หลายคนหากเป็นคนอายุช่วง 35 ปีขึ้นไป อาจรู้จักเกมเศรษฐี เกมทอยลูกเต๋าและเดินบนกระดานกระดาษ 4 เหลี่ยม แบ่งช่องพร้อมมีชื่อสถานที่และจังหวัดระบุไว้ โดยให้ผู้เล่นสามารถใช้เงินที่ได้รับแจกจำนวนหนึ่งเลือกซื้อที่ดินและเก็บค่าเช่า จนสามารถกว้านซื้อที่ดินและผู้ที่มีเงินมากจะชนะไป ซึ่งเป็นเกมที่ในวงสังสรรค์มักจะรู้จักมักคุ้นและสร้างความสนุกและเสียงหัวเราะได้เป็นอย่างดี
เกมเศรษฐี ก็ถูกนับว่าเป็น “บอร์ดเกม” ประเภทหนึ่งในอีกหลายร้อยหลายพันเกมที่ ณ ปัจจุบันถือว่า มีความหลากหลายและพัฒนาความสนุกมา่กขึ้น ที่สามารถเลือกได้ว่า ในบอร์ดเกมที่มีอยู่นี่จะมีเกมที่ผู้เล่นทุกคนชื่นชอบอย่างแน่นอน และในไทยก็มีกลุ่มผู้เล่นจำนวนมาก และกำลังอยู่ในกระแสของซอฟต์พาวเวอร์ของไทย
“วัฒนชัย ตรีเดชา” นายกสมาคมบอร์ดเกมประเทศไทย Thailand Board Game Association หรือ “พี่วัฒน์” มาบอกเล่าให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ ได้รับรู้ถึงโลกของบอร์ดเกมให้ได้รู้จัก และการก้าวไปสู่การพัฒนาวงการบอร์ดเกมไทยสู่ระดับโลก เพราะ “บอร์ดเกม” เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย ให้โลกได้รู้จัก
สถานการณ์แวดวงบอร์ดเกมไทย ขณะนี้เป็นอย่างไร
วัฒนชัย : ก่อนหน้าการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ตลาดบอร์ดเกมบ้านเราค่อนข้างคึกคัก แต่เมื่อเผชิญปัญหาโควิด-19 ทำให้สถานที่ที่คนไปใช้บริการก็ต้องปิด ร้านบอร์ดเกมจึงปิดตัวเยอะมาก ขณะนี้จึงอยู่ในระดับที่กำลังไต่กลับขึ้นไปใหม่
ช่วงแรกการเติบโตเป็นการซื้อลิขสิทธิ์บอร์ดเกมจากต่างประเทศมาเผยแพร่ให้ผู้เล่นชาวไทยได้เล่น ขณะที่บอร์ดเกมที่ผลิตโดยคนไทยจะอยู่ที่ราว 5-10 % โดยเกมช่วงแรกที่นิยมจะเป็นเกมจากต่างประเทศที่แปลมา แต่ขณะนี้สัดส่วนบอร์ดเกมไทยมีมากขึ้น อาจอยู่ที่ราว 20 %
ภาพรวมวงการบอร์ดเกมความนิยมก็กำลังไต่อยู่แต่ถ้าเทียบกับสิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ไทยตามหลังอยู่นิดหน่อย เพราะเขาแข็งแรงและเล่นกันมาก่อนเราพอสมควร ขณะที่ฝั่งยุโรปเราตามหลังค่อนข้างนาน เพราะเขาเริ่มก่อนเรามานาน แต่ก็ถือว่าในไทยเป็นไปในทิศทางที่ดี
ความนิยมของบอร์ดเกมที่เพิ่มขึ้นในไทยมาจากไหน
วัฒนชัย : ส่วนหนึ่งคนอาจเริ่มรู้สึกว่าอยากมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันมากขึ้น หลังจากช่วงหนี่งที่อะไรก็ออนไลน์ไปหมด ก็โหยหาการพูดคุยกับมนุษย์ อยากเจอมนุษย์ และการไปแฮงค์เอาต์กัน บางคนอยากไปร่วมแต่ไม่อยากดื่มเหล้า ดังนั้นจะมีกิจกรรมอะไรที่สามารถทำร่วมกันได้ อยู่กับคนได้โดยทุกคน โดยสามารถมาร่วมกันได้ทั้งครอบครัว เพื่อน หรืออะไรก็ตาม บอร์ดเกมก็เป็นหนึ่งนั้น
รวมถึง เหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์เริ่มมาสนใจและนำบอร์ดเกมมาทำกิจกรรม ทำคอนเทนต์ ทำให้เกิดกระแส คนดูทั่วไปรู้สึกว่าบอร์ดเกมมันสนุก น่าเล่น และตามไปซื้อบอร์ดเกมเพื่อนำมาเล่นกันมากขึ้นทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้น
ขณะนี้ คนเล่นบอร์ดเกมเยอะมากแค่ไหน
วัฒนชัย : เฉพาะคนที่แสดงตัว ตัวเลขจากจากกลุ่มบอร์ดเกมในเฟซบุ๊กก็มีประมาณ 10,000 กว่าคน แต่เชื่อว่า คนเล่นจะมากกว่า 10-20 เท่า หรืออย่างน้อยจะมีผู้รู้จักบอร์ดเกมหรือเคยเล่นมากกว่า 1 ครั้ง หรือตัวเลข 1 ล้านคน ก็เป็นไปได้นะ และยังเชื่อว่าจะยังสามารถเติบโตได้อีกเยอะ
ช่วงอายุเท่าไหร่ที่นิยมเล่นบอร์ดเกม
วัฒนชัย : ผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มวัยรุ่นและนักศึกษาจบใหม่ อายุ 18-25 กับช่วงอายุ 28-35 ปี แต่ระดับครอบครัวก็ไม่น้อยเพราะเป็นกิจกรรมที่พ่อแม่นำไปเล่นกับครอบครัว รวมถึงผู้ที่มีอายุ 40 ขึ้นไปที่ต้องการจะใช้เวลาในการสังสรรค์กับเพื่อน ซึ่งเนื้อหามีทั้งเกมที่ง่าย ๆ ไปจนถึงเกมที่หนักหนา และได้ประโยชน์ด้วย
บอร์ดเกมมีประโยชน์อย่างไร ช่วยอะไรได้บ้าง
วัฒนชัย : บอร์ดเกมมันเป็นการวัสดุที่ต้องจับต้อง ต้องมีสมาธิ ต้องสนใจ ต้องอยู่กับคน เพราะบางเกมไม่ได้มองกระดานเท่านั้น แต่บางเกมต้องมองหน้าเพื่อน เพราะต้องไม่หลุดโฟกัส และเวลาตั้งแต่ 15 - 40 นาทีที่อยู่ร่วมกันเป็นช่วงเวลาที่ต้องอยู่กับเกมจริง ๆ ซึ่งก็จะลืมเวลาไปจริง ๆ นะ หากคนต้องการอินกับเกมจริงๆ หรือต้องการเอาชนะจริงๆ ก็จะลืมมือถือไปได้เลย เพราะมันสนุกอยู่กับเกมตรงนั้น
อีกส่วนคือ บางครั้งก่อนหน้านี้การอยู่กับเพื่อนหลายคน แต่ละคนก็นั่งกดมือถือ อยู่ด้วยกันแต่นั่งดูมือถือแต่เมื่อมีของหรืออุปกรณ์ทำให้คนมาทำกิจกรรมร่วมกันจึงทำให้สนุก คนจึงเลือกนำบอร์ดเกมมาเล่นด้วยกันมากขึ้น
ช่วงเวลาของการเล่นบอร์ดเกมถือว่าเป็น เวลาคุณภาพ เวลามันเท่ากัน 30-40 นาที แต่คุณภาพของเวลาในช่วงนั้นมันเปลี่ยน ไป มันมีคุณภาพ การใช้ความรู้สึก เป็นการอยู่ร่วมกัน
เล่นในครอบครัวยิ่งดีใช่มั้ย
วัฒนชัย : ก่อนหน้านี้ จะเห็นว่า บางกิจกรรมพ่อแม่อาจโยนมือถือให้ลูกเล่น แปลว่า ลูกจะได้อยู่กับสิ่งนั้นแต่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่บอร์ดเกม บางเกมไม่สามารถเล่นได้ด้วยตัวคนเดียว ซึ่งบอร์ดเกมมีเกมที่สามารถเล่นได้ทั้ง 1 คน หรือ 2-3 คน หรือไปจนถึง 70-80 คน
ส่วนใหญ่ เกมครอบครัวจะออกแบบให้เล่นได้ 3-4 คน เพื่อให้คนในครอบครัวสามารถใช้เวลาด้วยกัน
โดยมีการแอบสอนความคิดต่าง ๆ ในระหว่างการเล่น เช่น คนเราต้องสามารถแพ้ได้ ไม่สามารถชนะได้ตลอดเวลา จะช่วยให้ลูกได้รู้จักการแพ้-ชนะ ว่า เมื่อแพ้จะรู้สึกแบบนี้ ชนะจะรู้สึกแบบนี้ พ่อแม่ก็จะสามารถสอนได้ หรือพ่ออาจยอมอ่อนให้ลูกชนะบ้าง เพราะให้ลูกรู้สึกว่าเมื่อชนะมันรู้สึกอย่างนี้นี่เอง และครั้งหน้าหากต้องการที่จะชนะจะต้องทำอย่างไร นอกจากนี้บอร์ดเกมยังประหยัดเงิน เพราะเกมนี้ซื้อครั้งเดียวเล่นได้หลายครั้ง โดยไม่ต้องออกไปข้างนอก ไปห้างสรรพสินค้า
ถ้าเราอยากที่จะอยู่กับเขา อยากใช้เวลากับเขาสอนเขาได้ บอร์ดเกมเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยได้
ผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมากแค่ไหน
วัฒนชัย : ผู้เล่นหน้าใหม่จะเข้ามาเยอะขึ้น หลายเกมก็เป็นเกมที่เหมาะกับคนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ เพราะมักจะเข้ามาจาก การเล่นเกมที่ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน จากนั้นจะอยากเล่นเกมที่มีความท้าทายมากขึ้น ยากขึ้น จำนวนคนน้อยลง ซึ่งช่วงแรกอาจเล่นเกมที่เล่น 8-9 คน ต่อมาก็เล่นเกม ที่มีคนน้อยลง เหลือ 4-5 คนก็ขยับไปเกมที่ยากขึ้น และซับซ้อนมากขึ้น
อายุของผู้เล่นจะเขียนไว้ข้างกล่องเลย 1 -99 ปี เล่นได้ในทุกช่วงอายุ
การพัฒนาพัฒนาบอร์ดเกมไทยมีทิศทางอย่างไร
วัฒนชัย : 3-4 ปี ก่อนหน้านี้ผู้จัดจำหน่าย (Distributor) คนไทยนำเกมมาขายในไทย ไม่เยอะเท่าทุกวันนี้ โดยทุกวันนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น มีดีไซเนอร์เพิ่มขึ้น ในแวดวงธุรกิจบอร์ดเกมขยายตัวไปในทุกมิติ ทั้งคนคิด คนผลิต คนขาย คนทำ มีครบ ขาดเพียง โปรดักชันใหม่ ๆ เช่นโรงพิมพ์ เพราะประเทศไทยยังไม่มีความรู้ขนาดนั้น
ขั้นตอนการพัฒนาบอร์ดเกมยากแค่ไหน
วัฒนชัย : เหมือนทำเพลง ทำหนัง บางครั้งเพลง บางครั้งมาจากการขับรถแล้วเมโลดี้โผล่มาให้หัว ก็จำเมโลดี้แล้วค่อยหาเนื้อมาใส่ บอร์ดเกมก็เช่นกัน บางทีคิดว่า เราได้วิธีเล่นมาคร่าว ๆ เช่น ถ้าเอาการ์ดใบหนึ่งลงไปแล้ว คนต่อไปหยิบการ์ดมาดูจะน่าสนุก จากนั้นก็ไปใส่เรื่องราว ธีมลงไป เช่น ตำรวจสืบจับโจร หรืออื่น ๆ
โดยอาจเริ่มจาก วิธีการเล่นหรือจากธีมก่อน เริ่มจากจุดไหนก็ได้ เช่น จะทำธีมเกี่ยวกับหนังสือค่อยไปหาวิธีการเล่น ไปจนถึงภาพประกอบ คาแรกเตอร์ดีไซน์ ก็จะตามมา และตามด้วยการทดสอบ ทำต้นแบบมาทดลองเล่นจนกว่าจะเสถียร จากนั้นจึงเป็นการตลาด จนกว่าจะออกขาย ส่งผลิต ผลิตที่ไทยในไทยหรือต่างประเทศ เกมหนึ่งก็ใช้เวลาราว 3-4 เดือน
วัฒนชัย ตรีเดชา นายกสมาคมบอร์ดเกมประเทศไทย Thailand Board Game Association หรือ พี่วัฒน์
จุดยากที่สุด ในการพัฒนาบอร์ดเกม อยู่ตรงไหน
วัฒนชัย : ธีมและวิธีการเล่นจะต้องไปด้วยกัน ต้องมีส่วนผสมที่ลงตัว สัดส่วนอาจอยู่ที่ วิธีการเล่นนำอยู่พอสมควรราว 60 % และธีมที่เหมาะสมก็จะทำให้เกมอิ่มขึ้น สนุกขึ้น
โดยผู้ผลิตต่างก็จะมีสไตล์ของตัวเอง แต่ละคนมีเทคนิก และวิธีการนำเสนอเกมที่แตกต่างกันไป บอร์ดเกม เช่น เกมของผมก็จะเป็นเกมง่าย ๆ คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย เพราะคิดก่อนว่าอยากให้ใครเล่น เราเองอยากให้คนหน้าใหม่เล่น คนไม่เคยเล่นมาก่อนสามารถเล่นได้ โดยต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายก่อน ส่วนวิธีการเล่น และธีมก็จะมาตามนี้
ภาครัฐสนับสนุนอย่างไร กับการเป็นซอฟต์พาวเวอร์
วัฒนชัย : ล่าสุด คือ การสนับสนุนค่าเช่าพื้นที่ ในงาน Spiel 2024 งานบอร์ดเกมที่ประเทศเยอรมนีที่ใหญ่มาก มีผู้ชมงานกว่า 3 แสนคน ซึ่งมีค่าเช่าพื้นที่ ค่าตกแต่งบูธ ซึ่งแพงมาก การที่ภาครัฐเข้ามาสนับสนุน มาช่วยตรงนี้ก็ทำให้โอกาสที่ไปแล้วไม่ขาดทุน ลดความเสี่ยงได้เยอะ
ซึ่งก็ยังคงมีความเสี่ยงเพราะถ้าไม่เสี่ยงก็ไม่มีผลตอบแทน ก่อนหน้านี้เคยไปแบบไม่มีคนช่วยเลยซึ่งก็เสี่ยงเต็ม ๆ เพราะต้องพยายามขายให้มันได้ ขายให้ครอบคลุมค่าตั๋ว ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเช่า แต่ครั้งนี้เมื่อมีผู้สนับสนุนทำให้มีเวลาในการมองหาโอกาสใหม่ ๆ ซึ่งบอร์ดเกมที่นำไปก็สามารถขายได้หมด
ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตบอร์ดเกมสัญชาติไทยกระจายกันไปซึ่งทำให้ไม่เห็นภาพว่า เกิดอะไรขึ้น แต่ปีนี้ รวมตัวกันได้ เพราะรัฐสนับสนุน จึงทำให้เกิด Thailand Pavilion เมื่อมารวมกันคนเดินผ่านไปมาก็พบว่ามีบอร์ดเกมไทย
ภาพ : สมาคมบอร์ดเกมประเทศไทย Thailand Board Game Association
เมื่อชาวต่างชาติแวะเข้ามาดูเกมหนึ่งก็จะไปดูเกมอื่น ๆ โดยไปทั้งหมด 9 บริษัท และเมื่อเห็นว่า จากการที่มีชื่อว่าไทยแลนด์ครอบอยู่ คนต่างชาติก็จะเห็นว่า เกมไทยจะประมาณนี้
ส่วนใหญ่เกมไทยที่ไปออกงาน ค่อนข้างบอกว่า คนไทยเป็นสายปาร์ตี้ สนุกสนาน เพราะหากเทียบ 80 % ของบอร์ดเกมไทยจะเป็นสายปาร์ตี้เฮฮา เกมที่ต่างชาติสนใจก็จะเป็นแนวนี้ เล่นแล้วมีการเฮระหว่างเล่น แต่ต้องทำงานอีกเยอะว่า บอร์ดเกมไทย จะเป็นแบบไหน
การที่ภาครัฐสนับสนุนมันจะเป็นแบบนี้ช่วยให้คนไทยได้ไปงานใหญ่แบบนี้ ปีหน้าก็จะสามารถวางแผนได้ว่าจะเป็นแบบใด และหากไปต่อเนื่อง คำว่า บอร์ดเกมไทยจะชัดขึ้น จะเห็นภาพรวมของไทยและเข้าใจบอร์ดเกมไทยได้มากขึ้น เพราะนี่เพิ่งไปรวมกันได้ปีเดียวยังอธิบายอะไรไม่ได้มาก หากเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น เช่นญี่ปุ่นมาทุกปีติดต่อกันทุกปี เป็น 10 ปี หรือเยอรมันที่วางรากฐานมานานมากแล้ว อย่างเราก็ต้องใช้เวลาเพราะเพิ่งเริ่ม
ที่มา : marketeer Online
การพัฒนาบอร์ดเกมยากแค่ไหนเพื่อให้เข้ากับซอฟต์พาวเวอร์
วัฒนชัย : ไม่ได้ยากขนาดนั้น การนำธีมมาใส่ไม่ได้ยาก แต่การเอาธีมมาทำให้สนุกร่วมกับวิธีการเล่น อันนี้จะยาก ซึ่งบางครั้งดูซอฟต์พาวเวอร์มากแต่ไม่สนุก ไม่ว่าอะไรก็ตามแต่ ผู้เล่นจะต้องรู้สึกดีกับการเล่น เดี๋ยวสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเนื้อหาจะออกมาเอง คนก็อยากจะรู้จักเอง เช่น อาหารไทย มีอะไรบ้าง เป็นแบบนนี้เอง
เกมที่มีซอฟต์พาวเวอร์จ๋า ๆ แต่ถ้าเล่นแล้วไม่สนุก ก็ไม่อยากรู้ต่อแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีไซเนอร์ คนทำต้องบาลานซ์ให้ดี ระหว่างซอฟต์พาวเวอร์กับเกมที่สมบูรณ์
ขณะนี้ แต่ละคนมองซอฟต์พาวเวอร์ต่างกัน ผมมองว่าเป็นความรู้สึกของคน วิถีชีวิต เป็นอะไรที่มันเคลือบอยู่ในสังคมที่มองมาแล้วไม่รู้ หรืออาจไม่ได้มองเห็นด้วยตาก็ได้ เช่น อาจไม่ใช่วัดไทยซะทีเดียว แต่เป็นวิถีชีวิตที่ซ่อนอยู่เช่นหวยไทย มุกตลกไทย อันนี้ผมมองว่ามันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เช่น การท่องเที่ยว
ภาพ : สมาคมบอร์ดเกมประเทศไทย Thailand Board Game Association
แข่งออกแบบบอร์ดเกมไทยจาก 4 แลนด์มาร์ก
วัฒนชัย : ขณะนี้ก็จัดการประกวดออกแบบบอร์ดเกม Thailand Board Game Design Contest (TBDC) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ที่หัวข้อการประกวดเป็น สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญของกรุงเทพทั้ง 4 ย่าน อย่าง เยาวราช, เสาชิงช้า, จตุจักร และเจริญกรุง ซึ่งโจทย์คือ ทำอย่างไร ให้สามารถออกแบบเกมให้สนุก แล้วไปโชว์ให้คนต่างประเทศเห็นแล้วอยากเห็นเสาชิงช้า เที่ยวเยาวราช หรือ ไปเดินย่านเจริญกรุง นี่คือสิ่งที่น่าสนใจ
ต่างประเทศทำเรื่องนี้เยอะมาก ไม่รู้ว่าตั้งใจหรือไม่ เช่น เกมของเกาหลีใต้ ทำบอร์ดเกมให้มาแข่งทำคิมบับให้ดี ให้ม้วน โดยมีวัตถุดิบให้ มีไข่ มีผักให้ทำตามโจทย์ เมื่อม้วนเสร็จก็จะได้แต้ม ชนะ แล้วถ่ายรูปสวย และทำให้ผู้เล่นเข้าใจว่า คิมบับเขาทำแบบนี้ มีอาหารแบบนี้อยู่ หรือหลายเกมของต่างประเทศ จะมีเกมที่เกี่ยวกับชื่อเกี่ยวข้อง สถานที่ท่องเที่ยว เล่นแล้วอยากไปเที่ยว อะไรแบบนั้น
ภาครัฐเน้นจุดไหน
วัฒนชัย : ภาครัฐจะให้ความสำคัญในส่วนของเนื้อหาเป็นหลัก โดยเฉพาะซอฟต์พาเวอร์ เพราะเวลาคิดเกมจะมีธีมแต่ละที่แตกต่างกันและ ความเป็นบอร์ดเกมไทยคืออะไร สิ่งนี้ต้องพิสูจน์ และทำงานต่อไปว่าโลกข้างนอก ต่างประเทศ คนเอเชียมองบอร์ดเกมไทยเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งทำ และพยายามสื่อสาร
วัฒนชัย ตรีเดชา นายกสมาคมบอร์ดเกมประเทศไทย Thailand Board Game Association หรือ พี่วัฒน์
รวมถึงต้องจับความเป็นซอฟต์พาวเวอร์มาด้วยซึ่งไปด้วยกันได้ เช่น อะไรที่เป็นจุดเด่นของไทย สถานที่ท่องเที่ยว อาหาร กีฬา หรืออะไรก็ตามที่สามารถเชื่อมโยงกับซอฟต์พาวเวอร์ได้
ปัญหาบอร์ดเกมปลอมส่งผลกระทบมากแค่ไหน
วัฒนชัย : บอร์ดเกมปลอมกระทบตลาดในภาพรวม เพราะเกมปลอมนั้นมักจะปลอมเกมที่ดัง ซึ่งเป็นเกมจากต่างประเทศซึ่งจะส่งผลต่อผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์ เกมนั้น ๆ มา เพราะเมื่อผลิตมาขายแล้วขายไม่ได้ เช่น ผลิตออกมาขายเกมละ 850 บ. แต่เกมเดียวกัน หน้าตาคล้าย ๆ กัน สีไม่สดเท่า คุณภาพไม่ได่เท่าแต่ขาย 80-150 บ.คนไปซื้อเยอะ
ดังนั้นจึงกระทบต่อระยะยาวมากกว่า และหากผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์ลดลง การต่อรองในการซื้อลิขสิทธิ์ หรือการที่จะมีเกมใหม่ ๆ เข้ามาก็จะลดน้อยลง หรือ เขาจะมองประเทศไทยในภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เพราะเอาเกมมาขายก็ขายไม่ได้เพราะมีปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์
จะแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บอร์ดเกมอย่างไร
วัฒนชัย : กรณีการขายออนไลน์ในมาร์เก็ตเพลส หากพบบอร์ดเกมละเมิดลิขสิทธิ์ก็จะส่งเรื่องไปยังผู้ดูแลมาร์เก็ตเพลส (สื่อโซเชียลมีเดียแต่ละราย) ซึ่งช่องทางการขายออนไลน์ มักที่จะมีคู่แข่งเป็นคนขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งการแจ้งไปยังผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียก็สามารถช่วยได้ประมาณหนึ่ง แต่เมื่อถูกแบนก็จะมีมาเปิดร้านใหม่ หากกฎหมายสามารถเอาผิดได้จริงก็จะดี อีกทางคือ การรณรงค์ อาจห้ามไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ขอให้ช่วยสนับสนุนเกมจริง เพื่อทำให้ผู้ผลิตสามารถขายของจริงได้
ปัญหาขณะนี้คือเกมเดียวกันระหว่างของจริงกับของปลอมนั้น เกมของปลอมขายได้เยอะมาก เห็นตัวเลขแล้วตกใจ หากสามารถเปลี่ยนจากผู้ที่ซื้อของปลอมครึ่งหนึ่งมาซื้อของจริงได้ก็จะดีมาก
ทั้งนี้ การละเมิดลิขสิทธิ์บอร์ดเกม อาจไม่เหมือนกับกรณีของเพลงหรือหนัง ที่ผู้ที่จะก๊อปปี้เพลงและหนังนั้นไม่ต้องใช้ต้นทุนที่สูง แต่บอร์ดเกมนั้นต้องมีวัตถุอุปกรณ์ในการเล่น ผู้ที่ทำปลอมจะต้องลงทุนสูงด้วย
แต่ขณะนี้ คนเริ่มรู้แล้วว่าการสนับสนุนเกมละเมิดลิขสิทธิ์จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของบอร์ดเกม ถ้าเข้าใจก็อาจจะหันกลับมาคิดได้ว่าควรสนับสนุนของแท้มากขึ้น
ถ้าไม่รณรงค์ ปล่อยให้มีการซื้อของปลอมต่อไปก็จะเห็นว่าไม่เป็นไร เล่นกันเองไม่เดือดร้อน แต่เยอะเข้า ๆ จะกระทบ
ขณะที่ ปัญหาเกมไทยถูกละเมิดยังไม่มี อาจจะเพราะยังไม่ดังมาก แต่ถ้าดังมากก็ไม่แน่ แต่ถ้ามีการละเมิดจริงก็น่ากลัวเพราะผู้ผลิตคนไทยอาจจะไม่สามารถสู้ได้ เพราะไม่ใช่บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีทีมกฎหมาย
แนะนำวิธีการเลือกบอร์ดเกมสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่
วัฒนชัย : คิดก่อนว่าต้องการจะเล่นกี่คน จากนั้นสามารถค้นหาในกูเกิล ก็จะสามารถพบรายชื่อเกมได้จำนวนมากแต่ก็อยากให้คิดดีก่อนซื้อ ควรเลือกซื้อเกมที่เล่นได้นานและคุ้มค่า
สำหรับคนที่ยังไม่กล้าเล่นบอร์ดเกม กลัวว่าจะยาก โดยตัวเองก่อนหน้านี้ก็ปฏิเสธมาเยอะ จนมาเล่นก็เข้าใจว่า มันสนุก มันเป็นแบบนี้นี่เอง ก็อาจจะมีบางเกมที่ตอนแรกเล่นแล้วไม่สนุก แต่เมื่อมาเล่นตอนนี้ รู้สึกว่า ทำไมสนุกจัง เสียเวลาไปหลายปี ที่ปฏิเสธเกมดี ๆ ไป
การที่ไม่เปิดใจมีผลจริง ๆ ถ้าเปิดใจได้ก็จะเริ่มเล่นจริง เพราะถ้าเพื่อนแนะนำจะเล่นได้ง่าย
แต่สิ่งที่ยาก คือ การไม่มีเพื่อน ดังนั้นจะทำอย่างไร ขอแนะนำว่าหากอยู่กรุงเทพฯให้ มางานบอร์ดเกม จะมีเกมให้เล่นเยอะ บางคนมา 2 คน บางคนมา 3-4 คนมา ร่วมเล่นเกมได้หมดเลย โดยทางสมาคมฯในแต่ละปีพยายามจัดงานบอร์ดเกมให้เยอะเพื่อให้คนได้มีโอกาสมาเล่น มาทดลองเล่น โดยไม่เสียเงินซื้อเกม
ในอนาคต หากภาครัฐอาจเข้ามาช่วย จะไม่เพียงกระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯเท่านั้น อาจขยับขยายไปจัดที่ หัวเมือง จะช่วยสามารถสร้างบรรยากาศแบบนี้ในต่างจังหวัด
อ่านข่าว : ไปหรือยัง? "Thailand Board Game Show 2022" งานประจำปีชาวบอร์ดเกม
"บอร์ดเกมไทย" ยืนอยู่ตรงไหนในตลาดโลก
รู้จัก "บอร์ดเกม" ผ่านมุมมอง "วัฒน์" BGN จากผู้เล่น-ยูทูบเบอร์ สู่นักออกแบบ