสุดท้ายของการเลือกตั้ง" มากกว่าจะเป็นเพียงวันเดียวที่กำหนดให้ประชาชนมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

อ่านข่าวเพิ่ม :

เครื่องมือการเมือง ความสัมพันธ์มัสก์-ผู้นำโลก "ใคร" ได้ประโยชน์ ?

"มัสก์" ทุ่มอีก 40 ล้าน "ทรัมป์" เลี่ยงตอบสื่อปมลวนลามนางแบบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง