ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ส่อสะดุด งานพืชสวนโลก จ.อุดรธานี ขอเลื่อนจัดงาน 1 ปี

ภูมิภาค
26 ต.ค. 67
10:31
3,279
Logo Thai PBS
ส่อสะดุด งานพืชสวนโลก จ.อุดรธานี ขอเลื่อนจัดงาน 1 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี มีมติให้เจ้าหน้าที่เตรียมเจรจากับสมาคมพืชสวนนานาชาติ เพื่อขอเลื่อนการจัดงานออกไปอีก 1 ปี กรณีนี้สร้างความกังวลให้กับภาคประชาชนที่ติดตามความคืบหน้าของโครงการ พบปัญหาหลายจุดที่อาจทำให้โครงการสะดุด

สภาพของหนองแด ต.กุดสระ อ.เมืองอุดรธานี เนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ ที่ถูกถมดินปรับพื้นที่ และสร้างเขื่อนป้องกันดิน ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคมปีนี้ กำหนดแล้วเสร็จในเดือนมกราคมปีหน้า ก่อนจะส่งมอบพื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารต่อไป

แต่ล่าสุด จากการประชุมคณะกรรมการบริหารการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมเสนอให้ทางจังหวัดอุดรธานีเตรียมส่งมอบโครงการปรับพื้นที่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ หรือเร็วขึ้น 2 เดือน

หลังพบปัญหาว่ายังไม่มีบริษัทเอกชนเข้ามายื่นเสนอทำโครงการก่อสร้างอาคารและภูมิสถาปัตย์ วงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งที่เหลือเวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปีเศษเท่านั้น

ที่ประชุมยังมีการเสนอให้ปรับผังแม่บท โดยปรับลดขนาดอาคาร ใช้เทคโนโลยีลดเวลาก่อสร้าง และมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ สสปน. กับกรมวิชาการเกษตร เจรจาสมาคมพืชสวนนานาชาติ ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ เพื่อขอเลื่อนการจัดงานพืชสวนโลก จ.อุดรธานี ออกไปอีก 1 ปี คือจากช่วงเดือนพ.ย.2569 เป็นเดือนพ.ย.2570 เพื่อไม่ให้งานเร่งรีบมากเกินไป 

มีผู้ประกอบการ 1 รายแจ้งเหตุผลไม่ประสงค์ยื่นเสนอราคา เพราะรูปแบบก่อสร้างซับซ้อน ราคากลางค่อนข้างต่ำ และข้อจำกัดระยะเวลาในการก่อสร้าง

ภาคประชาชนที่ใช้ชื่อว่า กลุ่มรักษ์หนองแด ร่วมกับ ชมรมสตรองต้านทุจริต ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ทำงานเฝ้าระวังปัญหาทุจริตคอรัปชั่นร่วมกับ ป.ป.ช. ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการ พบว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการก็ล่าช้ามาเกือบ 2 ปี เพราะต้องรอการออกแบบผังแม่บทการจัดงาน หรือ Master Plan ที่ใช้งบประมาณกว่า 55 ล้านบาท ซึ่งถูกร้องเรียนว่าไม่โปร่งใส พวกเขามองว่าโครงการนี้มีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และอยากให้ภาครัฐเร่งแก้ไข

สิ่งที่ยืนยันความล่าช้าของโครงการนี้ คือแผนการบริหารจัดการโครงการ ที่กำหนดว่า ปี 2565 ต้องมีการออกแบบผังแม่บทการจัดงาน และในปี 2567 ต้องมีการตกแต่งภูมิสถาปัตยกรรม สาธารณูปโภค และอาคาร แต่กลับไม่เป็นไปตามแผน

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการปรับพื้นที่ก็มีความล่าช้า พบปัญหา การปลูกต้นปอเทืองไม่งอก ไม่เจริญเติบโต ทั้งที่ปลูกถึง 3 รอบ สะท้อนว่าสภาพดินบริเวณนี้มีปัญหา ซึ่งภาคประชาชนกังวลว่าจะกระทบต่อการปลูกพืชพรรณอื่นๆในการจัดงาน

อีกทั้งการปรับพื้นที่ที่ต้องระบายน้ำออกจากหนองแดก็ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำดิบผลิตประปาของหมู่บ้านไม่เพียงพอ

งานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี พ.ศ.2569 ถูกกำหนดให้ใช้วงเงินงบประมาณ 2,500 ล้านบาท เป็นหนึ่งในโครงการที่ ป.ป.ช. ปักหมุดเฝ้าระวังความเสี่ยงทุจริต 

โดยเฉพาะประเด็นการเบิกจ่ายงบประมาณ ช่วงวันที่ 15-20 ก.ค.2566 คณะกรรมการ สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) เดินทางมาตรวจเยี่ยม และมีข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ ต้องใช้งบประมาณอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท

เป็นสาเหตุให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ขอขยายกรอบงบประมาณเป็น 5,500 ล้าน บาท แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ประธานคณะกรรมการบริหารการจัดงานพืชสวนโลก จ.อุดรธานี พ.ศ.2566

ก่อนที่จะมีการขอเพิ่มงบประมาณ เมื่อครั้งที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในขณะนั้น ลงพื้นที่รับฟังความคืบหน้าโครงการมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2566 แต่นายเศรษฐาปฏิเสธ พร้อมระบุว่า การของบประมาณ เพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท เป็นเรื่องที่รัฐบาลรับไม่ได้ และจะเอางบฯมาจากไหน

งานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี ที่มีปัญหาติดขัดหลายด้าน ทำให้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น ลงพื้นที่ติดตามปัญหา จากเอกสาร สรุปการมอบนโยบายของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในภารกิจการเดินทางไปตรวจราชการ ณ จังหวัดอุดรธานี วันที่ 30 ก.ย.2566 ส่วนหนึ่งระบุว่า

กระบวนการออกแบบผังแม่บท เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และเตรียมการ จัดงานโครงการให้เสร็จตามกำหนดเวลา

ได้มีการย่นระยะเวลาดำเนินการในกระบวนการออกแบบผังแม่บท จากเดิมมีระยะเวลาดำเนินงาน 270 วัน นับตั้งแต่วันลงนามในสัญญา ปรับลดเวลาดำเนินงานเป็น 180 วัน

ซึ่งผังแม่บทดังกล่าวจะรวมถึง detaileddesign ประมาณการรายละเอียดการก่อสร้าง,BOQ, Plant planning

แผนงานก่อสร้างโครงการ
1.ในปี 2567 เริ่มมีการปรับถมพื้นที่โครงการ,งานพื้นที่หน้าโครงการ,งานผังแม่บทและผังบริเวณ และเริ่มสร้างอาคารบางส่วน เช่นอาคาร
ประชาสัมพันธ์,อาคารอำนวยการ และอาคารเฉลิมพระเกียรติ
2.ในปี 2568 เริ่มสร้างหมู่บ้านอีสาน, อาคารนิทรรศการเรือนกระจก, หอชมวิว และอาคารสนับสนุน อื่นๆ
3.ส่งมอบงานได้ในเดือนเม.ย.2569

จากแผนงานดังกล่าว รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น (ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) เห็นว่า แผนงานการดำเนินงานด้านสถาปนิกงานเอกสารการก่อสร้างเป็นไปด้วยดีไม่ติดขัด แต่ปัญหาคือยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่ให้เข้าไปดำเนินงาน และไม่มีแผนการปลูกต้นไม้ อาจจะส่งผลกระทบต่อการจัดงาน จึงขอให้ผู้รับจ้างออกแบบฯ ปรับแผนให้ครอบคลุม และชัดเจน 

การจัดซื้อจัดจ้างโครงการงานมหกรรมพืชสวนโลก จ.อุดรธานี ตามที่ผู้รับจ้างออกแบบฯ (บริษัท 110 PL)ได้นำเสนอผังแม่บทและกรอบเวลาการดำเนินงานปรากฏว่า มีเวลาที่กระชั้นชิดมาก

เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และเสร็จตามกำหนดเวลา ควรให้มีการพิจารณาคัดเลือกวิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบรัฐต่อรัฐหรือวิธีคัดเลือก หรือวิธีพิเศษ

ดุลพินิจของคณะกรรมการและเป็นนโยบายรัฐบาลต้องจัดหาทีมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด ให้มีส่วนร่วมแต่แรกและให้มีความปลอดภัย

จากข้อมูลเหล่านี้ ทำให้ภาคประชาชนที่เฝ้าระวังปัญหาทุจริต ได้ติดตามเฝ้าระวังการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้ เพราะหากมีการหาผู้รับจ้างโดยวิธีการคัดเลือก หรือวิธีพิเศษ จะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส และนำไปสู่การใช้จ่ายงบประมาณที่คุ้มค่า

เพื่อให้การก่อสร้างอาคารและการปรับพื้นที่ได้มาตรฐานใช้งานได้ในระยะยาว ไม่ใช่แค่ใช้ได้เพียงช่วงจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก แล้วหลังจากนั้นกลายเป็นโครงการสร้างแล้วทิ้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง