รู้จัก "ไวยาวัจกร" ผู้จัดการ "เงิน" แทนพระสงฆ์

สังคม
19 ต.ค. 67
17:40
109
Logo Thai PBS
รู้จัก "ไวยาวัจกร" ผู้จัดการ "เงิน" แทนพระสงฆ์
พระภิกษุจับเงินได้หรือไม่ ประเด็นที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึงอย่างมากในปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมาตลอด เช่นกรณีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ เมื่อปรากฏภาพ ว.วชิรเมธี รับเงินจำนวน 1 ล้านบาทจาก "บอสพอล" ผู้ต้องหาสำคัญคดีดิไอคอนกรุ๊ป

พระธรรมวินัยที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเงินทอง

ในพระวินัยปิฎก มีการบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องของการรับทองและเงินไว้ว่า พระภิกษุสงฆ์นั้นไม่สามารถรับทองและเงินได้ตามพระวินัยบัญญัติ ไม่ว่าจะรับเองหรือให้ผู้อื่นรับก็ตาม ในที่สุด แม้ยินดีก็ยังเป็นอาบัติ และหากรับเงินทองแล้ว ก็ต้องเสียสละเงินทองนั้นในท่ามกลางสงฆ์ อาบัติดังกล่าวจึงจะพ้นไปได้ อาบัติชนิดนี้จึงเรียกว่า "นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์" หรือ "นิสสัคคิยวัตถุ" ที่แปลว่า อันทำให้ต้องสละสิ่งของ ภิกษุต้องอาบัติประเภทนี้ ต้องสละสิ่งของที่ทำให้ต้องอาบัติก่อน จึงจะปลงอาบัติตก ส่วนสิ่งของที่ทำให้ต้องนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ เรียกว่า "นิสสัคคิยวัตถุ" เช่น เงิน ทอง ที่เป็นเหตุนั้นจำต้องสละก่อนจึงจะปลงอาบัติตก

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น กฎในพระวินัยเกี่ยวกับการรับเงิน ข้อห้ามนี้ถูกระบุชัดเจนในพระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก พระสงฆ์จะต้องละเว้นจากการสะสมทรัพย์สินใด ๆ รวมถึงเงินทอง โดยสามารถรับสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งเรียกว่า ปัจจัย 4

หากผู้มีจิตศรัทธาปรารถนาจะถวายเงิน พระสงฆ์ไม่สามารถรับเงินได้โดยตรง ต้องให้ผู้ศรัทธาฝากเงินนั้นไว้กับไวยาวัจกร หรือฝากไว้ในบัญชีของวัด ซึ่งเงินเหล่านั้นจะถูกใช้ในกิจการของวัด เช่น บำรุงซ่อมแซมอาคาร หรือทำบุญต่าง ๆ แต่ไม่ใช่เพื่อการใช้จ่ายส่วนตัวของพระสงฆ์

แต่ในบางพื้นที่ การปฏิบัติเรื่องการรับเงินอาจแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมและการตีความของพระสงฆ์หรือวัดแต่ละแห่ง แม้พระสงฆ์ส่วนใหญ่จะพยายามปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด แต่ในบางกรณีก็อาจเห็นพระสงฆ์รับเงินหรือใช้เงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันในสังคมไทย

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

รู้จักไวยาวัจกร ผู้จัดการเงินแทนพระ

ตามพระวินัย มีไวยาวัจกรที่ปรากฏในสิกขาบทที่ 10 จีวรวรรคที่ 1 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ความว่า "ถ้าใคร ๆ นำทรัพย์มาเพื่อค่าจีวรแล้วถามภิกษุว่า ใครเป็นไวยาวัจกรของเธอ ถ้าภิกษุต้องการจีวร ก็พึงแสดงคนวัดหรืออุบาสก ว่าผู้นี้เป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย ครั้นเขามอบหมายไวยาวัจกรนั้นแล้ว สั่งภิกษุว่า ถ้าต้องการจีวร ให้เข้าไปหาไวยาวัจกร ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาเขา

มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 บัญญัติไว้ว่า การแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งปกครอง คณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ๆ และไวยาวัจกร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการในการแต่งตั้ง ถอดถอน ไวยาวัจกร กำหนดไว้ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2536) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร มีดังนี้

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ไวยาวัจกร หมายถึง คฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต และจะมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดได้ ตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ ซึ่งคฤหัสถ์ผู้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นไวยาวัจกร ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  1. เป็นชาย มีสัญชาติไทย นับถือพระพุทธศาสนา
  2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์
  3. เป็นผู้มีหลักฐานมั่นคง
  4. เป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ไวยาวัจกรได้
  5. เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ
  6. ไม่เป็นผู้ที่มีร่างกายทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือมีโรคเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
  7. ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี เช่น มีความประพฤติเสเพล เป็นนักเลงการพนัน เสพสุราเป็นอาจิณ หรือติดยาเสพติดให้โทษ
  8. ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
  9. ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกลงโทษให้ออกจากราชการ หรือองค์การของรัฐบาล หรือบริษัท ห้างร้านเอกชน ในความผิดหรือมีมลทินมัวหมองในความผิดเกี่ยวกับการเงิน
  10. ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกลงโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

ในการแต่งตั้งไวยาวัจกรของวัดใด เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสวัดนั้นปรึกษา สงฆ์ในวัดพิจารณาคัดเลือกคฤหัสถ์ผู้มีคุณสมบัติดังกล่าว เมื่อมีมติเห็นชอบในคฤหัสถ์ผู้ใดก็ให้เจ้าอาวาสแต่งตั้งคฤหัสถ์ผู้นั้นเป็นไวยาวัจกร โดยอนุมัติของเจ้าคณะอำเภอ และการแต่งตั้งไวยาวัจกรนั้น อาจจะแต่งตั้งคนเดียวหรือหลายคนก็ได้

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ไวยาวัจกรจะพ้นจากหน้าที่เมื่อ

  1. ตาย
  2. ลาออก
  3. พ้นจากความเป็นคฤหัสถ์
  4. เจ้าอาวาสผู้แต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งหน้าที่
  5. ขาดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ได้กำหนดไว้
  6. ให้ออกจากหน้าที่
  7. ถูกถอดถอนออกจากหน้าที่

ไวยาวัจกรเป็นผู้ที่ช่วยให้พระภิกษุสงฆ์ไม่ต้องอาบัติในการรับเงินทอง รวมถึงเป็นผู้ช่วยจัดการธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเงินทองได้ทั้งหมด รองศาสตราจารย์ ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ อาจารย์สาขาวิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า หากพระภิกษุสงฆ์มีไวยาวัจกรประจำวัดและเคร่งครัดในเรื่องเงินทองตามพระธรรมวินัยนี้ บทบาทของไวยาวัจกรดังกล่าวน่าที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ของพระภิกษุที่เป็นของส่วนตัวได้ดีขึ้น

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

รองศาสตราจารย์ ดนัย ได้สรุปข้อมูลไว้ว่า พระภิกษุสงฆ์จะรับเงินและทองได้โดยไม่ผิดพระวินัยบัญญัติ มีเพียงการให้กัปปิยการกหรือผู้มีจิตศรัทธาเป็นผู้ถือเงินและทองนั้นไว้ แล้วให้เปลี่ยนเป็นปัจจัย 4 ที่เหมาะสมกับความต้องการของสงฆ์เท่านั้น จึงจะไม่เป็นอาบัติ โดยพระภิกษุสงฆ์ห้ามยุ่งเกี่ยวแม้กระทั่งสั่งว่าให้เงินทองนั้นไปวางไว้ที่ใด ถึงแม้ว่าพระภิกษุสงฆ์จะไม่รับเงินทองนั้น แต่เป็นผู้บริหารจัดการเงินทองนั้นให้เป็นปัจจัย 4 เองก็ดี ปัจจัย 4 เหล่านั้นย่อมเป็นอกัปปิยะแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งหมด

พระไตรปิฎกห้าม แต่ กฎหมายไทยไม่ได้ห้าม "พระถือเงิน"

การศึกษาเรื่อง สิทธิทางทรัพย์สินของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ของ นรา ถิ่นนัยธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิทางทรัพย์สินของพระภิกษุไว้โดยเฉพาะ การจัดการกับทรัพย์สินของพระภิกษุจึงเป็นไปตามหลักทั่วไปตามมาตรา 1336 มาตรา 1622 มาตรา 1623 และ มาตรา 1624 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ทรัพย์สินที่พระภิกษุได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศตกเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุ ซึ่งพระภิกษุสามารถที่จะจำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือทำพินัยกรรมกับทรัพย์สินเหล่านั้นได้ รวมถึงสามารถนำกลับไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัวภายหลังจากลาสิกขาได้อีกด้วย

ทำให้พระภิกษุที่ไม่ยึดมั่นในพระธรรมวินัย ใช้ประโยชน์จากบทบัญญัติของกฎหมายนี้ในการแสวงหาทรัพย์สินจากความเชื่อความศรัทธาของประชาชน เพื่อประโยชน์ของตนเอง ในขณะที่ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายในการตัดกรรมสิทธิ์หรือจำกัดการใช้สิทธิกับทรัพย์สินประเภทนี้ ทำให้บางกรณีพระภิกษุอาจใช้สิทธิโดยไม่เหมาะสมกับความเป็นสมณเพศได้

ซึ่งจากกฎหมายที่บัญญัติไว้เช่นนี้ ทำให้พบปัญหาเกี่ยวกับสิทธิทางทรัพย์สินของพระภิกษุแบ่งได้เป็น 3 ข้อ

  1. กฎหมายเปิดโอกาสให้พระภิกษุถือครองและจำหน่ายทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ
  2. กฎหมายไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินที่เป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ให้สอดคล้องกับสถานะของความเป็นพระภิกษุ
  3. กฎหมายไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับเรื่องความสามารถในการทำนิติกรรมของพระภิกษุ และผลของการทำนิติกรรมที่ขัดต่อพระธรรมวินัย
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

บทความเรื่อง เงินกับคุณค่าทางจริยะ : กรณีพระภิกษุจับเงิน อธิบายความเกี่ยวกับการรับเงินของพระสงฆ์ในปัจจุบันไว้โดยละเอียด เริ่มแรกระบุว่า จะมีกลุ่มคนอยู่ 2 กลุ่มที่มีความเห็นต่างเรื่องพระสงฆ์และเงิน

  • กลุ่มแรก "เห็นว่าผิด" อ้างจากพระวินัยปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า การที่พระจับเงินนั้นผิด เพราะตรงกับข้อบัญญัติว่าผิด ซึ่งข้อวินิจฉัยนี้ชี้ไปที่ตัวบทเป็นสำคัญ ไม่เกี่ยวข้องกับการตีความใด ๆ ทั้งสิ้น

  • กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ "เห็นว่าผิดแต่มีข้อยกเว้นในการรับได้" โดยอ้างถึงเงื่อนไขจำเป็นในการดำเนินชีวิต กล่าวคือ ชีวิตของพระภิกษุในสมัยนี้ต่างจากในสมัยพุทธกาล เนื่องจากความจำเป็นต่าง ๆ ที่แตกต่างออกไป

กลุ่มแรกนั้นอาจไม่ต้องขยายความเพิ่ม เพราะคำตอบมีอยู่เพียงว่า การรับเงินของพระสงฆ์ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็คือความผิด แต่สิ่งที่ต้องขยายความมากขึ้นคือแง่คิดของกลุ่มที่ 2 ที่ยอมรับว่า ผิดแต่... โดยส่วนขยายคำว่าแต่ ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคม กาลเวลา ที่เปลี่ยนไป

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ที่มา : 
- โครงการวิจัยส่วนหนึ่งในโครงการวิจัยพุทธศาสน์ศึกษา ของศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  2552 โดย รองศาสตราจารย์ ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ อาจารย์สาขาวิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สิทธิทางทรัพย์สินของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา โดย นรา ถิ่นนัยธร ดุษฎีนิพนธ์ นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
- เงินกับคุณค่าทางจริยะ : กรณีพระภิกษุจับเงิน โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี (เหมประไพ) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวด

อ่านข่าวอื่น : 

CIB เผย 10 วัน ยอดผู้เสียหาย “ดิไอคอน” ทั่วปท. ทะลุ 4,583 คน

ราชทัณฑ์แจง "เมธี” แค่เห็นหน้า อยู่คนละแดนไม่มีสิทธิ์เข้าใกล้

“กันต์ – แซม” ยอมกักโรคเพิ่มเป็นเพื่อน “บอสพอล” รวม 6 วัน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง