ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"โดนัลด์ ทรัมป์" ทางเลือกใหม่ ? ชาวอเมริกันผิวสี

ต่างประเทศ
25 ต.ค. 67
14:38
1,496
Logo Thai PBS
"โดนัลด์ ทรัมป์" ทางเลือกใหม่ ?  ชาวอเมริกันผิวสี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

น่าแปลกใจว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ 60 ของสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้น ในวันที่ 5 พ.ย. 2024 นี้ ศึกชิงตำแหน่ง "พญาอินทรียักษ์" ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ในฐานะคู่ท้าชิง "คนผิวสี" กลับกลายเป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์ไปเสียแล้ว

ทั้ง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา (2017-2020) นับตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้มีการกระทำในลักษณะดูถูกและเหยียดสีผิวคนดำหนักมาก ขนาด นิกกิ ฮาเลย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ พรรครีพับลิกัน ยังเอือมระอา โดยระบุว่า พฤติกรรมของทรัมป์ "น่าขยะแขยง" ที่สุด

สำหรับพฤติกรรมดังกล่าว เช่น การห้ามผู้อพยพลี้ภัยสงครามจากซีเรียเข้าประเทศ เพราะกลัวการก่อความไม่สงบ การกีดกันชาวผิวสีในการดำรงตำแหน่งทางตุลาการ การออกมาตั้งคำถามกับการได้สัญชาติอเมริกันของ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ ว่า เป็นการปลอมแปลงหลักฐาน รวมทั้งการกล่าวคำผรุสวาท ว่า ประเทศในทวีปแอฟริกานั้น เน่าเหม็น หรือ "Shitholes" เป็นที่สุด

แม้จะมีการกระทำเช่นนั้น แต่การลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 กลับพบว่า สัดส่วนของ "ชาวผิวสี" ที่ให้การสนับสนุนทรัมป์ เพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 17 หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2016 มากกว่าเท่าตัว จากเดิมร้อยละ 8 โดยสัญญาณการได้รับความนิยม เริ่มจากการเลือกตั้งในปี 2020 แม้ทรัมป์จะพ่ายแพ้ต่อ โจ ไบเดน แต่ก็ได้รับความนิยมจากชาวผิวสีมากถึงร้อยละ 12

ตามปกติแล้ว ชาวผิวสีส่วนใหญ่จะสนับสนุนพรรคเดโมแครต แต่การเข้ามาของทรัมป์ ทำให้ความนิยมหันเหไปทางพรรครีพับลิกันเพิ่มขึ้น หลังพบว่าปี 2024 ชาวผิวสีให้การสนับสนุน โจ ไบเดน เพียงร้อยละ 63 เท่านั้น น้อยที่สุดตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ต่างจากชาวละตินและชาวเอเชียที่ยังคงเชื่อมั่นในเดโมแครต

มีคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับ "พฤติกรรมการโหวต" ของชาวผิวสีในการชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2024 ?

เปิดเหตุผล "เดโมแครต" ครองใจชาวผิวสี

หากย้อนประวัติศาสตร์และพฤติกรรมการเลือกตั้งชาวผิวดำ พบว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคะแนนเสียงที่คาดเดายาก หรือ สวิงโหวต (Swing Vote) ว่าจะสนับสนุนคนของพรรคไหน เนื่องจากสัดส่วนการเลือกพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน เกือบจะเท่ากัน

ผลวิจัย Black Voters, Black Candidates, and Social Issues: Does Party Identification Matter? ระบุว่า ในยุคก่อนชาวผิวสีแทบไม่มีสิทธิโหวต หากไม่ได้ถือครองทรัพย์สินมากพอหรือเป็นผู้ชาย และกว่าจะได้สิทธิโหวต (Enfranchisement) เวลาได้ล่วงเลยมาถึงปี 1965 ด้วยจำนวนผู้โหวตที่น้อย ดังนั้น "น้ำหนัก" ของการโหวตจึงน้อยลงไปด้วย และการโหวตในแต่ละครั้งของชาวผิวสีจึงไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมใด ๆ ต่อผลการเลือกตั้ง การตัดสินใจโหวตจึงเป็นเรื่อง "ตามน้ำ" เสียส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ต่อมาจุดเปลี่ยนสำคัญของชาวผิวสีต่อพรรคเดโมแครตก็เกิดขึ้นในปี 1907 เมื่อ "ธีโอดอร์ รูสเวลต์" ได้รับเลือกจากผู้อพยพชาวผิวสีที่เข้ามาเป็นแรงงานอุตสาหกรรม ให้เป็นประธานาธิบดี หลังพวกเขาได้รับสิทธิการเป็นพลเมืองและมีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้ชาวผิวสีกลายเป็น "เสียงส่วนใหญ่ ของประเทศ และมีอำนาจมากพอที่จะกำหนดผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้

ธีโอดอร์ รูสเวลต์

ธีโอดอร์ รูสเวลต์

ธีโอดอร์ รูสเวลต์

กล่าวได้ว่า พวกคนกลุ่มนี้ได้สะสมความไม่พอใจต่อ พรรครีพับลิกันมาช้านาน ด้วยเหตุพรรคฯ มักจะมีนโยบายที่ไม่เอื้ออำนวยหรือให้ผลประโยชน์ต่อกลุ่มเผ่าพันธุ์อื่น ๆ นอกเหนือจากชาวผิวขาว เช่น สนับสนุนกฎหมายแขวนคอชาวผิวสีเมื่อกระทำผิดร้ายแรง หรือมีความพยายามธำรง "การถือผิว (Apartheid)" ไว้ในประเทศ โดยมองว่ารีพับลิกันเป็น "พรรค Klu Klux Klan" หรือ "พรรคของชาวผิวขาวจอมเหยียด" หมายความว่า พวกเขาและรีพับลีกันคือเส้นขนานกัน

โดยผลลัพธ์ที่แสดงออกอย่างชัดเจน ในปี 1930 ซึ่งอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) กลายเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ชาวผิวสีเทใจให้เดโมแครต เนื่องจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ คือ แรงงานระดับล่าง ๆ ซึ่งเป็นชาวผิวสี โดยผู้ขับเคลื่อนคนสำคัญ "แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์" ได้นำเสนอ "นโยบายนิวดีล (New Deal)" เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยการเพิ่มการจ้างงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมโปรยยาหอมว่า "ท่ามกลางประชาชนอเมริกัน เราไม่ควรหลงลืมพวกเขา และไม่มีทางหลงลืมเผ่าพันธุ์ของพวกเขาเช่นกัน"

นโยบายดังกล่าว ทำให้รูสเวลต์ได้ใจชาวผิวสีมาก ในที่สุดก็ทำให้ได้คะแนนเสียงจากชาวผิวสี ถึงร้อยละ 71 ส่งผลให้เขาได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 1936 ทำให้พรรคเดโมแครต ต้องหักมุมนโยบายหาเสียงเพื่อผู้ยากไร้และผู้คนชายขอบช่วงเวลาต่อมา และในสมัยประธานาธิบดี ลินดอน บี จอห์นสัน ได้ผลักดัน "The Voting Right Act" เพื่อให้สิทธิแก่ชาวผิวสีได้สิทธิเลือกตั้งในปี 1965 ได้สร้างความจงรักภักดีระหว่างเขาและพรรคฯเพิ่มขึ้น

แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์

แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์

แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์

เทใจให้ทรัมป์ "จุดเปลี่ยน" ชาวผิวสี

หากพลิกประวัติศาสตร์ จะพบว่า เดโมแครต คือ พรรคการเมืองที่อยู่เคียงข้าง "การต่อสู้" ของชาวผิวสี ให้มีสิทธิและเสรีภาพ อย่างยาวนาน โดยพรรคฯ มีแนวนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของชาวผิวสี จนทำให้พวกเขาปัดหมุด เทใจให้รีพับลิกันอย่างท่วมท้น

มีคำถามว่า เหตุใดการเข้ามาของทรัมป์จึงเปลี่ยนแปลงพวกเขาแบบพลิกฝ่ามือ ? โดยมีการให้เหตุผลหลัก ๆ อยู่ 2 แนวทาง คือ

"รีพับลิกัน" ผู้ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ "ชาวผิวสี"

ความนิยมในตัวของทรัมป์นั้น ไม่มีอะไรซับซ้อนนอกเสียจากประเด็นทางด้าน "เศรษฐกิจ" ผลการวิจัยของ Pew Research Center ชี้ว่า เงื่อนไขที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด ต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหรือแก้ไขปัญหาปากท้อง ให้ได้ร้อยละ 73 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรอเมริกัน

สอดคล้องข้อเสนอของชาวผิวสี ที่ให้ความสำคัญกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากพวกเขามักได้รับการปฏิบัติในฐานะพลเมืองชั้นสอง แม้ว่าประเทศฯจะให้สิทธิและเสรีภาพมากมายเพียงใด แต่เมื่อการได้รับปฏิบัติแบบเสียเปรียบ สิ่งที่ต้องการจึงเป็นเรื่องเงินทอง และความกินดีอยู่ดี โดยไม่สนว่า พรรคการเมืองหรือประธานาธิบดีจะปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไร ในทางการเมืองและสังคม

นอกจากนี้ "โลกาภิวัตน์ (Globalisation)" ได้ส่งผลให้ชาวผิวสีเกิดความกังวลต่อความมั่นคงทางการเงินของอย่างมาก จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ บริษัทในประเทศต่างหันไปลงทุนในตลาดอื่น ๆ โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีค่าแรงถูกกว่า ภาษีอัตราถูกกว่า หรือข้อบังคับจากภาครัฐที่น้อยกว่า ทำให้มีความเสียเปรียบด้านเศรษฐกิจ

อีกด้านหนึ่ง กระแสโลกาภิวัตน์และการแพร่สะพัดของความฝันแบบอเมริกัน หรือ "American Dream" ความเชื่อที่ว่า ใคร ๆ ก็สามารถบรรลุความสำเร็จในแบบของตนเองได้ในสังคมที่ทุกคนสามารถก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ได้นำ "แรงงานอพยพ" จากชาติอื่น ๆ เข้ามากอบโกยผลประโยชน์ในประเทศ เนื่องจากเป็นแรงงานที่มีค่าแรงถูกกว่า สิทธิและสวัสดิการสังคม มีน้อยกว่าแรงงานในประเทศหรือไม่มีเลย รวมถึงไม่มีการก่อตั้ง "สหภาพแรงงาน" การรวมกลุ่มจึงไม่แข็งแกร่ง ทำให้หมดปัญหาด้านการสไตร์คหรือนัดหยุดงาน

สิ่งนี้เป็นเรื่องดีต่อบริษัทขนาดใหญ่ แต่สำหรับชาวอเมริกัน โดยเฉพาะแรงงานระดับล่างหรือเกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวผิวสี กลับขาดรายได้ ตกงาน และถูกแย่งงาน และมองว่าตนเองเป็นเหมือน "เหยื่อ" ของรัฐบาล และเห็นชาติอื่น ๆ เป็นศัตรู ที่เข้ามาแย่งและเบียดเบียนสิ่งที่เคยเป็นของตนเอง

ดังนั้น เมื่อทรัมป์กล้าสวนกระแส ชูนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน (America First)" เช่น ตั้งกำแพงภาษี กีดกันทางการค้า การลงทุน และตลาดหุ้น การดึงฐานการผลิตกลับประเทศ หรือการสร้างกำแพงกั้นพรม แดน ส่งเสริมให้มีงานทำ มีการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น พวกเขาจึงรู้สึกว่า ชีวิตกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง แม้นโยบายดังกล่าว จะเป็นเรื่องตลกในสายตาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ตาม

ทรัมป์มักจะออกมาเคลมเสมอว่า อัตราการว่างงานของชาวผิวสีเมื่อครั้งเขาเป็นประธานาธิบดีถือว่าต่ำที่สุด ต่ำกว่าสมัยที่ประเทศมีประธานาธิบดีชื่อ บารัก โอบามา เสียอีก ซึ่งเป็นความจริง สถิติของ Current Population Survey ชี้ว่า ช่วงสุดท้ายก่อนหมดวาระของทรัมป์ อัตราการมีงานทำของชาวผิวสีพุ่งสูงถึงร้อยละ 17 สูงกว่ายุคของโอบามากว่าเท่าตัวเลยทีเดียว

"ชาวผิวสีรุ่นใหม่" ไม่เข้าใจ "รากเหง้า-ประวัติศาสตร์"

แม้ประเด็นด้านเศรษฐกิจจะมีส่วนต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งของชาวผิวสีที่มีความนิยมในตัวของทรัมป์มากขึ้น แต่เรื่องชีวิตและสังคมก็มีความสำคัญโดยเฉพาะเงื่อนไข ในการตัดสินใจเลือกตั้งของชาวผิวสี จากสิ่งที่เรียกว่า "ความทรงจำร่วม (Collective Memory)" ที่แฝงอยู่ในวิธีคิด

ความทรงจำร่วม เป็นสิ่งที่รับรู้และเข้าใจร่วมกันของกลุ่มคนหรือเผ่าพันธุ์หนึ่ง ๆ แม้จะอยู่ต่างสถานที่กัน และดำรงอยู่ในระยะเวลายาวนาน ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับ "ผู้ที่ด้อยกว่า (Inferiors)" ทางสังคม เช่น ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ หรือชาวผิวสี และมักเป็นเรื่องของการถูกกดขี่ กดดัน ข่มเหง หรือด้อยค่าจากบรรดาชาวผิวขาวและรัฐบาล ทำให้ต้องเรียกร้องและดิ้นรนอย่างหนักเพื่อได้รับการดูแลในฐานะประชาชนอเมริกัน

ขณะที่ "ชาวผิวสีรุ่นใหม่" ไม่ได้มีความทรงจำร่วมต่อความยากลำบาก ความทุกข์ทรมาน และขมขื่น ว่าด้วย "ความเสมอภาค" ในฐานะประชาชนอเมริกันเทียบเท่าชาวผิวขาว เหมือน อโดลฟุส เบล็ค นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวินโธร์ป เสนอว่า

ชาวผิวสียุคนี้ ไม่ได้โตมากับการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพหรือเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้โดยตรง สำหรับพวกเขา สิ่งดังกล่าวหาใช่ความทรงจำ แต่เป็นประวัติศาสตร์ จึงปราศจากความเข้าใจสายธารประวัติศาสตร์ จุดเปลี่ยน ข้อจำกัด หรือโอกาสของชาวผิวสีในอดีต

เมื่อไม่ได้เผชิญความยากลำบากในการได้มา ซึ่งสิ่งที่ต้องการชาวผิวดำในปัจจุบันจึง "ตัดขาด" ตนเองออกจากรากเหง้า พวกเขาไม่ได้คิดว่าเป็นชาวผิวดำ แต่คิดบนฐานของ "ชาวอเมริกัน" ที่มีอิสระเสรี สามารถตัดสินใจเลือกตั้งบนฐานของ "ปัจเจกบุคคล" ได้โดยง่าย

"ผมไม่แปลกใจ หากชาวผิวสีจะหันไปเลือกรีพับลิกัน เพราะพวกเขาต้องการความแตกต่าง สืบเสาะสิ่งที่น่าสงสัยในตัวทรัมป์ แม้ทรัมป์จะเป็นพวกเหยียดผิวก็เถอะ" เบล็คกล่าวเสริม

สอดคล้องกับ ผศ.ดร. ประพีร์ อภิชาติสกล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกันศึกษา ที่ชี้ว่า ชาวผิวสีรุ่นใหม่ ไม่มีวิธีคิดเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น แต่มุ่งให้ความสนใจเรื่องปากท้อง การมีงานทำ เงินทองมากกว่า ไม่ว่าใครเป็นประธานาธิบดี ทำตรงนี้ให้พวกเขาได้ ก็พร้อมลงคะแนนเสียงให้ทั้งนั้น

ผศ.ดร. ประพีร์ อภิชาติสกล

ผศ.ดร. ประพีร์ อภิชาติสกล

ผศ.ดร. ประพีร์ อภิชาติสกล

คนรุ่นใหม่ผิวสี ไม่ได้ถูกดูหมิ่น ดูถูก เหยียดหยามแบบสมัยก่อน เรื่องนั่งรถบัสคันเดียวกับชาวผิวขาว เรียนด้วยกันไม่ได้ เขาไม่มีตรงนั้น เขาเกิดมาก็ได้รับความเสมอภาค เท่าเทียมแล้ว … ประเด็นสมัยก่อนและสมัยนี้จึงต่างกันมาก

ผศ.ดร. ประพีร์ บอกว่า ชาวผิวสีที่เติบโตมากับความขมขื่นค่อย ๆ ทยอยเสียชีวิตไป ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นชาวผิวสีรุ่นใหม่แทบทั้งสิ้น ปัญหาใน อดีต เช่น การเชิดชูคุณค่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ผู้หญิง หรือความหลากหลาย ไม่เหมือนในปัจจุบันและอนาคตได้แปรเปลี่ยนไป เพราะปัจจุบันสหรัฐฯ มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เป็นคุณค่าแบบใหม่

อเมริกาต้องกู้ตนเองให้กลับมาเป็นผู้นำได้เหมือนเดิม เพราะตอนนี้เราจะเห็นว่าบทบาทของอเมริกาเสื่อมคลายลง … เลยเป็นโจทย์ที่ทำให้ผู้นำในปัจจุบันและอนาคตต้องแก้ไขปัญหา การที่ผู้คนจะเลือกอะไร ขึ้นอยู่กับปัญหานี้ … เลยพ้นจากเรื่องความเท่าเทียมอะไรไปมากแล้ว

แหล่งอ้างอิง:

Why are Black voters backing Donald Trump in record numbers?, History.com, CEPR, Nationalism and Globalization, Black Voters, Black Candidates, and Social Issues: Does Party Identification Matter?, Pew Research Center, The Impact of Economic Conditions on the Voting Behavior of Blacks, When did Black voters shift to Democrats? Earlier than you might think, Current Population Survey

อ่านข่าว:

อดีตนางแบบแฉเคยถูก "ทรัมป์" ลวนลามที่ทรัมป์ ทาวเวอร์

CIMBT ชี้ "ทรัมป์" ชนะเลือกตั้ง เทรดวอร์ "สหรัฐ-จีน" ระอุอีกรอบ

เกาะติดเลือกตั้งสหรัฐฯ ไทยหวั่นผลกระทบนโยบายผู้นำคนใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง