ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทช.ชี้ 24 วัน “พะยูน” ตาย 8 ตัว ผลชันสูตรร่างกายผอมขาดอาหาร

สิ่งแวดล้อม
24 ต.ค. 67
15:54
1,184
Logo Thai PBS
ทช.ชี้ 24 วัน “พะยูน” ตาย 8 ตัว ผลชันสูตรร่างกายผอมขาดอาหาร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
น่ากังวล! 24 วันของเดือนต.ค. "พะยูน" ตายต่อเนื่อง 8 ตัว ยอดสะสมปี 67 มากถึง 30 ตัว ผลชันสูตรชัดร่างกายผอมขาดสารอาหาร เหตุหญ้าทะเลลดฮวบจากภาวะทะเลอุ่นขึ้น ต้องอพยพจากเกาะลิบงไกลถึง จ.สตูล สอดคล้องข้อมูล "อาจารย์ธรณ์" ชี้เสี่ยงสูญพันธุ์

วันนี้ (24 ต.ค.2567) โลกออนไลน์พากันแชร์ข้อมูลกรณีพบพะยูนตายในพื้นที่ทะเลอันดามัน โดยล่าสุดมีรายงานพบตายรวมกัน 7 ตัวในรอบ 6 วัน คือในพื้นที่ จ.ภูเก็ต 2 ตัว ตรัง 2 ตัว สตูล 3 ตัว 

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ให้สัม ภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ระบุว่า สถานการณ์พะยูนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงเดือน ต.ค.นี้ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1–24 ต.ค.นี้ มีพะยูนเกยตื้น  8 ตัว จึงถือว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วง 

1 เดือนพะยูนตาย 8 ตัวพบ 3 จังหวัดอันดามัน

อธิบดีทช.กล่าวว่า ในจำนวนนี้พบว่าเป็นการเกยตื้นมีชีวิต 1 ตัว ในพื้นที่จ.ตรัง และตายในวันต่อมา นอกจากนั้นเป็นซากเกยตื้น 7 ตัว เป็นซากสด  1 ตัว และซากเน่า 6 ตัวโดยจังหวัดที่พบการเกยตื้นนั้น คือภูเก็ต  2 ตัว กระบี่ 1 ตัว ตรัง 2 ตัว และสตูลพบ 3 ตัว เมื่อจำแนกพบว่าเป็นพะยูนตัวผู้ 4 ตัว และตัวเมีย 4 ตัว ส่วนใหญ่เป็นพะยูนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น 5 ตัว และตัวโตเต็มวัย 3 ตัว นอกจากนี้ซากที่เกยตื้นอยู่ในสภาพซากที่เน่ามาก

ขณะที่ตัวเลขของปีนี้พบตายสะสม 30 ตัวแล้ว ถือเป็นตัวเลขที่กระโดดหลังปี 2562 ที่เคยมีสถิติ 13-15 ตัว ทำให้ประชากรพะยูนที่มีตัวเลข 270-280 ตัวลดลงอย่างรวดเร็ว 

อธิบดี ทช.กล่าวอีกว่า จากการชันสูตรพะยูนตายมี 2 ลักษณะคือ สภาพร่างกายซูบผอม ขาดอาหาร สุขภาพไม่ดี ป่วย ส่วนอีก 1 เคสมีร่องร่องรอยพันรัดจากเชือก

ผลชันสูตรชี้ให้เห็นว่าร่างกายผอม ไม่มีอาหารกิน สอดคล้องการสำรวจหญ้าทะเลที่เกาะลิบง เกาะมุก จ.ตรัง หญ้าทะเลบางพื้นที่ยังไม่ฟื้นตัวไม่ถึง 10% จากที่น้ำทะเลอุ่นขึ้น และพะยูนอพยพ

อธิบดีทช.กล่าวอีกว่า ส่วนตัวที่อพยพออกไป 12 พื้นที่จุดเสี่ยง กระจายไปถึงอ่าวพังงา หาดราไวย์ ป่าคลอก จ.ภูเก็ต และไปไกลสุดถึง จ.สตูล ใกล้กับมาเลเซีย 

สถิติพะยูนตาย 6 วันรวม 8 ตัวภาพรวมปี 2567 ตายแล้ว 30 ตัว

สถิติพะยูนตาย 6 วันรวม 8 ตัวภาพรวมปี 2567 ตายแล้ว 30 ตัว

สถิติพะยูนตาย 6 วันรวม 8 ตัวภาพรวมปี 2567 ตายแล้ว 30 ตัว

เร่งสำรวจหาประชากรอพยพ หาแหล่งหญ้าทะเล

ส่วนการแก้ปัญหาขณะนี้ส่งทีมสัตวแพทย์ด้านสัตว์ทะเล ลงไปประเมินสุขภาพทะเลในจุดที่พบพะยูนอพยพ และหาทางตรวจสุขภาพ รวมทั้งวางแผนถึงขั้นจะเสริมอาหารให้พะยูน เพราะจากการตรวจกระเพาะพะยูนไม่ได้กินแค่หญ้าทะเล แต่ยังกินสาหร่ายพวงองุ่น และเสริมหญ้าบางจุด รวมทั้งการทดลองปลูกสาหร่ายและผักชนิดอื่นๆเป็นแหล่งอาหารให้พะยูน 

ตัวเลขน่าเป็นห่วงมาก ไม่ได้นิ่งนอนใจ ถ้าพะยูนตายปีละ 20-30 ตัวไม่ทันกับอัตราการเกิดใหม่ ที่ต้องมี 12-17 ตัว ตามตัวเลขเฉลี่ยอัตราเกิด 

สอดคล้องกับนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า Global Warming kills them all หญ้าทะเลหายไปเป็นหมื่นๆ ไร่ พะยูนล้มตายดุจใบไม้ร่วง แค่ 22 เดือนตายไปแล้ว 70 ตัว 

ข้อมูลที่เพื่อนธรณ์ เห็นคือสถิติพะยูนตาย รวบรวมโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นกราฟที่ดูง่ายมาก แบ่งเป็น 2 ช่วง ภาวะปกติ (2548-2561) พะยูนตายเฉลี่ย 13 ตัวต่อปี จำนวนพะยูนเพิ่มขึ้นช้าๆ

จากนั้นคือภาวะโลกเดือด เกิดวิกฤตหญ้าทะเลตาย แบ่งเป็น 2 ย่อยปี 2562-2565 หญ้าใน จ.ตรังเริ่มลดลง พะยูนเริ่มตายมากกว่าค่าเฉลี่ย (20.25 ตัว)

หญ้าทะเลตาย

หญ้าทะเลตาย

หญ้าทะเลตาย

หญ้าทะเลตาย-พะยูนอพยพแต่ไร้อาหาร

ผู้เชี่ยวชาญเริ่มเป็นกังวล เพราะจำนวนตายมากกว่าอัตราเกิด หากไม่อยากให้จำนวนพะยูนลดลง ขีดจำกัดคือห้ามตายเกิน 17 ตัว แม้ที่ผ่านมาทำหลายอย่างลุล่วง เช่น แผนพะยูนแห่งชาติ ประกาศเขตอนุรักษ์ทางทะเลทั้งจังหวัดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ยกระดับการสำรวจวิจัยช่วยชีวิต ทั้งหมดมีส่วนช่วยประคับประคอง แต่โลกเดือดไม่หยุด รุนแรงหนักขึ้น หญ้าทะเลตายเป็นพื้นที่กว้าง ทั้งจังหวัดตรัง กระบี่ และสตูล ความตายยังเริ่มลามไปตามพื้นที่ใกล้เคียง

อ่านข่าว 5 วัน "พะยูน" ตาย 4 ตัว ตั้งวอร์รูมคุมเข้ม 11 จุด 3 จังหวัดอันดามัน

พะยูนกินหญ้าเป็นอาหารหลัก แม้กินอย่างอื่นได้บ้าง เช่น สาหร่าย แต่พะยูนไม่ได้ปรับตัวง่ายขนาดนั้น พะยูนส่วนหนึ่งยังสู้ตายอยู่ที่เดิม อีกส่วนอพยพจากตรัง ส่วนหนึ่งขึ้นเหนือไปกระบี่-ภูเก็ต อีกส่วนลงใต้ไปสตูล แต่จะไปไหน ความตายก็ติดตามไป วิกฤตหญ้าทะเลแผ่ขยายเป็นวงกว้าง

พะยูนที่ขึ้นเหนือไปสุดที่เกาะภูเก็ต อ่าวพังงา เลยไปเป็นชายฝั่งเปิดโล่งของท้ายเหมือง เขาหลัก ไม่มีหญ้าทะเลระหว่างทาง พะยูนไม่ชอบฝั่งที่มีคลื่นลมแรงแบบนั้น พะยูนลงใต้ไปสตูล สุดชายแดนคือมาเลเซีย แต่แหล่งหญ้าทะเลขาดช่วง อาจมีบ้างที่ข้ามพรมแดนไป แต่ก็คงเป็นส่วนน้อย

ชี้พะยูนตายมากกว่าปกติ 2 เท่า 

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง พบว่า พะยูนผอมลงอย่างเห็นได้ชัด หลายตัวป่วย จากนั้นก็จากไปบางส่วนที่หนีไปแหล่งใหม่ ไม่คุ้นเคยอะไรเลย คนในพื้นที่ก็ไม่คุ้นกับที่จู่ๆ มีพะยูนเพิ่มขึ้นกระทันหัน

ความตายจึงเกิดขึ้น เรือชน ติดเครื่องมือประมง ฯลฯ ขณะที่เราพยายามใช้มาตรการต่างๆ พูดคุย แจ้งเตือน ขอร้องแต่ทุกอย่างเร็วมากเมื่อเทียบกับความสามารถในการรับมือของเราในปัญหาใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นนรก ปี 2566 พะยูนตาย 40 ตัวปี 67 พะยูนตาย 30 ตัว ถึงวันที่ 23 ต.ค.

ยังเหลืออีก 2 เดือนเศษ ไม่รู้ว่าตัวเลขจะเป็นเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆ คือค่าเฉลี่ยตอนนี้สูงถึง 35 ตัวต่อปี มากเกิน 2 เท่าของภาวะปกติ 13 ตัวต่อปี  มากขึ้นกว่าช่วงแรกของโลกร้อนอย่างเห็นได้ชัด 20 ตัวต่อปีที่สำคัญ ตัวเลข 35 ตัวต่อปี มากกว่าขีดจำกัดพะยูนตาย 2 เท่า หรือ 17 ตัวต่อปี

อ่านข่าว ไทม์ไลน์ พะยูนตายปี 62 ทะเลกระบี่-ตรัง

ผลชันสูตรพะยูนตายที่ จ.สตูล 

ขณะที่ผลชันสูตรซากพะยูนตายที่ชายหาดบ้านบุโบย ต.แหลมสน อ.ละงู จ.สตูล เมื่อ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) พบเป็นพะยูนตัวเมีย ความยาวลำตัว 2.7 เมตร โตเต็มวัยความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ (BCS=3/5)

สภาพซากเน่ามาก ลักษณะภายนอกพบว่าผิวหนังลอกหลุด สภาพบวมอืด ส่วนของทางเดินอาหารทะลักออกมาภายนอกลำตัวบางส่วน เมื่อเปิดผ่าดูอวัยวะภายในพบว่าอวัยวะภายในส่วนใหญ่เน่าสลายไม่สามารถระบุรอยโรคได้

ส่วนของทางเดินอาหารพบอาหารจำพวกหญ้าทะเลอัดแน่นในกระเพาะอาหาร พบเส้นเอ็นความยาวประมาณ 70 ซม.ในกระเพาะอาหาร สาเหตุการตายไม่ทราบแน่ชัดเนื่องจากสภาพซากเน่ามาก ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและอาหารในกระเพาะเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง