มนุษย์อยู่อย่างไร ? เมื่อ AI กำลังจะ "ครองโลก"

Logo Thai PBS
มนุษย์อยู่อย่างไร ? เมื่อ AI กำลังจะ "ครองโลก"

เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ จากการประกาศรางวัลโนเบลปี 2024 สาขาฟิสิกส์ ผู้ได้รับรางวัล คือ จอห์น ฮอปฟิลด์ และเจฟฟรีย์ ฮินตัน ผู้วิจัยและพัฒนา AI ในการเป็นสมองเทียมให้แก่มนุษยชาติ จนเกิดการต่อยอดเป็น AI ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นในทุกวันนี้ โดยเฉพาะ ฮอปฟิลด์ที่ได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่ง AI”

แต่การได้รางวัลของคนทั้งสอง ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า อาจถึงคราวอวสานของฟิสิกส์แล้วจริง ๆ เพราะ AI ควรจัดหมวดหมู่อยู่ในคอมพิวเตอร์หรือวิทยา ศาสตร์ประยุกต์มากกว่าฟิสิกส์ และการให้รางวัลโนเบลในสาขานี้แก่บุคลากรด้าน AI ในแง่หนึ่งหมายถึง “ทุกอย่างล้วนหมุนรอบ AI” สร้างความกังวลต่อวงวิชาการวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง เพราะเป็นการมอบรางวัลข้ามสาขา

ซาบีน โฮสเซนเฟลเดอร์ นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อประเด็นนี้อย่างมาก

จริงอยู่ที่ AI ทำงานบนคอมพิวเตอร์ซึ่งประมวลผลด้วยไมโครชิป แต่นี่คือฟิสิกส์หรือ … ไม่ใช่ทุกอย่างในโลกจะเป็นฟิสิกส์ … การพัฒนาซอฟท์แวร์ไม่ใช่แน่ ๆ … การให้รางวัลแก่ผู้พัฒนา AI อาจจะทำให้ไม่มี ฟิสิกส์ที่แท้ทรู ได้รางวัลนี้อีกต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี เดวิด เบเกอร์ เป็นผู้ที่นำ AI มาช่วยเหลือในการสังเคราะห์โครงสร้างโปรตีนรูปแบบใหม่เพื่อประโยชน์ในวงการนาโนเทคโนโลยี หรืออุปกรณ์ตรวจจับขนาดเล็ก ทำให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า เขาสมควรแก่รางวัลโนเบลสาขาเคมี หรือไม่ ? เพราะผลงานของเขาไม่ได้เกิดจากการคิดค้นด้วยตนเองทั้งหมด

รางวัลโนเบลที่มอบให้นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และนักเคมี ที่เกี่ยวข้องกับ AI ทั้ง 2 รางวัล กำลังจะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ AI ในอนาคตที่จะ “ครอบงำ” มนุษยชาติไปทีละเล็กทีละน้อย ?

“มหันตภัย AI” เทคโนโลยีครอบงำมนุษย์

เป็นเรื่องตลกร้าย เมื่อ จอห์น ฮอปฟิลด์ บิดาผู้วิจัยและพัฒนา AI หนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 2024 ได้ออกโรงเตือนเรื่องการใช้งาน AI ว่า มีความอันตรายแฝงอยู่ โดยกล่าวในการประชุมที่มหาวิทยาลัย นิวเจอร์ซีย์ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ความว่า

หากคุณพิจารณาไปรอบ ๆ ผมเห็นตัวอย่างที่น้อยมาก ๆ สำหรับสิ่งที่ฉลาดสุด ๆ ได้รับการควบคุมโดยสิ่งที่โง่เง่ากว่า สิ่งนี้ทำให้คุณสงสัยแน่นอนว่า AI ที่ฉลาดกว่าเรามาก จะมาควบคุมเราหรือไม่

โดยฮอปฟิลด์กังวลอย่างมากในสิ่งที่ตนวิจัยและพัฒนาขึ้นมา เพราะได้สร้างสิ่งที่เราไม่มีทางเข้าใจได้อย่างแจ่มชัด แม้ในตัวเทคโนโลยีอาจจะมีการพัฒนาและฟังดูน่าตื่นเต้น แต่ในเมื่อเราตามไม่ทันฟังก์ชันการทำงานอย่างแท้จริงของ AI ก็แปรเปลี่ยนเป็นความน่ากลัวได้โดยง่าย

เป็นเหตุผลให้ผมต้องเตือนว่าความเข้าใจ [ในฟังก์ชั่นของ AI] เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด เป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากก้าวล้ำกว่าสิ่งที่คุณวาดฝันอยู่ ในขณะนี้เสียอีก

ฮอปฟิลด์ ย้ำถึงความฉลาดของ AI ที่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นจากทุก ๆ การใช้งานของมนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์นั้นจะใช้งานดีหรือเลว ผิดพลาดหรือถูกต้อง แต่ AI จะได้ผลประโยชน์อย่างเต็มที่ ผิดกับมนุษย์ที่แทบจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากการกระทำนี้

ผมเรียกร้องให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ๆ ทำงานในประเด็นความปลอดภัย AI เสมอ ไม่ก็ให้บริษัทใหญ่ ๆ ด้านเทคโนโลยีต้องเปิดเผยให้เห็นการทำงานในเบื้องลึกเบื้องหลังของสิ่งนี้ว่าเป็นอย่างไร

แม้บิดาแห่ง AI จะออกโรงเตือนถึงความอันตรายด้วยตนเอง แต่เสียงของเขาไม่ได้แพร่กระจายไปยังทั่วทุกมุมโลกเท่าที่ควร โดยมีเพียง “โลกตะวันตก” เท่านั้นที่เริ่มตระหนักในคำพูดของเขา เห็นได้จาก Visual Capitalism ที่ชี้ให้เห็นว่าทั่วโลกมี “ความกังวล” ด้านการใช้งาน AI อยู่ในอัตราร้อยละ 52 แม้จะน้อยกว่า “ความตื่นเต้น” ต่อการใช้งาน AI ที่ร้อยละ 54 แต่สัดส่วนนั้นใกล้เคียงกันมาก

ส่วนมากเป็นประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือที่มีความกังวลที่มากกว่าความตื่นเต้น อาทิ สหราชอาณาจักรที่มีมากถึงร้อยละ 65 ต่อความตื่นเต้นที่ร้อยละ 42 หรือสหรัฐฯ ที่มีมากถึงร้อยละ 63 ต่อความตื่นเต้นร้อยละ 36 หมายความว่า ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดหรือมีการวิจัยและพัฒนา AI มาช้านาน กลับมีความกังวลต่อการใช้งาน AI อย่างมาก

กลับกัน ประเทศไทยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา AI โดยตรง กลับมีระดับความตื่นเต้นต่อสิ่งนี้สูงมาก ที่อัตราร้อยละ 80 ต่อความกังวลที่อัตราร้อยละ 57 ซึ่งเป็นอัตราความตื่นเต้นต่อ AI ที่มากที่สุดในโลก และมีอัตราส่วนความตื่นเต้นที่มากกว่าความกังวลที่มากที่สุดในโลก หมายความว่า ประเทศไทยมอง AI ในลักษณะ “เชิงบวก” มากกว่าเชิงลบแบบที่โลกตะวันตกมอง

Statista จัดอันดับให้ประเทศไทยมีความไว้วางใจใน AI มากเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชีย ที่ร้อยละ 74 เป็นรองเพียงอินโดนีเซียที่ร้อยละ 78 โดยมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อัตราร้อยละ 54 อยู่ประมาณ 1.38 เท่า แต่เมื่อเทียบกับอัตราความตื่นเต้นต่อ AI ของอินโดนีเซียที่ร้อยละ 75 ซึ่งน้อยกว่าไทย หมายความว่า ไทยมีความตื่นเต้นและเชื่อใจ AI ในอัตราที่มากกว่าอินโดนีเซีย

ส่วนประเทศที่มีความก้ำกึ่งระหว่างการพัฒนา AI ได้ด้วยตนเอง และใช้งาน AI เพียงอย่างเดียว เช่น เกาหลีใต้ พบว่าพบว่ามีอัตราความไว้วางใจใน AI มากถึงร้อยละ 66 และอัตราความตื่นเต้นต่อ AI ร้อยละ 76 ส่วนอัตราความกังวลร้อยละ 44 ยิ่งตอกย้ำว่า จะต้องเป็นประเทศที่มีความคุ้นชินและทราบตื้นลึกหนาบางในกระบวนการทำงานของ AI แบบโลกตะวันตกเท่านั้น จึงจะเกิดการตั้งคำถามต่อความน่ากลัวของ AI ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

AI อาจทำ “ภาพยนตร์ Sci-fi” เกิดขึ้นจริง

จะเห็นได้ว่า แม้มนุษย์จะสร้าง AI ขึ้นมา แต่กลับคุมสิ่งที่ตนเองสร้างมาไม่อยู่ และกำลังจะกลายเป็นหอกแหลมกลับมาทิ่มแทงตนเองได้ในอนาคตอันใกล้จากการขาดความตระหนักมุ่งแต่จะใช้งาน AI เพียงอย่างเดียว

ความกังวลที่จะเกิดขึ้นตามมา อยู่ที่การให้ความสำคัญและให้ความไว้วางใจกับ AI ที่มากเกินไป อาจนำมาสู่ผลเสียในอนาคตอันใกล้ อย่างที่เห็นกันในภาพยนตร์แนว “Sci-fi” จากโลกตะวันตกอยู่บ่อยครั้ง

โดยเรื่องแรกที่มีการบันทึกว่าเป็นภาพยนตร์ที่กล่าวถึง AI นั่นคือ “Metropolis” หรือ “เมืองล่าหุ่นยนต์” ในปี 1927 ว่าด้วยโลกที่แบ่งแยกระหว่างชนชั้นปกครองและชนชั้นแรงงาน โดยมีหุ่นยนต์นามว่ามาเรีย ที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นมาเพื่อควบคุมชนชั้นแรงงาน เกิดต้องการล้างบางทั้งสองชนชั้นขึ้นมา สะท้อนให้เห็นว่า หุ่นยนต์ที่มีสติปัญญานั้นไร้ความปราณีต่อผู้ที่สร้างมาอย่างมาก และไม่สนใจว่าจะเป็นใครหน้าไหน หากจะล้างบางก็คือล้างบางเลย

หรืออย่างภาพยนตร์ที่เป็น Box Office ที่เราคุ้นตาเป็นอย่างดี เรื่อง Terminator หรือ “คนเหล็ก” ที่เนื้อหาว่าด้วย Skynet ปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับการพัฒนาโดยมนุษย์จนฉลาดมากพอที่จะรับรู้ถึงการมีอยู่ของตนเอง ทำให้เกิดความคิดที่ว่าการมีอยู่ของมนุษยชาติเป็นอันตรายต่อตนเอง ส่งผลให้เกิดการล้างบางขนานใหญ่ ก็สะท้อนให้เห็นว่า หุ่นยนต์นั้น หากคิดเองได้ และพิจารณาว่ามนุษย์เป็นศัตรู ย่อมหมายความว่าไม่มีทางใดเลยที่เราจะคุมได้อยู่มือ

หรือในวงการเกม ก็มี Detroit: Become Human ที่บอกเล่าเรื่องราวของการสร้างหุ่นแอนดรอยด์ปัญญาประดิษฐ์ให้เข้ามาทำงานหรือแบ่งเบาภาระของมนุษย์ แต่เมื่อพัฒนาจนฉลาดมากขึ้น กลับมาเป็นหอกข้างแคร่ในการล้างเผ่าพันธ์ุมนุษย์ให้สิ้นไป

ที่มา: PlayStation

ที่มา: PlayStation

ที่มา: PlayStation

AI ไม่ใช่ผู้ชี้นำ แต่เป็นฐานะ “ผู้ช่วย”

การใช้ AI เป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ตามยุคสมัยของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนถึงขีดสุด ดังนั้น คำถามที่ตามมา คือ เราจะมีวิธีการใช้งาน อย่างไร จึงจะป้องปรามไม่ให้เกิดหายนะแบบที่ภาพยนตร์ Sci-fi นำเสนอ

งานเสวนา Chula Lunch Talk : GenAI x งานวิจัย: 1 ปี ที่เปลี่ยนไป! ความท้าทายใหม่ ที่นักวิจัยต้องรู้ โดยมี รศ.ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาฯ เป็นวิทยากร ชี้ให้เห็นความกังวลต่อการใช้ AI ในโลกวิชาการ ซึ่งมีการพัฒนาอย่างมากโดยเฉพาะ “การหลบหลีก” การตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิว่างานวิจัยนั้น ๆ ใช้ AI เข้ามาช่วยเขียนหรือไม่

ผู้ทรงฯ ต้องทำงานหนักมาก เพราะไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้วิจัยใช้ AI มาช่วยเขียนหรือไม่ … บางทีมีการใช้ AI ช่วยเขียนและส่งตีพิมพ์ เผื่อฟลุก และก็ได้ตีพิมพ์จริง ๆ … ความรู้ของ AI มากกว่าความรู้ของผู้ทรงฯ

ดังนั้น วิธีการแก้ไขปัญหาจึงอยู่ที่ผู้ทรงฯ ต้องรู้ลึก รู้จริง ในประเด็นหรือหัวข้อนั้น ๆ เพราะ AI แม้จะมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น แต่ยังไม่ได้ดีขนาดที่ว่าจะเล็ดรอดสายตาของผู้ที่เชี่ยวชาญในสิ่งนั้นจริง ๆ ดังนั้น จึงต้องมีทักษะในการอ่านที่ดี จับใจความให้เป็น และที่สำคัญ ควรใช้ AI ในฐานะ “ผู้ช่วยวิจัย” มากกว่าที่จะให้ทำงานแทนเราทั้งหมด

เราต้องทำงานด้วยตนเอง ใช้ AI เป็น Assistance คล้ายกับการมีผู้ช่วยวิจัย เป็นตัวช่วยเฉย ๆ ห้ามมาทำแทนเรา … ควรใช้ AI เพื่อทำให้เราเก่งขึ้น หากให้มาทำงานแทนเรา เราจะไร้ค่าไร้ความหมาย … เราใช้ AI เพื่อตัวเรา อย่ามาแทนเรา ไม่อย่างนั้นจะไม่มีอะไรให้ทำ คุณค่าของเราจะหมดไป

พร้อมทั้งยกตัวอย่างภาพยนตร์ Ironman ว่า JARVIS ก็เหมือน AI ที่เราทุกคนมี แต่โทนี่ สตาร์ค สามารถที่จะ Prompt หรือป้อนคำสั่งให้ JARVIS สร้างสิ่งแปลก ๆ ได้ ทำให้เขาไม่เพียงใช้งานเป็น แต่ต้องใช้อย่างชำนาญที่สุด ดังนั้น การเลือกใช้งาน AI ให้เป็นจึงสำคัญอย่างมาก ต้องมีทักษะทำงานกับ AI ต้องพัฒนาการเขียน Prompt ต้องประเมินให้ได้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำในการใช้งาน AI

เมื่อหันกลับมามองที่สังคมทั่วไป สิ่งสำคัญที่ควรตระหนัก นั่นคือ จะทำอย่างไรให้ควบคุม AI ให้อยู่ในฐานะผู้ช่วยอำนวยความสะดวกของมนุษย์ แน่นอน AI จะฉลาดขึ้นในทุก ๆ วัน และมนุษย์อาจจะไม่มีทางฉลาดเท่าในชั่วชีวิตนี้ กระนั้น ทางเลือกเดียวที่พอจะเป็นไปได้ที่จะเป็น “เจ้านาย” AI คือการเรียนรู้ที่จะหาวิธีการใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด มากกว่าที่จะกังวลถึงหายนะ

ที่มา: YouTube, Cybernews, Statista, Visual Capitalism, Picktory, Chula Lunch Talk : GenAI x งานวิจัย: 1 ปี ที่เปลี่ยนไป! ความท้าทายใหม่ ที่นักวิจัยต้องรู้

อ่านข่าว

นับถอยหลังชม "ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส" โคจรใกล้โลกอีกครั้ง 80,660 ปี

ไทย “สมาชิกบริกส์” เต็มตัว รักษาดุลขั้วอำนาจสหรัฐอเมริกา-จีน

คาด 3-4 วันมีคำตอบ "ไร่เชิญตะวัน" รุกป่า ขอใช้พื้นที่ 143 ไร่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง