ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นวนิยาย "กี่บาด" ของประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด คว้ารางวัลซีไรต์ 2567

ไลฟ์สไตล์
28 ต.ค. 67
16:09
112
Logo Thai PBS
นวนิยาย "กี่บาด" ของประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด คว้ารางวัลซีไรต์ 2567
นวนิยายเรื่อง “กี่บาด” ของ “ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด” คว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2567

วันนี้ (28 ต.ค.2567) คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ประเภทนวนิยาย ระบุในคำประกาศว่า คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า นวนิยายเรื่อง “กี่บาด” ของ ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด เล่าเรื่องของ "แม่ญิง" ช่างทอผ้าแม่แจ่มสามรุ่นที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทอซิ่นตีนจก

นำเสนอผ่านโครงเรื่องการต่อสู้และการส่งต่อมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าในบริบทยุคสมัยที่มีความผันแปร โดยใช้กี่ทอผ้าเป็นเสมือนพื้นที่ของผู้หญิงที่เต็มไปด้วยความหมายอันหลากมิติ ทั้งการต่อรองทางเพศสภาพ การต่อสู้กับอคติของจาริต การเก็บงำความทรงจำทั้งดีและร้าย

ด้านศิลปะการประพันธ์ “กี่บาด” มีทั้งขนบวรรณศิลป์แบบดั้งเดิมประสานกับการสร้างสรรค์ใหม่ โดยใช้ศิลปะการทอผ้าและลวดลาย สื่อความหมายและดำเนินเรื่องอย่างมีเชิงชั้น เต็มไปด้วยสีสันท้องถิ่นนำพาผู้อ่านสู่อารมณ์สะเทือนใจ เห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของมนุษย์ แม้จะต้องเผชิญประสบการณ์หรือความทรงจำอันปวดร้าวเพียงไร ชีวิตก็ต้องเดินไปข้างหน้า และถักทอเรื่องราวอันเป็นวัฒนธรรมเรื่องเล่าของมนุษยชาติต่อไป

คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ นวนิยายเรื่อง “กี่มาด” ของ ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมเเห่งอาเชือน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2567

อ่านข่าว : เปิดรายชื่อนวนิยาย 8 เล่ม ชิงรางวัลซีไรต์ 2567

เรื่องราวของช่างทอผ้า “แม่ญิง” ล้านนา 3 รุ่น

กี่บาด” เล่าเรื่องราวของช่างทอผ้า “แม่ญิง” ล้านนา 3 รุ่นที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทอผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งเป็นศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของล้านนา เส้นสายลวดลายบนผืนผ้าเปรียบเสมือนกับเรื่องราวชีวิตที่มีบาดแผลและความทรงจำอันเจ็บปวดของตัวละคร กี่บาดซึ่งเป็นชื่อนวนิยายเป็นสัญลักษณ์เปรียบได้กับแผลเป็นที่ย้ำเตือนประสบการณ์อันเลวร้ายในชีวิต เป็นการเชื่อมโยงเรื่องราวการทอผ้ากับเรื่องราวชีวิตของตัวละครได้อย่างน่าติดตาม นอกจากนั้นผ้าซิ่นทอในเรื่องยังเป็นสัญลักษณ์ของการส่งต่อ “พลังความเป็นหญิง” ในครอบครัว

เนื้อหาของนวนิยายแบ่งเป็นสามช่วงใหญ่ตามเรื่องราวของตัวละครหลัก เล่าด้วยสายตาของผู้รู้ผ่านมุมมองของตัวละครแต่ละรุ่น เริ่มตั้งแต่ส่วนของ “เอวซิ่น” เป็นเรื่องราวของ “แม่หม่อนเฮือนแก้ว” หญิงชราที่เป็นผู้รับและส่งต่อมรดกการทอผ้าจากบรรพบุรุษ ผู้พบกับความรักต้องห้ามในวัยสาว ซึ่งต่อมาต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวและเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลในใจตลอดชีวิต

ตามด้วย “ตัวซิ่น” เป็นเรื่องราวของ “แม่อุ้ยนาค” ลูกสาวของหญิงชราที่ถูกมารดาชัง สุดท้าย “ตีนซิ่น” เป็นเรื่องของรุ่นหลานชาย “บ่าหงส์” ผู้เลือกวิถีชีวิตของตนเป็นหญิงขัดกับเพศกำเนิด และเป็นผู้สืบทอดมรดกการทอผ้าในครอบครัว ซึ่งตามประเพณีวัฒนธรรมของล้านนาสงวนไว้สำหรับผู้หญิงเท่านั้น

ผู้เขียนถักทอเรื่องราวประดุจดังการสอดประสานเส้นใยฝ้ายเป็นลวดลายบนผืนผ้า ผสมผสานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการทอผ้าเข้ากับเรื่องเล่าแนวบันเทิงคดีได้อย่างสอดคล้องและแนบเนียน นำเสนอฉากท้องเรื่องที่มีภูมิหลังทางสังคมและบรรยากาศทางวัฒนธรรมของล้านนาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

นอกจากนั้น ยังได้นำเสนอเรื่องราวการกดขี่สตรีเพศในครอบครัว รวมทั้งเรื่องเพศวิถีความเป็นชายและความเป็นหญิงกับการก้าวผ่านข้อห้ามทางประเพณีวัฒนธรรมที่สังคมกำหนดการเล่าเรื่องของนวนิยายเป็นไปอย่างเรียบง่าย งดงาม กระจ่างชัดด้วยการใช้ภาษาพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครอย่างน่าสะเทือนใจ สร้างความรู้สึกร่วมแก่ผู้อ่าน

อ่านข่าว :

ส่องทิศทางวงการหนังสือกระเตื้อง 1.7 หมื่นล้าน - "อีบุ๊ก" มาแรง สูงวัยนิยม

เทรนด์ฮาโลวีน 2024 โบกมือลาขยะ "คืนสยองรักษ์โลก" มาถึงแล้ว

"รถไฟลอยน้ำ" เที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 2567 เช็กตารางรถ-ราคา

“สวนสยาม” ชิงเสนอพื้นที่ตั้งเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง