ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สายพันธุ์นักล่า “ธุรกิจขายตรง” กลโกงกินรอบวงแชร์ลูกโซ่

เศรษฐกิจ
22 ต.ค. 67
16:30
738
Logo Thai PBS
สายพันธุ์นักล่า “ธุรกิจขายตรง” กลโกงกินรอบวงแชร์ลูกโซ่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เป็นที่รับรู้ในแวดวงนักธุรกิจขายตรงว่า คนวงในสายนี้มี 2 สายพันธุ์ คือ "สายพันธุ์นักล่า" และ "สายพันธุ์ออริจินัล" หรือที่เรียกกันว่า ขายตรงแบบดั้งเดิม โดยกลุ่มที่เป็นสายพันธุ์นักล่าเข้มข้นและเน้นหนักในเรื่องการ "วาดฝัน" โปรยผลประโยชน์ในรูปเม็ดเงินจำนวนมาก และพยายามให้เกิดการหมุนเวียนในระบบที่ค่อนข้างสูง ส่วนสายพันธุ์ขายตรงดั้งเดิม จะขายเท่า ที่คนจะซื้อกิน-ใช้ และมักถูกนักขายสายพันธุ์นักล่าดูแคลน ขายช้า -โตช้า เหนื่อย-ไม่รวย ทำเพียงขาย และสะสม เพื่อทำยอด

แต่สำหรับสายพันธุ์นักล่า เป้าหมายมีไว้พุ่งชน รวยเวอร์ -รวยเร็ว เล่นกับความโลภของมนุษย์เป็นหลัก ทำตัวอยู่บนยอดพีรามิด "กินรอบวง" และเป็น "เจ้ามือ" มีแต้มที่สูงจนสามารถชนะกินรวบได้ เฉกเช่นเดียวกับ "บอสพอล" นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้ต้องหาคดีดิไอคอน กรุ๊ป ผู้ต้องหาคนสำคัญ ในฐานะผู้ก่อตั้งดิไอคอนกรุ๊ป พ่วงอีก 3 บอสดารา คือ "แซม" ยุรนันท์ ภมรมนตรี, "กันต์" กันต์ กันตถาวร และ "มิน" พิชญา วัฒนามนตรี และบอสระดับตัวท้อปรวมทั้งหมด17 คน ก็ถึงจุดเกมส์โอเวอร์ หลังพบผู้ตกเป็นเหยื่อคดีนี้กว่า 6,000 คน มูลค่าทะลุ หลักพันล้านบาท ไปแล้ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

คดีนี้ ไม่ใช่มหากาพย์แชร์ลูกโซ่ เหมือนแชร์น้ำมัน "แม่ชม้อย ทิพโส"เหมือนในอดีต แต่การบอกความจริงไม่หมด ล่อลวงให้ร่วมทุน ไม่ว่าจะเป็นคดีแชร์น้ำมันหอมระเหย คดีแชร์ข้าวสาร คดีแชร์แชร์ฟอเร็กซ์ 3-D คดีแชร์ลูกโซ่ "ปั๊มน้ำมัน สตาร์ โบรกเกอร์ เซอร์วิส" และอีกสารพัดรูปแบบแชร์ รูปแบบและระบบอาจไม่ต่างกันมากนัก แต่การหลอกล่อจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจสังคม และเทคโนโลยี ซึ่งนับจากนี้ ประชาชนจะต้องตามให้ทัน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ และองค์กรอาชญากรรมประเภทดังกล่าว

ความต่าง “ธุรกิจขายตรง” vs “ตลาดแบบขายตรง”

พงศ์พสุ อุณาพรหม ตัวแทนอุปนายกสมาคมการขายตรงไทย ฝ่ายรัฐสัมพันธ์ ให้สัมภาษณ์กับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า เส้นแบ่งของธุรกิจขายตรง ที่ขาย "ผ่าน" ตัวแทน กับขาย "ให้" ตัวแทน มีความแตกต่างกัน คือ การขายผ่านตัวแทน หมายความว่า บริษัทผลิตสินค้า ซึ่งมีการจดทะเบียนเป็นธุรกิจขายตรง มีตัวแทนจำหน่ายที่ทำหน้าที่นำสินค้าไปนำเสนอขายให้กับผู้บริโภค เช่น ไปเคาะประตูบ้านขายแบบสมัยก่อน หรือนำเสนอสินค้า และเล่าให้ผู้บริโภคฟัง ซึ่งองค์ประกอบของธุรกิจขายตรงที่อยู่มายาวนาน มี 3 องค์ประกอบ คือ บริษัท ผู้จำหน่าย และ ผู้บริโภค โดยนักธุรกิจขายตรงจะขายสินค้าก่อน แล้วถึงมาเปิดบิลสั่งซื้อกับบริษัท ไม่ต้องสต็อกสินค้า และไม่มีภาระในการแบกสต็อก

พงศ์พสุ อุณาพรหม   ตัวแทนอุปนายกสมาคมการขายตรงไทย  ฝ่ายรัฐสัมพันธ์

พงศ์พสุ อุณาพรหม ตัวแทนอุปนายกสมาคมการขายตรงไทย ฝ่ายรัฐสัมพันธ์

พงศ์พสุ อุณาพรหม ตัวแทนอุปนายกสมาคมการขายตรงไทย ฝ่ายรัฐสัมพันธ์

ขายตรงจะมีรอบจำหน่าย เช่น หนึ่งเดือนมีรอบขาย 30-40วัน สมมุติ วันนี้ขายได้ 700 บาท อีกวันไม่ได้ขาย วันถัดไปขายได้ 300 บาท ถึงเวลาสิ้นเดือนรวมยอด ทำผลงานได้เท่าไหร่ หากถึงเกณฑ์บริษัทจะคำนวนเงินปันผลแล้วจ่ายคืนกับไปให้ในเดือนถัดไป ...การซื้อขายในธุรกิจขายตรง จะแนะนำสินค้าแบบปกติ คือ แนะนำให้ลูกค้าซื้อของเป็นชิ้น เช่น ซื้อยาสีฟัน 1หลอด เซรั่ม 1 ขวด หมดแล้วค่อยมาซื้อใหม่ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ความเสี่ยงก็ไม่เกิดขึ้น

แต่ในกรณีที่ บริษัทผลักภาระให้ผู้จำหน่าย โดยเอาส่วนลดมาเป็นตัวล่อ ก็จะมีปัญหาการล่มสต๊อก ขายสินค้าไม่ได้ โดยบริษัทและผู้ผลิตจะไม่รับผิดชอบในการคืนสินค้า ดังนั้นจึงมีกฎหมายขายตรง ตามพ.ร.บ.ขายตรง 2545 ระบุไว้ว่า บริษัทที่มีการจดทะเบียนธุรกิจขายตรงที่ถูกต้อง "ต้องคืนเงิน" ให้กับผู้จำหน่ายได้ ถ้าผู้จำหน่ายต้องการเลิกสัญญา

ดังนั้นหากนักลงทุนจะสมัครสมาชิก บริษัทขายตรงจะมีการเซ็นในเอกสารสัญญาระบุชัดเจน ในส่วนของผู้บริโภคหากซื้อสินค้าไปแล้ว ไม่พอใจสามารถคืนเงินภายใน 7 วัน และบริษัทสามารถหักค่าดำเนินบางส่วน ดังนั้นประชาชนจึงไม่ต้องกลัวการซื้อของบริษัทขายตรงที่ถูกกฎหมาย เนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครองอยู่

ในขณะที่ตลาดแบบขายตรง มี 3 องค์ประกอบเช่นกัน คือ บริษัท สื่อ และ ผู้บริโภค ต่างกันตรงที่ใช้ "สื่อ" มาเป็นตัวกลางในการสร้างภาพลักษณ์ เช่น นาย ก. จะขายเครื่องออกกำลังกายในทีวี ซึ่ง สื่อ คือ ทีวี ผู้บริโภค คือ คนที่อยากได้เครื่องออกกำลังกาย หรือ นาย ก. ต้องการทำน้ำพริกขายแบบขายตรง นาย ก. ทำน้ำพริกที่บ้าน ไลฟ์ขายผ่านเฟสบุ๊ค คือ สื่อ ผู้บริโภคก็ F มา เป็นต้น นี้คือรูปแบบ "ตลาดแบบขายตรง" ซึ่งกฎหมายไทยไม่ได้ระบุว่า ตลาดแบบตรงจะมีตัวแทนหรือต้องมีแผนการตลาด ดังนั้นความต่างของ "ขายตรง" คือ มี "ผู้จำหน่าย" ตลาดแบบตรง คือ มี "สื่อ"

กฎหมายเปิดช่อง “ดิไอคอน” ใช้รูโหว่แปรผัน “แชร์ลูกโซ่”

สำหรับคดีที่เกิดขึ้นกับบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป แม้จะมีการจดทะเบียนเป็นบริษัทตลาดแบบตรง ตามพ.ร.บ.ขายตรง 2545 แต่พบมีการใช้ช่องว่างของข้อกฎหมาย นำไปปรับเป็นการขายในลักษณะแชร์ลูกโซ่ จากลักษณะรูปแบบของพีรามิดที่บริษัทสร้างขึ้น โดยธุรกิจแบบพีรามิด ผู้ที่อยู่บนสุดจะต้องได้เงินของคนทั้งหมด แล้วคนข้างล่างพีรามิดจะต้องหาเงินมาจ่ายคนข้างบน

ในกรณีที่เป็นธุรกิจ "ขายตรง" การจะทำยอด 60,000 บาท ต้องเกิดจากการซื้อกิน-ใช้ การขายปลีก การชักชวนคนมาสมัคร แล้วมาเป็นทีมขาย แต่ถ้าเป็น "แชร์ลูกโซ่" เงิน 60,000 บาท คือ ต้องควักเงินจ่ายเอง เช่น นาย ก. ชวน คนมาลง60,000 บาท 10 คน ก็ได้เงินคืนและสินค้าไม่ต้องสนใจ เพราะรายได้มาจากการชวนคนมาลง 60,000 บาท ประเด็นนี้ คือ "ความต่าง" ดูเหมือน "คล้าย" แต่ไส้ในไม่เหมือน

พงศ์พสุ บอกว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการมักจะมีการนำระบบ ดรอปชิป (Dropship )มาใช้การขายสินค้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะระบบดรอปชิป เป็น การทำธุรกิจออนไลน์รูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า แต่การทําดรอปชิปเป็นการนำสินค้าของผู้อื่นมาขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยที่สามารถขายได้แบบไม่ต้องสต็อกสินค้า ไม่ต้องเสียเงินลงทุน ไม่ต้องส่งสินค้าให้กับลูกค้าเอง

แต่หากแชร์ลูกโซ่นำระบบดรอปชิปไปใช้ เช่น นาย ก. จ่ายเงินซื้อของไป 60,000 บาท แต่นายก.ไม่มากดสินค้าออกไป บริษัทบอกว่าถ้าขายได้แล้วค่อยกดส่ง มีคำถามว่า ทำไมบริษัทต้องเอาเงินนาย ก.ก่อน 60,000 บาท ถ้าบริษัททำแบบนี้บ่อยครั้ง นาย ก. รับเงินการจองสินค้าจากผู้จำหน่าย แต่สินค้าที่กดออกไม่สมดุลกับเงินที่รับเข้า เหมือนกับการขายให้คนมาจมสต็อก ขายของให้คนมาซื้อสต็อก แต่ไม่ได้ขายของให้คนบริโภคซื้อของใช้

เส้นที่เป็นจุดตัด ตลาดแบบตรง ไม่ควรมีแผนการตลาดที่ซ้อนเข้าไป ขายตรงที่ถูกกฎหมาย คือ ซื้อก่อน เปิดบิลที่หลังไม่ต้องจมสต็อก และขายของขายเป็นชิ้น ซื้อกินซื้อใช้แบบธรรมชาติ หมดแล้วซื้อ ความโอเวอร์โหลดจะไม่มี

เปิด "ทริค" หลอกลงทุน ให้ซื้อมากเกินจำเป็น

สำหรับคดีประเภทนี้ กฎหมายจะดูที่เจตนาเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า "กรรม" เป็นเครื่องชี้ "เจตนา" บริษัทขายตรงที่อยู่ในตลาดมานาน การขายแบบปกติ ซื้อกิน-ซื้อใช้ นักขายจะไม่กักตุนสินค้า เนื่องจากมีสาขาในต่างจังหวัด โดยบริษัทขายตรง จะทำหน้าที่สต็อกสินค้าให้ตัวแทน หรือผู้ประกอบการจะแบกรับภาระทั้งหมด แต่เมื่อใดก็ตาม ที่ผู้บริโภคถูกกระตุ้นให้ซื้อสินค้าครั้งละมาก ๆ คนแบกภาระ คือ ตัวแทน

ขอเตือนประชาชนที่อยากมีรายได้ ว่า ตัวแทนขายตรงจะขายสินค้าให้เป็นชิ้น หากต้องการทำธุรกิจขายตรง คำถามแรก คือ "ภาระนั้น" ใครเป็นคนแบก ถ้าคุณเป็นคนแบก คือ "เสี่ยง" แต่ถ้าบริษัทแบกรับภาระนั้น บริษัท "เสี่ยง" ให้ถามตัวเองว่าใคร? "เสี่ยง" ถ้าตัวเองแบกสต็อก เรา "เสี่ยง" แต่ถ้าบริษัทแบกสต็อก บริษัท "เสี่ยง" นี้คือจุดตัด ว่า "เงินในกระเป๋าเราใครเสี่ยงกว่าใคร"  เป็นจุดที่ต้องสังเกตหากอยากทำธุรกิจขายตรง

สำหรับประเทศไทยหากพูดภาษาชาวบ้าน คือ ทุกคนอยาก "รวย" ซึ่งไม่ผิด ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการหลงกล คือ การชักจูงโดยใช้ความ "รวย" มาเป็นตัวล่อ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการที่จะร่ำรวย จะใช้วิธีการใด โดยวิธีของแชร์ลูกโซ่ จะใช้ "ความอยากรวย" เป็นสารตั้งต้น แล้วใช้ "ระยะเวลา" เป็นตัวเร่งว่า

หากอยาก "รวย" ต้องสปริงบอร์ดอีกที ซึ่งแชร์ลูกโซ่จะใช้  "เงื่อนเวลา" ถ้ามา "รวย" แน่ แต่มาทำ "รวยเร็ว" พอรวยเร็วก็จะมีการเร้าให้คนมองเห็นวิธีการที่ ง่ายที่สุด คือ "ลงเงินเอง" และ "ชวนคนอื่นมาลง" ซึ่งจะสินค้ามีเป็นองค์ประกอบ แต่ไส้ในของการมีสินค้า คือการ "ชวนคน" ให้ลงทุนก่อน เพื่อคาดหวังจะได้ผลตอบแทนที่ "สูง" ดังนั้นโมเดลที่แชร์ลูกโซ่ ใช้ อยากได้เงินล้านในเวลาที่รวดเร็วต้องกล้าจ่ายในเวลาที่รวดเร็วเช่นกัน

พงศ์พสุ เล่าว่า ธุรกิจขายตรงที่ถูกกฎหมาย 80%จะเน้นเรื่องสินค้า 20% เน้นเรื่องยอดขาย ในขณะที่แชร์ลูกโซ่ 80 % จะพูดถึงรายได้ 20% พูดถึงสินค้า ซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่ประ ชาชนและคนที่สนใจต้องสังเกต โดยผู้ที่เจตนาไม่ดี มักจะเล่นกับความรู้สึก ความอยากได้อยากมีของมนุษย์

เช่น นาย ก.มีเงินก้อนสุดท้าย ได้รับการชักชวนให้นำเงินมาลงทุนครั้งเดียว โดยอ้างว่า เงินก้อนนี้จะเลี้ยงตัวได้ในอนาคต ซึ่งเป็นวิธีการขายแบบผิดกฎหมาย แต่ถ้าขายตรงแบบถูกกฎหมาย จะไม่เอาเงินเก็บของผู้ลงทุนออกมาแต่จะชวนให้มาลองมาทำธุรกิจ รายได้อาจจะไม่มาก แต่จะค่อยๆเพิ่มขึ้นตามความสามารถ ตามประสบการณ์

แชร์ลูกโซ่ จะเอาความรวยมาเป็นตัวตั้ง และความเร็วมาเสริม เอาภาพสำเร็จแบบมโหราฬ มาล่อให้คนมีฝันที่ยิ่งใหญ่ ในระยะเวลาที่ไม่ได้อยู่ในโลกของความจริง เป็น เทรคติก ที่ทำให้คนกล้าควักเงิน เป็นความซับซ้อน

กฎหมายไทย ปรับตัวไม่ทันยุคสมัยเปลี่ยนแปลง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยอยู่กับกลโกงแชร์ลูกโซ่มาทุกยุค ทุกครั้งที่เกิดคดีฉ้อโกงแชร์ลูกโซ่ เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำงานหนัก แม้จะมีกฎหมายบังคับใช้และเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องกับผู้ร่วมขบวนการ แต่โลกเปลี่ยนเร็ว รูปแบบการหลอกลวงมีการใช้เทคโนโลยี AI ดิจิทัลเข้ามาในวิถีชีวิต ทำให้คนถูกหลอกง่ายขึ้น บางคนอาจจะเชื่อตามโซเซียลหรือภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้น ต่างกับยุคก่อนที่ต้องพบผู้คนจริง ๆ

อย่างไรก็ตาม โลกดิจิทัลที่เปลี่ยนไปเร็วก็อาจจะมีผลต่อกฎหมายไทยเช่นกันซึ่งภาครัฐเองต้องพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยตามวิถีดิจิทัลที่เกิดขึ้น แม้ล่าสุดรัฐบาลจะได้ยกร่างพระราชกำหนดแก้ไขในหลายประเด็น เพื่อให้หน่วยงานสามารถเอาผิดถึงกลุ่มแม่ข่ายได้ เพราะกฎหมายปัจจุบันมีช่องโหว่และพิจารณาการเพิ่มโทษ ซึ่งบางจุดยังไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะคดีดิไอคอน ตัวเลขความเสียหายอยู่ที่ 1,600 ล้านบาทและอาจจะเพิ่มขึ้นหากมีคนแจ้งความดำเนินคดีเพิ่ม

พงศ์พสุ ยอมรับว่า คดีดีไอคอน ส่งผลต่อภาพลักษณ์คนขายตรงมากกลายเป็นว่า ธุรกิจที่มีการชวนคนเริ่มไม่น่าเชื่อถือ และส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่มีการชวนคน แต่การชวนคนไม่ได้น่ากลัวเท่ากับ ชวนมาทำอะไร และที่น่ากลัว คือ ชวนมาลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก ซึ่งประชาชนต้องพิจารณาว่า คนที่มาชวนลงทุน ชวนแบบไหน

เคยถามคนที่ถูกชวนให้ลงทุนว่า ใน100% เขาคุยเรื่องสินค้ากี่เปอร์เซ็นต์ และเรื่องเงินกี่เปอร์เซ็นต์ คำตอบ คือ ขายตรงจะคุยเรื่องสินค้า 80% ส่วนอีก 20%เรื่องเงิน และต้องไปดูต่อว่า อยากมีรายได้หรือไม่ ขณะที่แชร์ลูกโซ่ จะคุยเรื่องสินค้าเพียง 5-10 % ที่เหลืออีก 90 % คือ การลงทุน และมีผลตอบแทนเป็นหลัก

ท้ายที่สุดต้องยอมรับว่า ธุรกิจประเภทนี้ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย หลายคนบอกว่า คนพวกนี้โลภ ความจริงอาจะไม่ใช่ บางคนไม่มีงาน เขามีเงินก้อนสุดท้าย เขาก็อยากจะไปต่อยอดเพื่อดำรงชีพ และทุกคนก็หันหน้าไปออนไลน์ ทุกคนเห็นว่า เป็นเทรนด์ใหม่ของโลกกำลังมาบางคนไม่ได้หวังว่าจะมีรถหรู มีเงินเป็นสิบๆล้าน หวังเพียงมีเงินเลี้ยงตัวเองยามแก่ มีเงินปันผลกลับมาเดือนละ 10,000-20,000 หมื่นเท่านั้น พงศ์พสุ กล่าวทิ้งท้าย

 

 อ่านข่าว:

 "จุลพันธ์" รับมีแนวคิดแก้กฎหมายแชร์ลูกโซ่เอาผิดถึงแม่ข่าย

ญาติ 3 ผู้ต้องหาหญิงดิไอคอนเข้าเยี่ยมวันแรก "มิน" เริ่มปรับตัวได้

ยึดอีก 5 คันเรถหรูของกลาง "คดีดิไอคอน" สะสม 35 คัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง