ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"7 รัฐสมรภูมิ" ตัวแปรแห่งชัยชนะ ศึกใหญ่ชี้ชะตา "แฮร์ริส-ทรัมป์"

ต่างประเทศ
23 ต.ค. 67
15:17
1,537
Logo Thai PBS
"7 รัฐสมรภูมิ" ตัวแปรแห่งชัยชนะ ศึกใหญ่ชี้ชะตา "แฮร์ริส-ทรัมป์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 มีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน 240 ล้านคน แต่คะแนนจากรัฐสมรภูมิ จะเป็นตัวตัดสินผู้ชนะระหว่าง คามาลา แฮร์ริส และ โดนัลด์ ทรัมป์ โดยที่ชาวอเมริกันจะได้ประธานาธิบดีผ่านการเลือกคณะเลือกตั้ง ผู้ชนะต้องได้ 270 คะแนนขึ้นไปจาก 538 คะแนน

มีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 มีประมาณ 240 ล้านคน แต่มีแนวโน้มว่าจะมีประชากรส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินว่า "ใครจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป" นักวิเคราะห์การเลือกตั้งสหรัฐฯ เชื่อว่ามีเพียงไม่กี่รัฐที่เรียกว่า "รัฐสมรภูมิ หรือ Swing states" ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของชัยชนะระหว่าง คามาลา แฮร์ริส ตัวแทนพรรคเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน

ระบบเลือกตั้งของสหรัฐฯ ประชาชนไม่ได้เข้าคูหาแล้วกาชื่อ แฮร์ริส หรือ ทรัมป์ โดยตรง แต่ประชาชนจะลงคะแนนเสียงให้กับ "คณะเลือกตั้ง หรือ Electoral College" โดยที่รัฐแต่ละรัฐต้องส่งตัวแทนของแต่ละพรรคแข่งกัน ผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุดในรัฐนั้น ๆ จะถือเป็นคะแนนเก็บให้กับ "ผู้สมัครลงตำแหน่งประธานาธิบดี" 

จำนวนคะแนนเสียงของแต่ละรัฐจะถูกกำหนดด้วยจำนวนประชากร โดยมีทั้งหมด 538 คะแนนที่รอการชิงชัย และผู้ชนะคือผู้สมัครที่ได้รับคะแนน 270 คะแนนขึ้นไป 

รู้จัก "รัฐสมรภูมิ" 

รัฐสมรภูมิ หรือ Swing states คือ รัฐที่คาดเดาได้ยากว่าประชากรในรัฐส่วนใหญ่จะเทคะแนนเสียงให้พรรคใด ทำให้รัฐเหล่านี้เป็นเวทีสำคัญของการรณรงค์หาเสียง ผู้สมัครทั้ง 2 พรรคใหญ่ มักจะทุ่มทรัพยากรอย่างหนักเพื่อเก็บคะแนนเสียงในรัฐเหล่านี้ โดยผลการเลือกตั้งในรัฐสมรภูมิ มักเป็นตัวชี้ขาดว่า "ใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป" 

ในการเลือกตั้งปี 2020 มี 7 รัฐที่ผู้ชนะได้คะแนนเสียงทิ้งห่างกันไม่ถึงร้อยละ 3 

เพราะคะแนนเสียงที่ผันผวน ส่งผลให้การทำนายผลการเลือกตั้งเป็นเรื่องยาก เป็นข้อกังวลใจในทีมวางกลยุทธ์หาเสียงของแต่ละพรรค และการชนะในรัฐสมรภูมิเพียงไม่กี่รัฐ อาจส่งผลให้ผู้สมัครคนหนึ่งได้เป็นประธานาธิบดีเลยก็ได้

ในการเลือกตั้งปี 2020 มี 7 รัฐที่เป็นกุญแจสำคัญสู่เส้นทางทำเนียบขาว ได้แก่ รัฐแอริโซนา จอร์เจีย มิชิแกน เนวาดา นอร์ทแคโรไลนา เพนซิลเวเนีย และ วิสคอนซิน แต่ 7 รัฐที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้ถูกตั้งให้เป็น "รัฐสมรภูมิ" แต่แรกเริ่มอย่างใด การเลือกตั้งปี 2016 ไอโอวาและโอไฮโอ กลายเป็นรัฐสมรภูมิ ขณะที่การเลือกตั้งในปี 2012 ก็มีชื่อรัฐเล็ก ๆ อย่างนิวแฮมป์เชียร์ ที่ติดโผรายชื่อรัฐสมรภูมิได้

ปัจจัยหลักที่เป็นตัวกำหนดว่ารัฐใดจะเป็นรัฐสมรภูมิได้นั้น ขึ้นอยู่กับ จำนวนประชากรในรัฐที่มีแนวคิดทางการเมืองที่ต่างกันแต่อยู่ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ทีมวางแผนของผู้ลงสมัครคาดเดาได้ยาก ว่าควรส่งผู้สมัครคนใดเข้าชิงตำแหน่ง ผลการเลือกตั้งในอดีตที่ผันผวน รวมถึงสถานการณ์สำคัญ ๆ ในช่วงเวลานั้น ๆ  ก็เป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญเช่นกัน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม หรือการตอบสนองของรัฐบาลในนโยบายต่างประเทศ 

1.แอริโซนา (Arizona)

ในการเลือกตั้งปี 2020 โจ ไบเดน (เดโมแครต) ชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ (รีพับลิกัน) ไปด้วยคะแนนเพียง 10,000 คะแนน โดยคณะผู้เลือกตั้งได้คะแนน 11 จาก 538 คะแนน 

สิ่งที่น่าจับตาคือ แอริโซนา เป็นรัฐนี้ติดกับประเทศเม็กซิโก จึงกลายเป็นศูนย์กลางการถกเถียงเรื่องการย้ายถิ่นฐาน การข้ามพรมแดน "ทรัมป์" ยังให้คำมั่นที่จะดำเนินการ "การเนรเทศครั้งใหญ่ที่สุด" ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ หากเขาได้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ขณะที่ "แฮร์ริส" ไม่เห็นด้วย และเธอเองก็ได้รับหน้าที่แก้ปัญหาวิกฤตชายแดนในรัฐบาลไบเดน 

แอริโซนายังเป็นศูนย์กลางของการโต้เถียงเรื่อง การห้ามทำแท้ง โดยพรรครีพับลิกันพยายามเสนอนโยบายยกเลิกการเข้าถึงการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย 

2.มิชิแกน (Michigan)

ในการเลือกตั้งปี 2020 โจ ไบเดน (เดโมแครต) ชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ (รีพับลิกัน) ไปด้วยคะแนนเพียง 150,000 คะแนน โดยคณะผู้เลือกตั้งได้คะแนน 15 จาก 538 คะแนน

แม้ว่าชาวมิชิแกนส่วนใหญ่จะสนับสนุนไบเดน แต่ขณะนี้ รัฐนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านการสนับสนุนอิสราเอลของประธานาธิบดีในช่วงสงครามตะวันออกกลาง ในการเลือกตั้งขั้นต้นของประเทศเมื่อต้นปี มีผู้ลงคะแนนกว่า 100,000 คะแนน เลือกตัวเลือก "ยังไม่ตัดสินใจ" ในบัตรลงคะแนน ส่วนหนึ่งมาจากแคมเปญที่นักเคลื่อนไหวออกมาต่อต้านการช่วยเหลือทางการทหารของรัฐบาลแก่อิสราเอล 

ที่สำคัญ มิชิแกนมีสัดส่วนของชาวอาหรับ-อเมริกันมากที่สุดในประเทศ ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่ไม่สนับสนุนเดโมแครต แต่แฮร์ริสก็มีท่าทีเรื่องอิสราเอลที่ตึงเครียดขึ้น ในขณะที่ทรัมป์ ให้ความสำคัญของรัฐนี้โดยเรียกร้องให้อิสราเอลดำเนินการกับฮามาสให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

3.เนวาดา (Nevada) 

ในการเลือกตั้งปี 2020 โจ ไบเดน (เดโมแครต) ชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ (รีพับลิกัน) ไปด้วยคะแนนเพียง 34,000 คะแนน โดยคณะผู้เลือกตั้งได้คะแนน 6 จาก 538 คะแนน

รัฐเนวาดาลงคะแนนให้พรรคเดโมแครตในหลายการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่มีสัญญาณว่าปีนี้รีพับลิกันอาจพลิกเกมชนะได้ ผลสำรวจล่าสุดระบุว่าทรัมป์เคยมีคะแนนนำไบเดนอยู่มาก แต่ความได้เปรียบดังกล่าวลดลงตั้งแต่แฮร์ริส ขึ้นเป็นผู้สมัครเดโมแครต เป้าหมายทั้ง 2 ฝ่ายพยายามรวบรวมคะแนนเสียงจากกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวละติน-อเมริกัน

4.จอร์เจีย (Georgia)

ในการเลือกตั้งปี 2020 โจ ไบเดน (เดโมแครต) ชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ (รีพับลิกัน) ไปด้วยคะแนนเพียง 13,000 คะแนน โดยคณะผู้เลือกตั้งได้คะแนน 16 จาก 538 คะแนน

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 เมืองฟูลตันในจอร์เจีย เกิดคดีความที่ทรัมป์และพรรครีพับลิกัน ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานแทรกแซงการเลือกตั้ง ทรัมป์ปฏิเสธการกระทำผิด แต่เขาก็ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงไปแล้ว 1 คดี ส่วนที่เหลือยังอยู่ในกระบวนการ

1 ใน 3 ของประชากรในจอร์เจียเป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ซึ่งเป็นสัดส่วนของชาวผิวสีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเชื่อกันว่ากลุ่มประชากรนี้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ไบเดนคว้าคะแนนจากรัฐนี้ในปี 2020 แต่มีรายงานว่าในปีนี้ กลุ่มคะแนนเสียงหลักกลับผิดหวังในตัวไบเดน ต้องจับตาว่าการรณรงค์หาเสียงของแฮร์ริสจะกระตุ้นชาวแอฟริกัน-อเมริกันกลุ่มนี้ให้กลับมาเทคะแนนให้อีกได้หรือไม่ 

5.นอร์ทแคโรไลนา (North Carolina)

ในการเลือกตั้งปี 2020 โดนัลด์ ทรัมป์ (รีพับลิกัน) ชนะ โจ ไบเดน (เดโมแครต) ไปด้วยคะแนนเพียง 74,000 คะแนน โดยคณะผู้เลือกตั้งได้คะแนน 16 จาก 538 คะแนน

นอร์ทแคโรไลนา เป็นรัฐแรกที่ทรัมป์เลือกลงพื้นที่หาเสียงหลังเหตุการณ์ลอบยิงเขาเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา หลังผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าคะแนนนิยมในตัวทรัมป์และแฮร์ริสนั้น "สูสี" กัน ทรัมป์มักกล่าวว่ารัฐนี้ถือเป็นรัฐที่เขาให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ และเชื่อว่าจะคว้าชัยชนะจากรัฐนี้ได้สำเร็จ ในการเลือกตั้งครั้งก่อน ทรัมป์คว้าชัยด้วยคะแนนนำที่ไม่ห่างสักเท่าไหร่ ทำให้มีผู้เรียกรัฐนี้ว่า เป็นรัฐสีม่วง (สีแดงและสีน้ำเงินผสมกัน)

รัฐนอร์ทแคโรไลนาติดกับรัฐจอร์เจีย และมีประเด็นการเลือกตั้งสำคัญ ๆ หลายอย่าง เช่นเดียวกับแอริโซนา ซึ่งเป็น 1 ในรัฐซันเบลต์

รัฐซันเบลต์ "Sun Belt States" คือชื่อเรียกกลุ่มรัฐทางตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ที่มีภูมิอากาศร้อนหรืออบอุ่นตลอดปี รวมถึงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและประชากรสูงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐในกลุ่มนี้มีความสำคัญทางการเมือง เพราะมีประชากรจำนวนมากและเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี ส่งผลให้มีจำนวนคะแนนเสียงในคณะเลือกตั้ง (Electoral College) มากขึ้น รัฐเหล่านี้จึงกลายเป็น "รัฐสมรภูมิ" หรือ Swing States ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

6.เพนน์ซิลเวเนีย (Pennsylvania)

ในการเลือกตั้งปี 2020 โจ ไบเดน (เดโมแครต) ชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ (รีพับลิกัน) ไปด้วยคะแนนเพียง 82,000 คะแนน โดยคณะผู้เลือกตั้งได้คะแนน 19 จาก 538 คะแนน

ทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันต่างพยายามรณรงค์หาเสียงอย่างหนักในรัฐเพนซิลเวเนีย ที่ซึ่งทรัมป์รอดพ้นจากความพยายามลอบสังหารครั้งแรก เพนน์ซิลเวเนียมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งปี 2020 โดยสนับสนุนไบเดน บ่อยครั้งที่เขามักพูดถึงความเชื่อมโยงของเขากับเมือง Scranton ซึ่งเป็นเมืองชนชั้นแรงงานที่เขาเติบโตขึ้นมา

สภาพเศรษฐกิจถือเป็นปัญหาสำคัญของรัฐนี้ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงทั่วประเทศ ภายใต้การบริหารของไบเดน ชาวเพนน์ซิลเวเนียไม่ใช่อเมริกันกลุ่มเดียวที่รู้สึกกดดันเรื่องค่าครองชีพอันเป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อ แม้กระทั่งราคาอาหารตามร้านสะดวกซื้อในรัฐเพนน์ซิลเวเนียก็พุ่งสูงเร็วกว่าในรัฐอื่น ๆ ตามข้อมูลของ Datasembly ผู้ให้บริการข้อมูลการตลาด

ก่อนหน้านี้ BBC เคยรายงานกรณีประชาชนในเมืองอีรี ซึ่งเป็นเมืองหลักของรัฐเพนซิลเวเนียต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อดำรงชีวิต โดยมีคนมากถึง 1 ใน 8 คนที่ถูกมองว่า "ขาดแคลนอาหาร"

อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง อาจส่งผลกระทบต่อแฮร์ริส เนื่องจากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าเงินเฟ้อทำให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงมีมุมมองต่อเศรษฐกิจในเชิงลบ และแน่นอนว่าทรัมป์เองก็พยายามโจมตีเธอว่า แฮร์ริสยังผูกพันกับเศรษฐกิจของไบเดน

7.วิสคอนซิน (Wisconsin)

ในการเลือกตั้งปี 2020 โจ ไบเดน (เดโมแครต) ชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ (รีพับลิกัน) ไปด้วยคะแนนเพียง 21,000 คะแนน โดยคณะผู้เลือกตั้งได้คะแนน 10 จาก 538 คะแนน

ในการเลือกตั้งปี 2020 และ 2016 ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีชนะด้วยคะแนนห่างกันเพียง 20,000 กว่าคะแนนเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า คะแนนเสียงจากรัฐชายขอบถูกเฉลี่ยมากขึ้น เพราะประชาชนไม่ได้เทคะแนส่วนใหญ่ไปที่ทั้ง 2 พรรคใหญ่ บางครั้งผู้สมัครจากพรรคอื่นก็ได้คะแนนสนับสนุนไปเช่นกัน 

ผลสำรวจในปีนี้ระบุว่า คะแนนนิยมในตัวผู้สมัครอิสระอย่าง "โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์" อาจส่งผลเสียต่อคะแนนเสียงของแฮร์ริสหรือทรัมป์ และทว่าเคนเนดีได้ยุติการรณรงค์หาเสียงของเขาไปในช่วงปลายเดือนสิงหาคมและเลือกสนับสนุน "ทรัมป์"

ด้านพรรคเดโมแครต ก็กำลังต่อสู้เพื่อให้ "จิลล์ สไตน์" ผู้สมัครจากพรรคกรีนถูกถอดออกจากบัตรลงคะแนน โดยอ้างว่าพรรคต้นสังกัดของสไตน์ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายการเลือกตั้งของรัฐ และยังยื่นฟ้อง "คอร์เนล เวสต์" ซึ่งเป็นนักวิชาการแนวซ้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งอีกด้วย

ที่มา : BBC, USAFacts, USElection2024 

อ่านข่าวอื่น :

ผลโพล "แฮร์ริส" ขึ้นนำ "ทรัมป์" เลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว 18 ล้านคน

"แฮร์ริส" โชว์ผลตรวจสุขภาพ ชี้แข็งแรงดี พร้อมเป็น ปธน.สหรัฐฯ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง